จากกรณีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2559 ถือว่าเป็นกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และจำเป็นต้องมีการดำเนินการเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติสืบต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้แจ้งเรื่องการสถาปนาแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้แล้วตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ดำเนินการตามขั้นตอน

จากนั้นให้ประธานสนช.อัญเชิญสมเด็จพระบรม โอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์สืบสันตติวงศ์ เป็นพระเจ้าอยู่หัวของประชาชนไทยสืบไป

หนังสือด่วนถึงประธานสนช.

สำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0503/44549 ลงวันที่ 29 พ.ย.2559 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาถึงประธาน สนช. ในเวลา 10.08 น. เรื่อง แจ้งเรื่องการสถาปนาแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้แล้วตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 ความว่า

ตามที่มีประกาศสำนักพระราชวังเรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 นั้น ถือว่าเป็นกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และจำเป็นต้องมีการดำเนินการเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติสืบต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ในเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับขั้นตอนดังกล่าวในส่วนของรัฐบาลไว้ก่อน เพื่อสนองพระราชดำริในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารที่ว่ายังไม่สมควรดำเนินการใดที่แสดงถึงการมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ในระหว่างที่ประชาชนอยู่ในภาวะทุกข์โศกและยากจะทำใจ

พระองค์เองก็ทรงขอเวลาร่วมทุกข์และทำใจเช่นเดียวกับประชาชนจนกว่าการพระราชพิธีพระบรมศพจะผ่านพ้นไประยะหนึ่ง ซึ่งมีพระราชดำริว่าเมื่อการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานผ่านพ้นจนถึงปัญญาสมวาร (ครบ 50 วัน) คือวันที่ 1 ธ.ค.2559 แล้ว จึงค่อยพิจารณาดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ระหว่างเวลานั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีข้อขัดข้องใดๆ ในราชการบ้านเมือง

บัดนี้ การพระราชพิธีพระบรมศพได้ล่วงเลยเวลาบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน จนเข้าเขตปัญญาสมวาร (50 วัน) ทั้งประชาชนก็มีโอกาสเข้าถวายบังคมพระบรมศพแล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.ถึงบัดนี้ ประมาณ 1 เดือน มีจำนวนประมาณ 1 ล้านคน รัฐบาลจึงนำความกราบบังคมทูลว่า นับเป็นกาลอันควรดำเนินการต่อไปเพื่อให้เป็นไปตามราชประเพณีและรัฐธรรมนูญ อันจะยังความปลาบปลื้มปีติและสร้างขวัญ กำลังใจแก่พสกนิกร ซึ่งทรงทราบฝ่าละอองพระบาทแล้ว

โดยที่การสืบราชสมบัติต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 ซึ่งมาตรา 2 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้กำหนดให้นำบทบัญญัติในหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาใช้บังคับ โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 ดังนั้นการสืบราชสมบัติจึงต้องเป็นไปตามความในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งมาตรา 23 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวบัญญัติว่า

“ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 แล้ว ให้ครม.แจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ”

ครม.จึงขอแจ้งมาเพื่อทราบว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ธ.ค.2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ท่ามกลางมหาสมาคม ประกอบด้วย พระบรมวงศานุวงศ์ ครม. คณะทูตานุทูต ข้าราชการ ทหาร พลเรือน และสมาชิก สนช. ต่อมาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ตรัสถวายสัตย์ปฏิญาณสาบานในการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยแล้ว

ประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระบรม โอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ วันที่ 28 ธ.ค.2515 เล่ม 89 ตอนที่ 200 มีความตอนหนึ่งว่า

“ก็โดยราชนีติอันมีมาในแผ่นดินนั้น เมื่อสมเด็จพระบรมราชโอรสซึ่งจะทรงรับรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ทรงพระเจริญวัยสมควรแล้ว ย่อมโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระอิสริยยศ ตั้งแต่งไว้ในตำแหน่งสมเด็จพระยุพราชมกุฎราชกุมาร ในกาลปัจจุบันนี้ ประชาชนทั้งหลาย ตลอดถึงชาวต่างประเทศทั่วไปในโลกย่อมพากันนิยมยกย่องว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณทรงอยู่ในฐานะที่จะรับราชสมบัติปกครองราชอาณาจักรสืบสนองพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นเล่าก็ทรงพระเจริญพระชนมายุบรรลุนิติภาวะ ทรงพระวีรยภาพและพระสติปัญญาสามารถที่จะรับภาระของแผ่นดินตามพระอิสริยศักดิ์ได้ ถึงสมัยที่จะสถาปนาเป็นองค์รัชทายาท ควรทรงอนุวัตรให้เป็นไปตามธรรมนิยม และขัตติยราชประเพณี ตามความเห็นชอบเห็นดีของมหาชน และผู้บริหารประเทศทุกฝ่ายเฉลิมพระเกียรติยศขึ้นให้สมบูรณ์ตามตำแหน่งทุกประการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร”

อนึ่ง ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า “พระรัชทายาท” คือ เจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์ พระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สมมติขึ้น เพื่อเป็นผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป และมาตรา 4 (2) บัญญัติว่า “สมเด็จพระยุพราช” คือ พระรัชทายาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็นตำแหน่งสมเด็จพระยุพราชโดยพระราชทานยุพราชาภิเษกหรือโดยพิธีอย่างอื่นสุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งในวันที่ 28 ธ.ค.2515 นั้นเป็น ตำแหน่งเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของไทย เมื่อพ.ศ.2429

และสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ที่สอง เมื่อพ.ศ.2437 ซึ่งต่อมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงรับราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร จึงเป็นตำแหน่งพระรัชทายาท ตามกฎมณเฑียรบาลดังกล่าว และตามที่รัฐธรรมนูญระบุถึง

ดังนั้น เมื่อได้พิจารณาตามประวัติศาสตร์ ข้อกฎหมาย ประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาและโบราณราชนิติประเพณีแล้ว โดยเฉพาะข้อกฎหมายที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญบรรดาที่มีมาทุกฉบับนับแต่พ.ศ.2534 จนกระทั่งถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ เห็นได้ว่าล้วนแต่วางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ไว้เป็นแบบแผนเดียวกัน

ครม.จึงแจ้งมายังประธานสนช. ในฐานะประธานรัฐสภาเพื่อทราบว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นพระรัชทายาทที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งไว้แล้ว ตามความในมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และทรงสถิตอยู่ในที่พระรัชทายาทสืบมาจนถึงปัจจุบัน
สนช.รับทราบมติครม.

หลังจากสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0503/ 44549 ลงวันที่ 29 พ.ย.2559 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงประธานสนช.แล้ว

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ได้เรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 76/2559 เป็นพิเศษ ในเวลา 11.19 น.ที่รัฐสภา

มีวาระการพิจารณาเรื่อง การดำเนินการตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบกับมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มีผู้เข้าร่วมประชุม 243 คน จาก 250 คน ขาด 7 คน โดยลาป่วย 3 คน ติดราชการ 4 คน

นายพรเพชร แจ้งต่อที่ประชุมว่า ตามที่มีประกาศพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต บัดนี้นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0503/44549 ลงวันที่ 29 พ.ย.2559 เรื่องแจ้งเรื่อง การสถาปนา แต่งตั้งพระรัชทายาท ไว้แล้วตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 แจ้งว่า

บัดนี้ราชบัลลังก์ว่างลง และพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เป็น พระรัชทายาท ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 ครม.จึงขอแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ แล้วให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อทราบ แล้วให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาท ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป รายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่แจกแก่สมาชิกในห้องประชุม ตามที่ประชุมสนช.ทำหน้าที่รัฐสภา ได้รับทราบการแจ้งมติครม.แล้ว

ขั้นตอนต่อไป ตนจะได้นำความกราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์สืบสันตติวงศ์ เป็นพระเจ้าอยู่หัวของประชาชนไทยสืบไป ตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบกับมาตรา 23 ของรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

“ในโอกาสอันเป็นมหามงคล ขอให้สมาชิกทุกท่านโปรดยืนขึ้น เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยแด่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่” นายพรเพชรกล่าวให้สมาชิกสนช.ถวายพระพรพร้อมกัน

จากนั้นสมาชิกสนช.พร้อมใจกันเปล่งเสียงว่า “ขอพระองค์ทรงพระเจริญ” นายพรเพชรจึงสั่งปิดการประชุมเวลา 11.25 น.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน