มจพ. ส่งมอบหุ่นยนต์ตรวจวัดความหนาของท่อ ให้กับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภาคอุตสาหกรรม

ศ.ดร. สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.เชิดพงษ์ ดีเลิศไพบูลย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือวัดและอิเล็กทรอนิกส์, ผศ.นพดล พัดชื่น หัวหน้าโครงการ และ อาจารย์ ดร.จิรพันธุ์ อินเทียม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบูรณาการเทคโนโลยีและนักศึกษาทีม iRAP Robot คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมในพิธีส่งมอบหุ่นยนต์ Remoted Piping Inspection หุ่นยนต์ตรวจวัดความหนาของท่อ ให้กับผู้แทนจาก บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้แก่ คุณสมบัติ ศิลสังวร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานอะโรเมติกส์ คุณฉัตรสุดา กาญจนรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิรูปธุรกิจสู่ความเป็นเลิศ คุณถาวร เกตสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานตรวจสอบอุปกรณ์ และคุณนเรนทร์รัฐ รัตนวรพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานซ่อมบำรุงอะโรเมติกส์ ณ ห้อง Mini Auditorium อาคาร GC Experience Campus อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567

ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบความแม่นยำขั้นสูง (Center of Innovative Robots and Advanced Precision Systems : IRAPs) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้พัฒนา หุ่นยนต์ตรวจวัดความหนาของท่อ โดยใช้ตัวตรวจวัดอัลตราโซนิค ซึ่งมี ผศ.นพดล พัดชื่น เป็นหัวหน้าโครงการ โครงการวิจัยนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคัล จำกัด (มหาชน) วัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการตรวจวัดแบบเดิมที่ต้องมีการตั้งนั่งร้าน และลดความเสี่ยงในการใช้คนปีนขึ้นนั่งร้านไปตรวจวัด และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลการวัดให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อประโยชน์ในการนำไปวิเคราะห์ต่อได้ในอนาคต โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวมีน้ำหนักเพียง 3.32 กิโลกรัม มีขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 23.5 เซนติเมตร และสูงเพียง 7 เซนติเมตร สามารถทำงานต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง และด้วยขนาดและลักษณะเฉพาะของหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบมาพิเศษนี้ ทำให้หุ่นยนต์ดังกล่าว เป็นหุ่นยนต์วัดความหนาของท่อเพียงตัวเดียวในประเทศไทยที่สามารถวิ่งผ่านช่องว่างระหว่างท่อที่ 7.5 เซนติเมตร (ตามมาตรฐาน ASTM) ทำให้สามารถวัดค่าความหนาได้ตลอดวงรอบของท่อ นอกจากนี้หุ่นยนต์สามารถที่จะเคลื่อนที่ไปตามส่วนโค้งงอของท่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเคลื่อนที่ตามแนวท่อ เคลื่อนที่รอบเส้นรอบวงของท่อ หรือเคลื่อนที่ผ่านข้องอ 90 องศาทั้งด้านในและด้านนอก บนตัวหุ่นยนต์จะติดตั้งเซนเซอร์วัดความหนาของท่อ เมื่อผู้บังคับขับเคลื่อนหุ่นยนต์ไปยังตำแหน่งที่ต้องการวัด หุ่นยนต์จะทำการวัดค่า และส่งค่าคืนกลับมายังหน้าจอแสดงผล พร้อมกับบันทึกค่าที่วัดได้นี้ลงในฐานข้อมูล เพื่อนำไปวิเคราะห์การสึกกร่อนต่อไป

หลังจากทีมวิจัยจากศูนย์ IRAPs มจพ. ได้พัฒนาต้นแบบแล้วเสร็จ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคัล จำกัด (มหาชน) ได้นำไปทดลองใช้งานกับสถานที่จริง เป็นการพัฒนาร่วมกันโดยผ่านการใช้งานมาแล้วไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง พบว่าสามารถตอบโจทย์ตามวัตถุประสงค์ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดต้นทุน การลดความเสี่ยงของคนในเรื่องความปลอดภัย ความรวดเร็ว และระบบความแม่นยำ สามารถทำงานได้เป็นอย่างดี และการจัดการข้อมูลการวัดได้อย่างครบถ้วน และมีโอกาสต่อยอดในเชิงพานิชย์ได้ ทั้งนี้หุ่นยนต์ตรวจวัดความหนาของท่อ เป็นอีกหนึ่งผลงานการต่อยอดทางเทคโนโลยีจากการได้รับรางวัลแชมป์ในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก World RoboCup Rescue และอีกหลายๆ เวทีแข่งขัน ในครั้งนี้ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมหุ่นยนต์เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนการทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคต








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน