นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีมอบรางวัลให้กับนักวิจัยพลังงานรุ่นใหม่ ในการประกวดโครงร่างวิจัยพลังงาน (Pitching) ในระดับอุดมศึกษา ปีที่ 2 รอบชิงชนะเลิศ ภายใต้แนวคิด New Gen Energy Research Showcase เมื่อวันที่ 13 – 14 มกราคม 2567 ณ ลานกิจกรรม UNION Co-Event Space Zone A ชั้น G ศูนย์การค้ายูเนี่ยน มอลล์ ว่า การจัดกิจกรรมการประกวดโครงร่างวิจัยพลังงาน ปีที่ 2 ครั้งนี้ได้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว โดยผู้เข้าร่วมการประกวดทั้ง 24 ทีม โชว์ศักยภาพการนำเสนอผลงานวิจัยพลังงาน (Pitching) กันอย่างสร้างสรรค์เต็มที่ภายในเวลา 5 นาที ซึ่งแต่ละผลงานวิจัยได้มีการพิจารณาวัดผลถึงความเป็นไปได้ในการนำไปใช้จริงและสามารถพัฒนาต่อยอดได้อีกด้วย ส่วนการประกวดโครงร่างวิจัยพลังงานครั้งนี้ มี 2 ประเภท ได้แก่ Hardware Innovation สำหรับการพัฒนาเครื่องมือ เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต หรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือพลังงานทดแทน และประเภท Software Innovation สำหรับพัฒนาโปรแกรม หรือ Application เพื่อติดตั้งและใช้งานสำหรับโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือการพัฒนารูปแบบธุรกิจและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหรือพัฒนาพลังงานทดแทน

โดยที่ผ่านมา สนพ. ได้รับสมัครทีมนิสิต นักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 และดำเนินการจัดกิจกรรมคัดเลือกทีมวิจัยจากทั้งหมด 148 ทีม ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ จำนวน 24 ทีม ซึ่งได้เข้าร่วมกิจกรรมแนะแนวทาง (Bootcamp) ระหว่างวันที่ 28-29 กันยายน 2566 ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ เพื่อเพิ่มความรู้ด้านพลังงานและพัฒนาทักษะการนำเสนอผลงาน โดยแต่ละทีมได้รับทุนสนับสนุนทีมละ 40,000 บาท นำไปพัฒนาปรับปรุงโครงร่างวิจัยให้เกิดเป็นรูปธรรมและสามารถขยายผลต่อไปได้ในเชิงพาณิชย์ และครั้งนี้ทั้ง 24 ทีมได้กลับมาร่วมแข่งขันกันอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศ (Pitching) พร้อมชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 400,000 บาท ซึ่งผลการประกวดทั้งหมด 10 รางวัล สรุปได้ดังนี้

ประเภท Hardware Innovation

1. รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม H_003 Power House มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี








Advertisement

ผลงาน การแปลงน้ำมันปาล์มตกค้างในดินที่ผ่านการฟอกแล้วให้เป็นไบโอดีเซลโดยใช้เมทิลเบนซีนเป็นตัวทำละลายอินทรีย์

2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม H_068 Batter จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลงาน แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ในงานกลางแจ้ง

3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม H_041 Alnergy มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ผลงาน การพัฒนาแบตเตอรี่ยืดหยุ่นที่มีคุณสมบัติทนต่อแรงกระแทกและกักเก็บพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

4. รางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม H_059 KKU NANOGEN ENiCON มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผลงาน พื้นทางเดินพลังงานจากวัสดุทดแทนชีเมนต์เพื่อเป็นพลังงานแห่งอนาคตที่สะอาดและยั่งยืน

5. รางวัล Popular Vote ได้แก่ ทีม H_012 CIM LAB TEAM_RMUTT มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ผลงาน Waste 2 Energy Plus นวัตกรรมการใช้ขยะชุมชนเพื่อผลิตเชื้อเพลิงแข็งประสิทธิภาพสูง

ประเภท Software Innovation

1. รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม S_035 EVONE มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผลงาน แอพพลิเคชั่นให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม S_033 Alnergy Innovators มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น

ผลงาน ออกแบบและสร้างต้นแบบระบบทำนายความคุ้มค่าของไอน้ำสำหรับกังหันไอน้ำในโรงงานน้ำตาลด้วย Machine Learning

3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม S_043 P-TECH มหาวิทยาลัยพะเยา

ผลงาน ระบบอำนวยความสะดวกและลดการใช้พลังงานในการถูกล็อคล้อจากการทำผิดกฎจราจร

4. รางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม S_037 EE TU มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผลงาน ธุรกิจสถานีชาร์จรถไฟฟ้าสำหรับคอนโดมิเนียม

5. รางวัล Popular Vote ได้แก่ ทีม S_001 GO FOR IT มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง

ผลงาน ส่วนสมดุล

สำหรับบรรยากาศภายในงานยังเต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความประทับใจของผู้ที่ได้ร่วมงาน รวมถึงความสนุกสนานจากกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง นิทรรศการเผยแพร่ผลงานของทั้ง 24 ทีม กิจกรรมเสวนาเสริมสร้างความรู้ด้านพลังงาน โดยวิทยากรผู้มีชื่อเสียง ตลอดจนบูธกิจกรรมชิงรางวัลมากมาย อย่างไรก็ตาม สนพ. จะยังคงมุ่งมั่นผลักดันเส้นทางอาชีพนักวิจัยพลังงานหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งส่งเสริมผลงานโครงร่างวิจัยพลังงานให้พัฒนาและต่อยอดไปสู่การเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่จะสามารถเติบโตได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยได้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน