เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี พระราชทานผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ในโอกาสเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎร จ.พัทลุง และทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทย

วันที่ 5 ก.พ. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.23 น. วันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ต.บ้านพร้าว อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายฉัตรชัย อุสาหะ รองผู้ว่าฯ พัทลุง

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พ.อ.ปกรณ์ จันทรโชตะ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 พ.ต.อ.ภาคิน ณ ระนอง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุง ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่ เฝ้ารับเสด็จ ฯ

โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทอดพระเนตรนิทรรศการ อาทิ ผ้ายกตานี ซึ่งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้รื้อฟื้นมรดกมลายู “ผ้ายกตานี” ร่วมกับกลุ่มทอผ้าบ้านไม้แก่น จ.ปัตตานี เพื่อให้มรดกสิ่งทอ อยู่คู่กับแผ่นดินหลังจากได้สูญหายมาชั่วระยะหนึ่ง ผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 14 จังหวัดภาคใต้ เช่น ผ้าลายแก้วชิงดวง จ.ตรัง ผ้าทอเกาะยอ ลายราชวัตร จ.สงขลา ผ้าลายพิกุลพลอย จ.นราธิวาส และผ้ายกเมืองนคร จ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากสมาชิกศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มศิลปาชีพปักผ้า ค่ายจุฬาภรณ์

พร้อมพระราชทานใบความรู้ ประกอบด้วย หนังสือฉบับดิจิทัล อาทิ หนังสือ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา หนังสือผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา และหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย ฉบับที่ 3 พร้อมพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ประเภทผ้าและหัตถกรรมในพื้นที่ภาคใต้ กว่า 50 กลุ่ม จาก 14 จังหวัดภาคใต้ ที่เคยมีพระวินิจฉัยให้ปรับเปลี่ยน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย

เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กลุ่มผู้ผลิต และผู้ประกอบการ OTOP อาทิ ผ้าฝ้ายทอยกดอก ลายดอกพะยอมเล็ก จากกลุ่มทอผ้านิคมลานข่อย จ.พัทลุง กระเป๋ากระจูดลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ จากศูนย์ศิลปาชีพบ้านหัวป่าเขียว จ.พัทลุง ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา จากเก๋บาติก จ.กระบี่ กระเป๋าย่านลิเภา จากกลุ่มเกษตรจักสานปลูกย่านลิเภา จ.นครศรีธรรมราช กระเป๋าย่านลิเภา จากกลุ่มเกษตรจักสานปลูกย่านลิเภา จ.นครศรีธรรมราช งานเซรามิกของสมาชิกศิลปาชีพฯ บ้านรอตันบาตู จ.นราธิวาส








Advertisement

โดยโปรดให้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย เจ้าของแบรนด์ THEATRE คุณจิรัฏฐ์ ทรัพย์พิศาลกุล สไตล์ไดเร็กเตอร์นิตยสาร VOGUE คุณวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ผู้ก่อตั้งแบรนด์ WISHARAWISH นายตะวัน ก้อนแก้ว ผู้ช่วยบรรณาธิการแฟชั่น VOGUE นายนวัทตกร อุมาศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้า เพื่อยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทรนด์สีสัน เทรนด์แฟชั่นผ้าไทย การออกแบบคอลเลกชั่นผ้าไทย การเลือกใช้เส้นใยที่มีคุณภาพ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผ้าไทย และการสร้างแบรนด์

จากนั้น ทอดพระเนตรการแสดงรำโนราผสมท่า รำโนราตัวอ่อน ระบำพราน จากนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุง ซึ่งโนรา หรือมโนราห์ เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านชั้นสูงของภาคใต้ ที่ผสมระหว่างการร้อง การรำ ที่สะท้อนถึงความเชื่อและพิธีกรรม โดยได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ และถูกเสนอชื่อขึ้นบัญชีมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ของยูเนสโก ในปี 2564

ก่อนเสด็จกลับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เนื่องในโอกาสเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎร จ.พัทลุง ในครั้งนี้ เพื่อเป็นของขวัญแก่ช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค เยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนคนไทยทุกคน ผู้มีจิตใจที่รุกรบมุ่งมั่นในการสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน เนื่องในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา

ซึ่ง “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” เป็นลายผ้าที่พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายพื้นถิ่นภาคใต้ แล้วนำมาออกแบบผสมผสานกับ “ลายดอกรัก” ที่สื่อถึงความรักและกำลังใจที่พระองค์ทรงสร้างสรรค์ขึ้น ประกอบด้วย 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้าบาติก ประเภทที่ 2 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้ามัดหมี่ ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้ มีลวดลายประกอบด้วย ตัวอักษร S สื่อถึงพระกรุณาธิคุณ พระวิสัยทัศน์ และพระอัจฉริยภาพในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้มีที่ยืนในโลกใบใหม่ได้อย่างภาคภูมิ

ลายดอกรักสี่ทิศ สื่อถึงความจงรักภักดีที่ช่างทอผ้า ทุกกลุ่มทุกเทคนิคจากทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ แสดงต่อพระองค์ และได้เทิดทูนพระองค์ไว้เหนือเกล้า เหนือกระหม่อมชั่วลูกสืบหลาน ลายดอกรักห้ากลีบ สื่อถึงจิต 5 ประการ ที่ถักทอผืนผ้าแห่ง ความสำเร็จ ได้แก่ ความเชี่ยวชาญ ความคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ความเคารพและเข้าใจ และความมีคุณธรรม และลายกระจังใจรัก สื่อถึงความรักและห่วงใยจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีต่อปวงชนชาวไทยอย่างอเนกอนันต์

สำหรับประเภทที่ 3 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้ายก มีลวดลายประกอบด้วย ตัวอักษร S ตัวใหญ่ สื่อถึงพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาการทอผ้าและงานหัตถศิลป์ไทยในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตัวอักษร S ตัวเล็ก สื่อถึงพระดำริที่ตั้งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ในสมเด็จย่าของพระองค์ ทางด้านการฟื้นคืนภูมิปัญญาการทอผ้าของไทยให้มีความร่วมสมัยและเป็นสากล ลายกรอบย่อมุม สื่อถึงภูมิปัญญาการทอผ้าและหัตถศิลป์ พื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์ จากทุกภูมิภาค ของประเทศไทย ที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน

ลายดอกรักสี่ทิศ สื่อถึงความรักและศรัทธา ในงาน ถักทอผืนผ้าแห่งภูมิปัญญาพื้นถิ่น ด้วยสมองและสองมือของช่างทอผ้า ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ลายเชิงช่อดอกรัก สื่อถึงความรักและกำลังใจที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแก่ ช่างทอผ้า ผู้สืบสานภูมิปัญญาการทอผ้า และหัตถศิลป์พื้นถิ่นของไทยในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และผ้าบาติกลายพระราชทาน

ลายที่ 4 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โปรดเกล้าฯ ให้พัฒนา “ผ้าบาติกลายพระนามาภิไธยสิริกิติ์” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อครั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ.2503 เพื่อให้มีความร่วมสมัยและเป็นสากล

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ด้วยทรงมีความรัก ความผูกพัน และความห่วงใยราษฎรของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีวิถีชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายของระบบนิเวศ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ด้วยทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด หลักการทรงงานและแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้านางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้มีอาชีพ มีรายได้ จากภูมิปัญญาอัตลักษณ์งานหัตถศิลป์หัตถกรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และพัฒนาต่อยอดโดยพระราชทานโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำมาเป็นแนวทางขับเคลื่อนการส่งเสริมพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการผ้าอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของจังหวัดในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 จัดที่ จ.พัทลุง เพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ผลงานอัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP)

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการจำหน่ายผ้าไทย ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน และเสริมองค์ความรู้ ยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผ้าไทย และการสร้างแบรนด์ จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถผลิตผลงานที่สอดคล้องความต้องการของตลาด สามารถนำไปประกอบอาชีพได้และเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

“ในวันนี้ กลุ่มสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และช่างทอผ้าในพื้นที่ภาคใต้ ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงนำประสบการณ์ส่วนพระองค์ทั้งจากการทรงงาน ทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมือง และพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบที่นำสมัย ถ่ายทอดสู่สมาชิกกลุ่มทอผ้าและช่างทอผ้าที่เฝ้ารับเสด็จฯ และถวายรายงานส่งการบ้านผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาตามพระวินิจฉัย

ทำให้สามารถนำไปออกแบบเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ของตนเองให้มีความร่วมสมัย และนำไปประยุกต์ปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัยได้อย่างสวยงาม นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับช่างทอผ้าทุกท้องถิ่น ท้องที่ และเป็นต้นแบบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของพวกเราที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาลวดลายผ้าให้แก่สมาชิกกลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค ทั่วประเทศ

ดร.วันดี กล่าวต่อว่า ซึ่งนับได้ว่าทรงเป็นแบบอย่างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเสื้อผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส อันเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก

ดร.วันดี กล่าวว่า โดยสมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงรื้อฟื้นเรื่องผ้าไทย โดยทรงนำเอาวิชาการสมัยใหม่ในเรื่องของการออกแบบ Packaging Branding เข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพและมูลค่าของผ้า โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่สามารถเลือกงานทำ แต่กลับมีชีวิตที่มีคุณภาพ มีรายได้ เลี้ยงดูครอบครัวได้ ทำให้วงการผ้าไทย มีลวดลายที่หลากหลาย

ดร.วันดี กล่าวอีกว่า เกิดการผสมผสานวัฒนธรรม มีความร่วมสมัยและเป็นสากล และขอเชิญชวนพวกเราคนไทยทุกคน ได้ร่วมกันภาคภูมิใจในความเป็นไทยด้วยการสวมใส่ผ้าไทยในทุกวัน ทุกโอกาส เพื่อทำให้ผ้าไทยได้มีชีวิตที่ยืนยาว คนทอผ้าได้มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้จุนเจือสมาชิกในครอบครัว อันทำให้คนไทยอีกหลายล้านคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน