พลิกโฉมการพัฒนาประเทศไทยให้หลุดจากกับดักความยากจนข้ามรุ่น ด้วยระบบข้อมูลและตัวแบบนวัตกรรม

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม และฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา พร้อมทั้งความร่วมมือเพื่อพัฒนาคุณภาพของบุคลากรด้านการวิจัยและนักวิชาการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถของการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานที่ปรึกษาคณะทำงานบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ ววน. ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวเปิดงานว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญในการร่วมทำประโยชน์ให้แก่วงการการศึกษาไทย โดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรมด้านการศึกษาที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง (Utilization-focused Education Research) เป็นตัวขับเคลื่อนในลักษณะของสถาบันวิจัยระบบการศึกษา มุ่งเน้นตั้งโจทย์วิจัยที่มีคุณค่าและส่งเสริมให้ระบบการศึกษาไทยมีการเรียนรู้และปรับตัว ดึงผู้ได้รับประโยชน์จากงานวิจัย (demand-side) เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัย สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งผลักดันให้พลังของมวลชนร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาตามแนวทางสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ซึ่งคือการสร้างความรู้และปัญญา สื่อสารสู่สังคมและผลักดันสู่ภาคนโยบายเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศด้านการศึกษาต่อไป

“ระบบวิจัยที่จะช่วยกันพัฒนาขึ้น จะสร้างนวัตกรรมเชิงระบบที่เข้าใจเรื่องปฏิสัมพันธ์ในระบบการศึกษา ซึ่งหากนักสังคมศาสตร์ นักมานุษยวิทยา นักมนุษยศาสตร์ มาช่วยกันทำโจทย์วิจัยก็จะยิ่งช่วยให้เข้าถึงปัญหาระบบสังคมและเศรษฐกิจในภาพใหญ่ได้อย่างหลากหลายขึ้น เป็นประเด็นสำคัญในการเพิ่มคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ทั้งของนักเรียน ครู และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งงานวิจัยลักษณะนี้ต้องมีเป้าหมายใหญ่ที่ชัดเจนร่วมกันในการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มคุณภาพการศึกษา”

“เป้าหมายสำคัญอีกด้านหนึ่ง ก็คือยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนและครู ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างห้องเรียนสมรรถนะสูง พร้อมๆกับการสร้างเครื่องมือประเมินที่หนุนการพัฒนาเด็ก เชื่อมั่นว่าบทบาทของงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มคุณภาพการศึกษา คือการทำให้ข้อมูลหลักฐานกระจ่างชัดและครอบคลุมปัญหาสำคัญให้ครบถ้วนที่สุด กระบวนการร่วมกันตั้งโจทย์ครั้งนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่และเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างปัญญา สร้างความรู้ แล้วนำไปสื่อสารกับสังคม รวมถึงสื่อสารไปถึงผู้ดูแลเรื่องนโยบายการศึกษา” ศ.นพ. วิจารณ์ กล่าว

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าบทบาทสำคัญของ สกสว. คือการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้สามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ด้วยการใช้องค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในหลายด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่เป็นกำลังคนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และในแผนด้าน ววน. ได้กำหนดแผนงานสำคัญด้านการลดความยากจนและขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยพุ่งเป้าไปที่การศึกษาเป็นประเด็นสำคัญ

รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวว่าความร่วมมือกับ กสศ. ซึ่งมีเป้าหมายในการทำงานด้านการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา สนับสนุนภารกิจการศึกษาวิจัยองค์ความรู้ และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา สนองความต้องการทางด้านกำลังแรงงาน และการยกระดับความสามารถของคนไทย จึงมีความสอดคล้องกับ สกสว. โดยเฉพาะการตอบโจทย์สำคัญของประเทศ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการบูรณาการและเสริมศักยภาพด้านการวิจัย ขับเคลื่อนงานวิจัย และนวัตกรรมเชิงระบบ จึงได้วางกรอบการทำงานร่วมกันในเวลา 3 ปี โดยจะ สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ซึ่งเมื่อพูดถึงการศึกษาจำเป็นที่จะต้องตีความไปถึงการเรียนรู้ และกำหนดเรื่องนี้ให้เป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะการศึกษาเป็นหนึ่งในวิธีการเรียนรู้

“จากประสบการณ์การทำงานเป็นนักวิจัย เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ เราก็จะพูดถึงงานด้านนวัตกรรม เมื่อเราตั้งโจทย์ที่ใหญ่ขึ้นก็ต้องกำหนดว่าเป้าหมายของการศึกษาคืออะไร เป้าหมายของการเรียนรู้คืออะไร แล้วจะใช้วิธีไหนได้บ้างเพราะการศึกษามีผู้เล่นในระบบเป็นจำนวนมาก ต้องไปมองว่าระบบโรงเรียนเป็นอย่างไรระบบวิจัยการสร้างและพัฒนาครูเป็นอย่างไร ระบบการพัฒนาการศึกษาเชิงพื้นที่ ระบบการนิเทศการศึกษา ซึ่งประเด็นที่สำคัญมากก็คือผู้เล่นต่าง ๆ ในระบบ และประเด็นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของนักวิจัยที่จะช่วยกันหาวิธีการที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นต่าง ๆ ในระบบการศึกษา โรงเรียนกับเด็ก ครูกับเด็ก ฝ่ายนโยบายกับโรงเรียน โรงเรียนกับผู้ปกครอง ผู้ปกครองกับนักเรียน และนโยบายภาพใหญ่ของการศึกษา ซึ่งทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ จะทำงานอย่างไรเพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ

“วิธีการดำเนินการที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่กล่าวมาเบื้องต้น จำเป็นที่จะต้องหาวิธีเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับเด็ก ซึ่ง กสศ. ดำเนินการเรื่องนี้มาได้อย่างโดดเด่น และมีฐานขององค์ความรู้ต่าง ๆ เรื่องของเครื่องมือและเครือข่ายการทำงาน และสิ่งที่สำคัญมากก็คือความเข้าใจด้านเศรษฐานะของผู้ปกครอง ซึ่งมีการคุยกันว่าจะต้องมีการเก็บข้อมูลรายครัวเรือนระยะยาว เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลง หากมีการติดตามข้อมูลในด้านนี้ก็จะทำให้ทราบว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นตรงจุดไหนบ้าง หลังจากดำเนินนโยบายต่าง ๆ ไปแล้ว

“สิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้งานจริง รวมถึงต้องตระหนักว่าการพัฒนานักวิจัย จำเป็นต้องทำงานร่วมกับสาขาต่าง ๆ และทำให้เกิดบรรยากาศการทำงานแบบสหวิชาการและมีภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมทำงานวิจัยเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้” รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ความร่วมมือของ กสศ. และ สกสว. จะช่วยส่งเสริมภารกิจของทั้ง 2 หน่วยงานในหลายมิติ โดยเฉพาะการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สามารถเป็นคานงัดสำคัญในการทำให้เด็กเยาวชนไทยจากครัวเรือนยากจนที่สุด 20% ล่างของทั้งประเทศจำนวนมากกว่า 2 ล้านคนให้หลุดจากกับดักความยากจนข้ามชั่วรุ่นด้วยการศึกษาและการพัฒนากำลังคนที่เสมอภาค ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญช่วยให้ประเทศไทยก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จตามเป้าหมายของรัฐบาล และยังช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ในหมุดหมายที่ 9 ด้านการลดความยากจนข้ามรุ่น และหมุดหมายที่ 12 ในการทำให้ประเทศไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง โดย กสศ. และ สกสว. จะมุ่งพัฒนานวัตกรรมด้านข้อมูล องค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นตัวคูณเชิงระบบที่สำคัญ (System Multiplier) ในการขับเคลื่อนวาระความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ภายใต้กรอบการทำงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ กสศ. และ สกสว. จะร่วมขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เป็นไปอย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน เกิดผลกระทบเชิงระบบที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายผลจากการทำงานในพื้นที่ไปสู่ระดับประเทศ เช่น การสนับสนุนการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมการสะสมทุนมนุษย์ของประชากรวัยแรงงานไทยราว 38 ล้านคนที่ปัจจุบันมีการศึกษาเฉลี่ยสูงสุดเพียง 8.7 ปี ให้เพิ่มขึ้นมากกว่าระดับการศึกษาภาคบังคับและขั้นพื้นฐาน 9-12 ปี ด้วยกระบวนการที่ยืดหยุ่นผ่านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งในและนอกระบบการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับโจทย์ในการเรียนรู้ การประกอบอาชีพ และการใช้ชีวิตของเยาวชนและกำลังคนวัยแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

กสศ. จะอาศัยประสบการณ์ เครือข่าย องค์ความรู้ ฐานข้อมูล จากการทำงานกับกลุ่มเป้าหมาย สถานศึกษา เครือข่ายในพื้นที่และนักวิชาการที่ทำงานด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อร่วมกับ สกสว. ในการกำหนดโจทย์วิจัยสำคัญและสนับสนุนให้เกิดการทำงานวิจัย การจัดการความรู้ และการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่นำไปสู่การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา รวมทั้งเชื่อมโยงการทำงานและการนำต้นแบบที่ประสบความสำเร็จของ กสศ. ไปขยายผลในพื้นที่การทำงานของหน่วยบริหารและจัดการทุนภายใต้ สกสว. โดยมีประเด็นวิจัยร่วม เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาครู และการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อเป็นทางเลือกตอบโจทย์ผู้เรียนทุกกลุ่มและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เป็นต้น และจะร่วมกันสร้างเครือข่ายบุคลากรด้านการวิจัยและวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายความรู้และนิเวศการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง

“สุดท้าย กสศ. จะร่วมเรียนรู้และพัฒนาระบบการบริหารจัดการงานวิจัยให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนวาระความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมกับเครือข่ายวิชาการและนโยบายทั้งในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ และระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้านความเสมอภาคและการพัฒนากำลังคนที่ยั่งยืนสืบไป” ดร.ไกรยส กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน