วงการรถเมล์ไทยถูกค่อนขอดมาตลอดว่าเป็นรถเก่าควันดำ รถใช้มาเกินกว่าชั่วอายุคน โดยเฉพาะรถครีมแดงร้อน ที่แทบจะเป็นสัญลักษณ์ของไทย ทั้งที่อากาศบ้านเรานั้นร้อนสุด ๆ กระทั่งฝุ่น PM2.5 ย่างกรายเข้ามาทำร้ายปอดของประชาชนอย่างเรา ๆ

แต่รู้หรือไม่ว่า วันนี้ประเทศไทยของเรามีรถเมล์พลังงานไฟฟ้า ให้บริการทั่วกรุงเทพ-ปริมณฑลฯ กว่า 2,200 คัน มากที่สุดในภูมิอาเซียน

ทีมข่าวของเราจึงพามาหาจุดเริ่มต้นของการพลิกหน้าประวัติศาสตร์รถเมล์ไทย ที่มาจากฝีไม้ลายมือของหนึ่งในยอดนักธุรกิจหญิงแกร่งของเมืองไทยกับ “คุณกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มไทย สมายล์ กรุ๊ป หรือ “คุณกิ๊ก”

โดยคุณกิ๊ก เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัท ไทย สมายล์ บัส มาจากความชอบของตนเองเวลาไปต่างประเทศแล้วเห็นว่า ทำไมแต่ละเมืองใหญ่เขามีรถเมล์ดีๆ มีขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ เวลาคนไทยไปญี่ปุ่นก็เห็นคนไทยจะชื่นชมความใส่ใจของระบบขนส่งเขามาก ไปอังกฤษก็จะต้องไปถ่ายรูปกับรถเมล์สีแดงสง่า อันเป็นเอกลักษณ์ของมหานครลอนดอน หรือกระทั่งแดนมังกรอย่างประเทศจีน ทุกวันนี้นวัตกรรมเขาล้ำหน้ามาก ตนจึงตั้งคำถามในใจมาตลอดว่า “ทำไมเมืองไทยบ้านเรา จะมีรถเมล์ดีๆ กับเขาบ้างไม่ได้ ?”

พอเวลาล่วงผ่านมาจากตัวของกิ๊ก กุลพรภัสร์ พนักงานบริษัทรับเงินเดือนเจ็ดพันกว่าบาท ลาออกมาทำธุรกิจ ฟ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ นา ๆ ร้องไห้มาก็มากตลอดเวลาที่ทำธุรกิจ 14 ปี จนได้วันที่มีความพร้อมจากสำเร็จที่สั่งสมในระดับหนึ่ง

“ไม่รู้จะเรียกว่า ฟ้ากำหนด โอกาส หรือจังหวะชีวิต อะไรก็ตาม พาให้ตัวของกิ๊กได้เข้าลองไปประมูล ทั้งที่วันนั้นมีลูกน้องเพียง 5 คนช่วยกัน ทำเอกสารกว่า 40,000 หน้า ทำกันเองนี่แหละ เสนอเป็นรถ EV พลังงานไฟฟ้า 100% ไปเลยเพราะใจยังหวังว่า บ้านเรามันต้องมีรถเมล์คุณภาพให้คนไทยได้ใช้กับเขาบ้างสิ สุดท้ายสิ่งที่ตั้งใจดันได้ขึ้นมาจริง ตอนแรกก็ตั้งใจทำแค่ไม่กี่สาย รถไม่กี่คันเพื่อเป็นตัวอย่างนำร่องให้คนเห็นว่าโมเดลรถ EV วิ่งจริงได้นะ เพื่อให้คนที่มีกำลังเขามั่นใจแล้วมาทำต่อ สุดท้ายจับพลัดจับผลูวันนี้มี 123 เส้นทาง รถอีก 2,2000 คัน ลูกน้องในบริษัทกว่า 4,000 คน”

เมื่อเริ่มต้นทำธุรกิจเดินรถจริง ๆ เข้าใจเลยว่าทำไมถึงไม่มีนักธุรกิจเข้ามาทำรถเมล์ เพราะปัญหาที่เจอมันเยอะเหลือเกิน ตั้งแต่ข้อกำหนดของภาครัฐ ปัญหารถเถื่อนที่มาทับเส้นทาง ปัญหาพนักงานขับรถ เรื่องกำไรนี่แทบไม่ต้องพูดถึงอยู่แล้ว เพราะเป็นบริการขนส่งสาธารณะ

วันนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของ ไทย สมายล์ บัส (TSB) ตัวของซีอีโอกิ๊ก ยอมรับอย่างตรงไป ตรงมาว่า ปัญหาการให้บริการยังคงต้องพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะ “การพัฒนาคน” เพราะโจทย์ใหญ่ คือ ใครจะอยากเป็นคนขับรถเมล์

ดังนั้น TSB จึงประกาศเป็นนโยบายชัดว่า เขาไม่ใช่แค่ ‘คนขับรถเมล์’ แต่เปลี่ยนเป็น ‘กัปตันเมล์’ ที่รับผิดชอบขับเคลื่อนสังคม ส่งหลายพันคนไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ พร้อมกับเปลี่ยนพนักงานเก็บค่าโดยสารเป็น ‘บัสโฮสเตส’ ลบภาพจำอาชีพที่ถูกด้อยค่า ให้มีคุณค่า และรายได้ที่มั่นคง

แต่สิ่งที่มากกว่าการเปลี่ยนชื่อ คือ การตัดสินใจลงทุนของ ซีอีโอกิ๊ก ที่เซ็นเช็คทุ่มงบประมาณกว่า 30 ล้านบาทกับหลักสูตรการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านขนส่งสาธารณะ เปิดเป็นโรงเรียนสอนหลักสูตรอย่างจริงจัง แล้วทำให้เห็นว่าไม่ใช่แค่การเซ็น MOU สร้างภาพ เพราะผ่านไปเพียง 1 เดือน มีผู้ผ่านหลักสูตรของโรงเรียนไปแล้ว 724 คน

ก็ยังไม่วายด้วยการเป็นรถขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ ปัญหายิบย่อยก็ยังมีให้แก้ไม่เว้นวัน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมคนขับรถ วิ่งขวาไม่เข้าป้าย มารยาทการให้บริการที่เคยชินจากบริษัทเก่ามาหลายสิบปี จะปรับทันทีก็คงเกินจริง TSB จึงนำระบบเอไอ ปัญญาประดิษฐ์ กับเทคโนโลยี Fleet Management เข้ามาตรวจจับพฤติกรรมการทำงาน ควบคู่กับการฝึกบุคลากรน้ำใหม่เข้ามาต่อเนื่อง

ด้วยเวลาสัมภาษณ์อันจำกัด ทีมข่าวได้ถามคุณกิ๊กว่า เหตุใดทำไมถึงต้องเหนื่อยกับธุรกิจที่กำไรน้อย ทั้งที่ตนเองประสบความสำเร็จกับธุรกิจนำเข้าส่งออก นิคมอุตสาหกรรม กระทั่งการขนส่งสินค้า ซีอีโอกิ๊ก ตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “จากตัวพี่กิ๊กเองก่อนจะประสบความสำเร็จ ก็เคยใช้รถเมล์ทุกวัน มันไม่สนุกเลยนะที่ต้องนั่งรถร้อน ไหนจะฝุ่น ไหนจะลุ้นว่านักเลงจะขึ้นมาตีกันบนรถไหม พอวันนี้พี่สำเร็จในธุรกิจ มีเงินทุนระดับนึง มีโอกาสจะเปลี่ยนแปลงรถเมล์ไทยได้ แล้วทำไมพี่จะไม่ทำละ แม้พี่รู้ว่ามันไม่ง่ายหรอก แต่พี่ก็ตั้งใจว่าชีวิตนี้พี่ขอทำอะไรสักอย่างให้แผ่นดินไทยที่พี่เกิดมา และสิ่งนั้นก็คือการยกระดับอาชีพรถเมล์ไทยนี่แหละ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน