กระทรวงวัฒนธรรมดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์อาเซียนสู่นานาชาติจัดงาน “เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2566” (BAFF 2023) ส่งเสริม “Soft Power” ด้านภาพยนตร์ไทยสู่เวทีโลก

“เสริมศักดิ์”เผยกระทรวงวัฒนธรรมนำทีมเดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์อาเซียนสู่นานาชาติ จัดงาน“เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 9” รวมสุดยอดภาพยนตร์จากอาเซียน 24 เรื่อง จัดฉายให้ชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 28-31 มี.ค. นี้

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและขยายตลาดภาพยนตร์อาเซียนสู่ระดับนานาชาติ รวมถึงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ระดับแนวหน้าของเอเชียตามหมุดหมายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ หน่วยงานรัฐและเอกชนจัดเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2566 (Bangkok ASEAN Film festival 2023) ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม 2567 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซนทรัลเวิลด์ โดยไฮไลต์ของงานในปีนี้ คือ ภาพยนตร์ปิดเทศกาล ได้แก่ Morrison (2023, ประเทศไทย และฝรั่งเศส) ผลงานการกำกับของ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ซึ่งจะจัดฉายในวันที่ 31 มีนาคม 2567 เวลา 20.00 น. ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซนทรัลเวิลด์

งานเทศกาลภาพยนตร์ฯ ได้เติบโตมาเป็นปีที่ 9 แล้ว และได้รับการยอมรับจากเครือข่ายอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับนานาชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ระดับแนวหน้าของเอเชีย และใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อกลางในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ นำเสนอคุณค่า ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ และ อัตลักษณ์ระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ โดยนำภาพยนตร์ในกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจามาจัดฉาย เผยแพร่ให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้มีโอกาสรับชม นอกจากนี้ภายในงานเทศกาลภาพยนตร์ฯ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจทั้งสำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และประชาชนทั่วไปที่ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ต่างประเทศที่หาดูได้ยาก ประกอบด้วย

(1) จัดฉายภาพยนตร์อาเซียนฉายโชว์ (ASEAN PLUS) เป็นภาพยนตร์เรื่องยาวคุณภาพ 7 เรื่อง คัดเลือกภาพยนตร์คุณภาพการันตีรางวัลจากประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน รวมทั้งประเทศภาคีความร่วมมือในทวีปเอเชีย โดยกลุ่มนักสร้างภาพยนตร์โดดเด่นในปีที่ผ่านมา และมีคุณค่าได้รับการเสนอชื่อเข้าร่วมฉาย ประกวดในเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติ หรือได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดทั่วโลก

(2) จัดฉายภาพยนตร์อาเซียนทรงคุณค่า (ASEAN Classic) 2 เรื่องจากประเทศไทย ที่คัดสรรมาให้ชมโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

(3) จัดฉายภาพยนตร์ของสายการประกวดภาพยนตร์สั้นอาเซียน (ASEAN SHORT FILM COMPETITION) 15 เรื่อง ซึ่งได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ คุณ Davy Chou จากประเทศกัมพูชา, คุณ Shireen Seno จากประเทศฟิลิปปินส์, คุณ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง จากประเทศไทย มาร่วมพิจารณาตัดสินในการประกวดภาพยนตร์สั้นอาเซียนครั้งนี้ด้วย โดยมีรางวัลดังนี้ 1. BEST ASEAN SHORT FILM ผู้ชนะได้รับโล่รางวัล และเงินรางวัล จำนวน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ 2. JURY PRIZE ผู้ชนะได้รับโล่รางวัล และเงินรางวัล จำนวน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ 3. SPECIAL MENTION ผู้ชนะได้รับโล่รางวัล และเงินรางวัล จำนวน 500 ดอลลาร์สหรัฐ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวดโครงการภาพยนตร์ขนาดยาวอาเซียน (South East Asia Project Pitch หรือ SEAPITCH) ครั้งที่ 4 ซึ่งได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมและร่วมตัดสินโปรเจ็กต์ภาพยนตร์ขนาดยาวครั้งนี้ด้วย โดยทั้ง 3 ท่าน เป็นทั้งโปรดิวเซอร์ และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับนานาชาติ ได้แก่ คุณ Tran Thi Bich Ngoc จากประเทศเวียดนาม, คุณ ชาติชาย เกษนัส จากประเทศไทย, คุณ Izabela Igel จากประเทศโปแลนด์

โดยกิจกรรม SEAPITCH ในปีนี้เตรียมพบกับ 7 เรื่องราวสุดคาดเดาจาก 7 กลุ่มนักสร้างภาพยนตร์ไอเดียล้ำจากทั่วภูมิภาคอาเซียน ซึ่งโครงการที่ผ่านการคัดเลือก ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ได้เข้าอบรมพิเศษออนไลน์ด้านการนำเสนอโปรเจกต์กับผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ 2 ครั้ง ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน มาร่วมอบรมและให้คำแนะนำกับทีมภาพยนตร์ขนาดยาวทั้ง 7 โปรเจกต์ ได้แก่ คุณ Sophie Bourdon จากประเทศฝรั่งเศส, คุณ Claire Lajoumard จากประเทศฝรั่งเศส โดยทั้งสองท่านเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโปรเจ็กต์ภาพยนตร์ และมีบทบาทในวงการภาพยนตร์ระดับโลก

การอบรมในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้เข้าประกวดมีความพร้อมในการนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการทรงคุณวุฒิระดับนานาชาติ โดยมีรางวัลดังนี้ 1.รางวัล SEAPITCH Award ผู้ชนะจะได้รับโล่รางวัล และเงินรางวัล จำนวน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ 2.รางวัล Runner-Up Prize ผู้ชนะจะได้รับโล่รางวัล และเงินรางวัล จำนวน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ และ 3.รางวัล SPECIAL MENTION ผู้ชนะจะได้รับโล่รางวัล และเงินรางวัล จำนวน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยจะมีพิธีประกาศรางวัลและปิดเทศกาลในวันที่ 31 มีนาคม 2567 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซนทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

นายเสริมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงวัฒนธรรม ได้เริ่มจัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2558 และต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ซึ่งขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาลเพื่อผลักดันใช้ “Soft Power” ความเป็นไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยเฉพาะด้านภาพยนตร์ทั้งในส่วนของประเทศไทยและกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเผยแพร่สู่ระดับนานาชาติและการจัดงานในปีนี้เป็นการตอกย้ำและประกาศศักยภาพอุตสาหกรรมภาพยนตร์อาเซียนและชาติภาคีเอเชียนในเวทีโลก รวมถึงส่งมอบความสุขให้กับผู้ที่ ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้สนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างรอบด้านด้วยการประกวดโปรเจ็กต์การสร้างภาพยนตร์ เพื่อสนับสนุนกลุ่มนักสร้างภาพยนตร์จากทั่วภูมิภาคอาเซียนให้มีขวัญและกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับการจัดงานครั้งนี้มีการจัดฉายภาพยนตร์คุณภาพ 24 เรื่อง จากประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งทุกเรื่องมีบทบรรยายภาษาไทย-อังกฤษ เข้าชมฟรีทุกเรื่อง ทุกรอบ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวดภาพยนตร์ขนาดยาว 7 โครงการ ผู้ที่สนใจลงทะเบียนจองบัตรชมภาพยนตร์ล่วงหน้าได้ที่ เว็บไซต์ www.baff.go.th และเพจเฟซบุ๊ก Bangkok Asean Film Festival

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน