กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดโครงการเสวนาการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ 5 ภูมิภาค เพื่อเปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ใน 5 ภูมิภาค เพื่อขยายเครือข่ายการดำเนินการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ สร้างการตระหนักรู้ และถอดบทเรียนการดำเนินการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อของภาคีเครือข่าย นอกจากนี้ยังถือเป็นการลงพื้นที่ศึกษาการดำเนินงานของผู้ดำเนินการด้านการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ในแต่ละภูมิภาค โดยมี ผู้แทนกองทุนสื่อ ได้แก่ ดร. สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ,นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรม และ รองประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ,นางสุนทรี ทับทิมไทย ชัยสัมฤทธิ์โชค ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ อนุกรรมการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ร่วมกับ ผู้แทนเครือข่ายในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เยาวชน, ผู้สูงวัย, ผู้ผลิตสื่อ, ผู้แทนสื่อท้องถิ่น, ผู้แทนนักวิชาการ, นักกฎหมาย, กระทรวงดิจิทัล ฯลฯ ร่วมหารือ พร้อมด้วยกิจกรรม Workshop “สร้างแนวร่วม สานพลังเครือข่าย เฝ้าระวังสื่อ ด้วยกระบวนการ ELTC: (Experiential Learning Theory Cycle) วงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์” สร้างกระบวนการ “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ เพื่อขับเคลื่อนสังคม” โดย ผศ. ดร.กรุณา แดงสุวรรณ อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และ ผศ. ดร.ก้องกิดากร บุญช่วย อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

ดร. สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัย และไม่สร้างสรรค์ กล่าวว่า การประชุมเสวนาการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ 5 ภูมิภาค จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ เพื่อการขับเคลื่อนสังคม หรือ Social Motivation Driven By Media” ในครั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เล็งเห็นปัญหาว่า เทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้เกิดความก้าวหน้า ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมทั่วโลก ท่ามกลางการไหลบ่าของข้อมูลทั้งด้านสาระและบันเทิง ที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการรับสื่อของประชาชน ทำให้ทุกคนสามารถเป็นได้ทั้งผู้รับและผู้ผลิตสื่อได้ในเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ยังก่อให้เกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของข่าวลวงหรือข้อมูลเท็จ (Fake news) การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) การใช้ประทุษวาจาในอินเทอร์เน็ต (Hate speech) และการนําเสนอความรุนแรงประเภทต่าง ๆ โดยขาดวิจารณญาณ ทำให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มองเห็นกลไกหนึ่งที่จะสามารถช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาได้คือ การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อที่สมดุล ขจัดสื่อร้ายและขยายสื่อดี สิ่งสําคัญคือ ทําอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถเลือกรับสื่อที่ดี มีความปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อสังคม

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วหรือในทันทีได้ แต่ต้องสร้างเครือข่าย โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดนิเวศสื่อที่ดี เป็นสื่อที่มีความปลอดภัย สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “ประชาชนเข้าถึง เข้าใจ และฉลาดใช้สื่อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยนิเวศสื่อที่ดี” โดยมีพันธกิจหลัก 3 ประการคือ 1) ส่งเสริม สนับสนุนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการผลิตสื่อและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2) ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึง เข้าใจ และใช้ประโยชน์จากสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างทั่วถึง 3) ส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะ กลุ่มเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีทักษะในการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดกระบวนการคัดกรองเฝ้าระวังและรู้เท่าทันสื่อ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาช่องทางเพื่อสื่อสารให้สังคมเกิดการรับรู้และมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน

การประชุมเสวนาวันนี้ จึงเป็นงานประชุมระดมสมอง และอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อสร้างพลังการมีส่วนร่วม รู้ทันเท่าสื่อร้าย และการเฝ้าระวังสื่อ พร้อมการเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง เพื่อพัฒนาสื่อดีสู่ภาคีเครือข่ายสังคมที่เข้มแข็งต่อไป เพื่อตอกย้ำถึงการสร้างความร่วมมือของประชาชนในสังคม ชุมชน จังหวัดสงขลา และ การสร้างองค์ความรู้ในด้านการผลิตพัฒนาสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อเผยแพร่สื่อ และพัฒนาสังคมที่ดีต่อไป ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการจัดโครงการการส่งเสริมการรู้เท่าทัน และเฝ้าระวังสื่อ 5 ภูมิภาค ท้ายสุดกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอขอบคุณตัวแทนจากเครือข่ายในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากสื่อท้องถิ่น ตัวแทนจากนักวิชาการ เป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้เกียรติมาเป็นวิทยากร และหน่วยงานองค์กร ภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนชาวสงขลาทุกท่าน ที่ให้ความร่วมมือกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สนับสนุนให้การประชุมเสวนาในครั้งนี้บรรลุผลสำเร็จ

สำหรับงานเสวนาการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ 5 ภูมิภาค ภายใต้แนวคิด “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ เพื่อการขับเคลื่อนสังคม” จะจัดจำนวนทั้งสิ้น 5 ครั้ง ครั้งที่ 1: วันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ภาคใต้ ณ โรงแรมเซนทาราหาดใหญ่ จ.สงขลา, ครั้งที่ 2: วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ภาคเหนือ ณ โรงแรมน่านตรึงใจ จ.น่าน, ครั้งที่ 3: วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ภาคตะวันตกและภาคกลาง ณ รอยัล ริเวอร์แคว รีสอร์ทแอนด์สปา จ.กาญจนบุรี, ครั้งที่ 4: วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคา 2566 ภาคตะวันออก ณ มณีจันทร์รีสอร์ท จ.จันทบุรี, ครั้งที่ 5: วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2566 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงแรมเซ็นทารา อุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน