เมื่อโลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่ชุมชนไร้พรมแดน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ของการมีสิทธิและเสรีภาพ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งความคิด พฤติกรรม และวัฒนธรรมบนโลกออนไลน์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงร่วมมือกับ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร จัดงาน BMA x TRUE SAFE INTERNET “Battle for Better” การโต้วาทีเพิ่มภูมิคุ้มกันดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ หวังจุดประกายการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ของเด็ก และเยาวชนในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในโลกออนไลน์ ได้พูดแสดงทัศนะเกี่ยวกับโลกออนไลน์ภายใต้ประเด็น “New Online Culture for The New Gen” วัฒนธรรมออนไลน์ที่คนรุ่นใหม่อยากเห็นนั้นเป็นอย่างไร

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เป็นการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศแมตช์สำคัญของ 4 ทีมสุดท้าย ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 โดยมีคณะกรรมการร่วมตัดสินสามท่าน ได้แก่ นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกทม. นางสาวชนัญญา เตชจักรเสมา ยูทูบเบอร์เจ้าของแชลแนล point of view และดร.ธีรยุทธ บุญมา อดีตนักโต้วาที จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รางวัลชนะเลิศโต้วาทีอุดมศึกษา และผู้คุมทีมโต้วาทีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยทั้ง 4 ทีมเริ่มเปิดเวที Battle กันอย่างดุเดือด ทั้งฝ่ายกองเชียร์ และผู้เข้าร่วมการแข่งขันฟาดฟันกันด้วยวาทศิลป์ โต้ตอบด้วยเหตุและผล ถกเถียงกันภายใต้ประเด็นวัฒนธรรมออนไลน์ที่คนรุ่นใหม่อยากเห็น ซึ่งผลสรุปการแข่งขันในรอบแรกรางวัลชมเชย ได้แก่ โรงเรียนประชาอุทิศ และโรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน ได้รับทุนการศึกษาโรงเรียนละจำนวน 5,000 บาท จากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

หลังจากการแข่งขันอย่างเข้มข้น ทีมผู้ชนะของทั้งสองญัตติระหว่างทีมจากโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์และโรงเรียนแก่นทองอุปถัมภ์ ได้มาพบกันเพื่อแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ในญัตติที่น่าสนใจว่าปกปิดตัวตนดีกว่าแสดงตัวจริงบนโลกออนไลน์โดยผลปรากฏว่าทีมที่สามารถคว้าชัยชนะในพื้นที่แห่งการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์นี้ ได้แก่ โรงเรียนแก่นทองอุปถัมภ์ ทั้งนี้สำหรับทีมชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลจากผู้ว่าฯ กทม. พร้อมทุนการศึกษา จำนวน 20,000 บาท จากบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ พร้อมทุนการศึกษา จำนวน 10,000 บาท

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร (รักษาการ) ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือของบริษัททรูคอร์เปอเรชั่น กับกทม. โดยมีวัตถุประสงค์อยากให้การสื่อสารคลอบคลุม เพราะปัจจุบันเยาวชนเริ่มรับรู้ข่าวสารมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปเผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้อื่นต่อได้ เพราะฉะนั้นเยาวชนจะเป็นกลุ่มที่ช่วยเรื่องการใช้งานอุปกรณ์สื่อสาร รวมทั้งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ดีที่สุด

นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่สองที่ได้รับความร่วมมือจากทางบริษัททรูมาร่วมจัดกิจกรรมดีๆ ทำให้ได้เห็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีความคิด ความอ่านรวดเร็ว ทำให้เด็กกล้าแสดงออกมากขึ้น เพราะการพูดสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญมากไม่ว่าอาชีพไหนก็ตาม และขอขอบคุณทางบริษัททรูที่ได้ส่งเสริมเยาวชนให้พัฒนาในการสื่อสาร และจะพยายามจัดทำโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง

ด้านนักเรียนจากโรงเรียนแก่นทองอุปถัมภ์ที่ชนะการแข่งขัน กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดี ผู้สนับสนุนทุกท่านที่มีส่วนร่วมจัดกิจกรรมที่ให้โอกาสเด็กเยาวชนได้มาฝึกทักษะการสื่อสาร การโต้วาที และยังทำให้เห็นว่าโลกออนไลน์นั้นกว้างกว่าที่เราคิด เราควรระมัดระวังในการใช้อินเทอร์เน็ต และจะนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ไม่ว่าฝ่ายค้าน หรือฝ่ายเสนอ จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปประชาสัมพันธ์เพื่อให้น้องๆในโรงเรียนแก่นทองอุปถัมภ์ได้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยเท่าทัน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

วัฒนธรรมออนไลน์ ถ้าเราไม่กล้าแสดงพฤติกรรมแบบไหนในชีวิตจริง เราก็ไม่ควรจะแสดงในโลกออนไลน์เช่นกัน เพราะโลกออนไลน์ก็ประกอบไปด้วยผู้คน ถ้าเราไม่ระมัดระวังคำพูดก็อาจจะไปทำร้ายความรู้สึกของผู้อื่นได้ ขอฝากให้ทุกคนใช้โซเชียลมีเดียแบบมีสติ หาข้อมูลที่ก่อประโยชน์ให้ตัวเองมากกว่าที่เราจะสร้างแอคหลุม หรือใช้เพื่อโจมตีคนอื่นบุคคลใดบุคคลนึง

ทั้งนี้เพื่อสานต่อความสำเร็จทางบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกทม. ตั้งใจจะจัดกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง โดยหยิบยกประเด็นทางสังคมออนไลน์มาเป็นเวทีที่มอบโอกาสให้เยาวชนได้ฝึกคิดวิเคราะห์ แยกแยะความมีเหตุมีผล และแสดงทัศนคติอย่างสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน