สนช.นัดประชุมด่วน 29 พ.ย.เตรียมพร้อมถกกฎหมายสำคัญ ‘พรเพชร’สั่งสมาชิก ห้ามขาด ห้ามลา ‘บิ๊กตู่’บุกตรวจงานก.การท่องเที่ยวฯวันนี้ ‘บิ๊กป้อม’ลั่นรัฐบาลไม่คิดเลื่อนโรดแม็ป แต่ต้องดูสถานการณ์รายวันด้วย ‘มีชัย’เตรียมโชว์ร่างกฎหมายลูกพรรคการเมือง ให้ประชาชนส่งความเห็นก่อนปรับเนื้อหาอีกรอบ ‘มาร์ค’ยังมั่นใจเลือกตั้งปลายปี’60 สปท.ดีเดย์ 30 พ.ย.นี้แถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ‘ไก่อู’โต้แจกเงินคนจนไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นสวัสดิการแห่งรัฐ ป.ป.ช.ชงยึดทรัพย์‘สาธิต รังคสิริ’อดีตบิ๊กสรรพากร 715 ล้าน คดีโกงแวต ฮือฮา‘กสทช.’แจกโบนัส 3 เท่าของเงินเดือน

‘บิ๊กตู่’ดอดเยี่ยมก.ท่องเที่ยวฯ

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลตามปกติ โดยเวลา 10.00 น. ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาตินำหัวหน้าหน่วยข่าวกรองอาเซียนเข้าเยี่ยมคารวะนายกฯ ในโอกาสเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมประชาคมข่าวกรองอาเซียน ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล และตลอดช่วงบ่ายถึงเย็น นายกฯได้ปฏิบัติภารกิจโดยไม่ได้ออกไปตรวจติดตามงานของกระทรวงใด

รายงานข่าวเปิดเผยว่า วันที่ 25 พ.ย. ประมาณ 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมติดตามงานตามนโยบายที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งถือเป็นกระทรวงที่ห้า ต่อจากกระทรวงคมนาคม มหาดไทย คลัง เกษตรและสหกรณ์ และช่วงบ่าย เวลา 14.00 น. นายกฯมีภารกิจแสดงปาฐกถาเนื่องในงานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JJCCT) ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ

‘บิ๊กป้อม’ลั่นยังไม่ยืดโรดแม็ป

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าในปี 2560 ประเทศไทยจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และอาจมีตัวแปรกระทบโรดเแม็ป แต่ยังยืนยันกำหนดเลือกตั้งในปลายปี 2560 ว่า เมื่อยังไม่ได้เลือกตั้ง ตนจึงยังไม่ประเมิน จะประเมินทำไมเมื่อเรื่องยังไม่มาถึง

ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลและคสช. จะเลื่อนโรดแม็ปเลือกตั้งออกไปหรือไม่ พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า ไม่เห็นมีใครบอกประกาศให้เลื่อนเลย มีหรือไม่ ข่าวที่ไหนพูด ใครเขียน สื่อเขียนเองก็ไปถามกันเอง อย่าเอาข่าวหนังสือพิมพ์มาถามตน แล้วโรดแม็ปรัฐบาลเคยเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เคยหรือเปล่า

เมื่อถามย้ำว่ามีปัจจัยอะไรที่ต้องเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ไม่เห็นมีปัจจัยใดๆ เลย ถ้าจะมีก็สื่อถามนี่แหละ เราต้องดูตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่จะเป็นประเด็นแต่ละวันแต่ละเดือน ถ้าเลือกได้เขาก็เลือก แต่ถ้าเลือกไม่ได้ แล้วจะไปเลือกทำไมให้เสียหาย แต่นี่ยังไม่มีอะไรต้องเปลี่ยนแปลง ไม่มี รัฐบาลไม่เคยคิดเลย มีแต่พวกคุณคิดกันเองทุกวัน”

‘มีชัย’แจง3มาตราปฏิรูปสื่อ

ที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)บรรยายพิเศษ หัวข้อ“การปฏิรูปสื่อกับเจตนารมณ์ของรัฐ” ในงานสัมมนาปฏิรูปสื่อทางการสังคมว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติมี 3 มาตราที่พูดถึงสื่อ คือ มาตรา 35, 98 และ 184 กรธ.รับรองเสรีภาพของสื่อไม่ให้ถูกปิด หรือตรวจ และมีข้อห้ามไม่ให้รัฐสนับสนุนสื่อ แต่หากรัฐจะซื้อโฆษณาต้องเปิดเผยให้ประชาชนรู้ และรายงานสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ให้รับทราบ

ขณะเดียวกัน ห้ามเจ้าของสื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เพื่อไม่ให้มีผลประโยชน์ที่ขัดกันในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ 3 มาตราที่เกี่ยวข้องกับสื่อเป็นการบอกสั้นๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญว่าห้ามรัฐไปยุ่งกับสื่อ ปล่อยให้เป็นสิทธิเสรีภาพของสื่อ โดยสื่อต้องวางกรอบจริยธรรมของตนเอง โดยที่รัฐห้ามเข้าไปยุ่ง

ปรับเนื้อหากม.พรรคการเมือง

นายมีชัยให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ฝ่ายเลขานุการ กรธ.ได้นำเนื้อหาร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองไปปรับแก้ไขถ้อยคำบางประเด็นให้มีความสมบูรณ์ คาดว่าภายใน 1-2 วันจะได้ข้อยุติและเผยแพร่ให้ประชาชนส่งความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมายังกรธ. เพื่อปรับปรุงเนื้อหาให้ดีกว่าฉบับเบื้องต้นที่ปรับปรุงไปแล้ว คือ การจัดตั้งพรรคการเมือง และระยะเวลาหาสมาชิกจากเดิมที่กำหนดให้หาสมาชิกให้ได้ 5,000 คนภายใน 1 ปี แต่มีผู้ท้วงติงว่าจำนวนน้อยเกินไป กรธ.จึงปรับให้หาสมาชิกให้ได้ 20,000 คนภายใน 4 ปี

นอกจากนี้ ยังกำหนดผู้ก่อตั้งพรรคและสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรคด้วยการจ่ายค่าสมาชิก พรรคที่จัดตั้งใหม่กำหนดให้มีผู้ริเริ่ม 500 คนนั้น ต้องจ่ายเงินเป็นทุนประเดิม 2,000 บาท และให้สิทธิผู้จ่ายเงินต้องเข้าไปมีส่วนร่วมการกำกับพรรคและการส่ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย ขณะที่การบริจาคเงินของบุคคลทั่วไปนั้นทำได้แต่กำหนดตัวเลขให้ไม่เกิน 10 ล้านบาท และต้องมีการเปิดเผยรายชื่อและจำนวนเงินที่บริจาคด้วย

รีเซ็ตสมาชิกใน5เดือน

นายมีชัยกล่าวว่า มีประเด็นสำคัญที่กรธ.ต้องการรับฟังความเห็นจากพรรคการเมือง คือบทที่กำหนดให้พรรคต้องปรับปรุงระบบสมาชิกพรรค เบื้องต้นกรธ.กำหนดให้พรรคทั้งที่ดำเนินการปัจจุบันปรับปรุงระบบสมาชิกภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน หากทำไม่แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าวสามารถขยายเวลาได้ แต่ต้องจำนวนรวมไม่เกิน 3 ปี ระหว่างที่ยังทำไม่แล้วเสร็จพรรคไม่มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ ในร่างกฎหมายยังให้การรองรับสมาชิกของพรรคที่ทำกิจกรรมอยู่ในปัจจุบัน โดยจะไม่รื้อระบบใดๆ เพียงแต่พรรคต้องจัดทำระบบโดยเฉพาะการเก็บค่าสมาชิกพรรคตามที่ข้อบังคับพรรคกำหนด

การทำระบบสมาชิกพรรคให้ทันสมัยไม่เป็นปัญหา ยกเว้น บางพรรคที่มีสมาชิกพรรคไม่ครบจำนวนและเข้าข่ายที่จะถูกยุบพรรค รายละเอียดของเนื้อหาที่เขียนไว้จะระบุส่วนที่พรรคเก่าต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ จะระบุลำดับและขั้นตอนไว้ให้ทำอะไรภายในกี่วัน

หน้าที่กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง

ประธานกรธ. กล่าวว่า ปฏิทินทำร่างกฎหมายลูกของกรธ.ยังเป็นไปตามโรดแม็ป ส่วนการกำหนดการเลือกตั้งเป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งขึ้นอยู่กับร่างกฎหมายพรรคการเมืองและการเตรียมระบบของพรรคให้ครบถ้วน เช่น กรณีให้เวลาพรรคทำระบบสมาชิกภายใน 150 วัน แต่เมื่อทำไปได้เพียง 120 วัน กลับประกาศเลือกตั้งแบบนี้ก็เจ๊ง เพราะพรรคไม่สามารถส่งสมัครเลือกตั้งได้ ดังนั้นต้องพิจารณาการทำงานให้เสร็จด้วย กฎหมายลูกนี้สามารถปรับเวลาได้แต่ไม่ได้ปรับเพื่อถ่วงการเลือกตั้ง แต่ปรับเพื่อให้ทำงานได้

ส่วนกรณีนายวิษณุ ระบุระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่อาจทำให้พรรคเสียงข้างมากไม่ได้เป็นรัฐบาลนั้น เข้าใจว่าเป็นการเปรียบเทียบระหว่างคะแนนนิยมของประชาชนที่ให้กับพรรคการเมืองกับการเลือกตั้ง ส.ส.เขต มองว่ากรณีที่นายวิษณุระบุนั้นในประเทศไทยเป็นไปได้ยาก เพราะประเทศไทยจะมีส.ส.เป็นผู้โหวตเลือกผู้นำรัฐบาลและพรรคเสียงข้างมากในสภาจะได้เป็นรัฐบาล แต่หากเกิดกรณีพรรคเสียงข้างมากเลือกบุคคลอื่นมาเป็นนายกฯ ก็เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้

เผยสนช.ตัวแปรสำคัญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากแนวทางการจัดทำกฎหมายลูกสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ที่กรธ.ระบุว่าจะรอให้กฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายกกต.ผ่านก่อนจึงส่งกฎหมายการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.ตามไป หากดูตามมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ จะพบว่ากรอบเวลาการผ่าน 4 กฎหมายลูกสำคัญ เป็นดังนี้ กฎหมายลูก 2 ฉบับแรก สนช.มีเวลาพิจารณา 60 วัน ก่อนรออีก 10 วันเพื่อดูว่า กรธ.หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวมีความเห็นแย้งหรือไม่ ถ้ามีต้องตั้งกมธ.ร่วมพิจารณาอีก 15 วัน รวม 85 วัน

จากนั้นกรธ.จึงส่งกฎหมายอีก 2 ฉบับตามมาใช้เวลาอีก 85 วัน รวม 4 กฎหมายสำคัญต่อการเลือกตั้งใช้เวลา 170 วัน ขณะที่มาตรา 268 กำหนดให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับจากกฎหมายทั้ง 4 ฉบับแล้วเสร็จ ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งถัดไปจะแล้วเสร็จอีก 320 วัน หรือประมาณ 11 เดือน นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้

ทั้งนี้ มีปัจจัยที่อาจเลื่อนโรดแม็ปเลือกตั้งให้เลยไปจาก 11 เดือนคือ หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 2 ใน 3 ตีตกร่างกฎหมายของกมธ.ร่วม ตามมาตรา 267 ทำให้ต้องเริ่มกระบวนการร่างกฎหมายลูกใหม่ โดยหากยังอยู่ในระยะเวลา 8 เดือน นายมีชัยเคยระบุว่ากรธ.จะเป็นผู้รับผิดชอบร่างใหม่ แต่หากพ้น 8 เดือนไปแล้วจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

‘ปึ้ง’เชื่อไทยไม่วุ่นเหมือนมะกัน

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายวิษณุยืนยันจะมีเลือกตั้งปี 2560 แต่อย่าไปไกลขนาดมีรัฐบาลใหม่ในปี 2560 เพราะหลังเลือกตั้งต้องใช้เวลา 2 เดือนก่อนประกาศผล อีกทั้งเป็นการเลือกตั้งแบบใหม่ ไม่เคยใช้บัตรใบเดียว และอาจเกิดกรณีแบบสหรัฐได้ว่า การเลือกตั้งนั้น หากจะให้ฝ่ายแพ้ยอมรับฝ่ายชนะก็คงทำใจลำบาก แต่เชื่อว่าจะสงบเรียบร้อยได้ ถ้าทุกฝ่ายเคารพกฎกติกา รู้แพ้รู้ชนะ ส่วนพวกกองเชียร์ที่คอยสร้างความวุ่นวาย ควรเลิกพฤติกรรมยุแหย่ได้แล้ว บ้านเมืองจะได้สงบและเดินหน้าประเทศได้ เชื่อว่าคนไทยไม่เหมือนอเมริกา เหตุการณ์หลังเลือกตั้งคงไม่เกิดขึ้นเหมือนที่เกิดกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ

ด้านนายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า หากกรธ.ยังเขียนกฎหมายลูกในลักษณะเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายตัวเอง ให้อำนาจการบริหารประเทศยังอยู่กับคสช.ผ่านกลไกการขับเคลื่อน ทั้งจากองค์กรอิสระและส.ว. 250 คน ส่วนกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองก็เขียนเพื่อทำลายพรรค เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสร้างวิกฤตหนัก ประเทศไปไม่ได้ ความขัดแย้งก็ยังคงอยู่ ไม่สามารถสร้างปรองดองได้เลย เพราะคสช.คุมกลไกประเทศไว้หมด ขณะที่ประชาชนกลับไม่มีอำนาจบริหารประเทศเลย สุดท้ายการเลือกตั้งจะเป็นแค่พิธีกรรมว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น

‘มาร์ค’เชื่อเลือกตั้งปี’60

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการรีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมืองในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรค การเมืองว่า ต้องดูเนื้อหาว่าจะเขียนอย่างไรและจะส่งผลอย่างไร การจะเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดต้องดูเหตุผลว่าระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็งนั้นสำคัญ ไม่ใช่สิ่งที่สร้างกันได้ง่ายๆ ชั่วข้ามคืน ซึ่งกรธ.ต้องเร่งทำกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับให้เสร็จใน 8 เดือน เห็นว่าก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเท่าที่ดูทุกอย่างเป็นไปตามตารางเวลาของการทำงาน ดูแล้วการเลือกตั้งในปี 2560 ตามโรดแม็ปก็เป็นไปได้ รัฐบาลก็ยึดตามปฏิทินที่ประกาศไว้ หากรัฐธรรมนูญบังคับใช้จะมีกรอบเวลา จึงไม่น่าจะมีประเด็นอะไรที่วิตกกังวลจนเกินเหตุ

ตนอยากให้พรรคการเมืองได้ทำงานตามหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะเลือกตั้งหรือหาเสียง พรรคการเมืองควรได้ทำงานตามปกติเพื่อสามารถรับผิดชอบงานหลังการเลือกตั้งด้วย เพราะฉะนั้นแนวนโยบาย สภาพปัญหาของประเทศ การดูแลความเดือดร้อนของประชาชนก็ควรให้เราได้ทำ แต่อะไรที่เกรงว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งก็เจาะจงมา เช่น ยังไม่อยากให้จัดปราศรัยก็กำหนดมา ตนรับได้

แนะช่วยคนจนอย่างมีระบบ

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงมาตรการของรัฐบาลเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-10 บาทใน 69 จังหวัดเริ่ม ม.ค.2560 และการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยการแจกเงิน 1,500 บาท และ 3,000 บาทว่า นโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเริ่มต้นด้วยการที่เรามีระบบสวัสดิการที่มีฐานข้อมูลคือ การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งต้องมีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันอยู่ตลอด ดีกว่าการไล่ช่วยเหลือแบบเฉพาะกิจไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีฐานข้อมูล ไม่มีระบบ เพียงแต่ว่ามากน้อยแค่ไหนก็ต้องดูความเหมาะสมในแง่ของฐานะกำลังทางด้านการเงินการคลัง

ตอนที่ตนเป็นรัฐบาลก็ทำนโยบายประกันรายได้และเช็คช่วยชาติก็ดี มองว่าเป็นวิธีการที่ง่ายและตรงที่สุด ขณะที่โครงการอื่นๆ มีรายละเอียดเยอะแยะ มีการบริหารจัดการที่ยุ่งยาก สุดท้ายก็เสียดายเงินเพราะไม่ได้ไปถึงมือประชาชน จะเป็นเพราะว่ามีค่าบริหาร รั่วไหล หรือทุจริต

หวั่นเพี้ยนเป็นประชานิยม

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนค่าแรงนั้นค้างมาตั้งแต่ปี 2555 เพราะตอนนั้นมีการทำนโยบายค่าแรง 300 บาท จึงเหมือนกับบอกว่าจะไม่ขึ้นอีกเป็นระยะเวลากี่ปี แต่เวลาก็ล่วงเลยมาพอสมควร ฉะนั้น การที่ผู้ใช้แรงงานได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นก็มีเหตุมีผลเพราะค่าครองชีพก็เพิ่มขึ้น แต่ตัวระบบที่ยังเป็นปัญหาคือค่าแรง 300 บาท ส่งผลให้เกิดการโยกย้ายฐานการผลิตระดับหนึ่ง และการที่เป็นค่าแรงอัตราเดียวทั้งประเทศซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในหลายๆ เรื่อง ตรงนี้ยังไม่สามารถปรับให้กลับเข้าไปสู่ระบบคล้ายๆ แบบเดิมได้ นอกจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ถ้าเราสามารถกำหนดค่าแรงตามทักษะได้แล้ว คนเพิ่มพูนทักษะเขาจะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นไปเอง คุณภาพแรงงานเราก็ดีขึ้นด้วย

เมื่อถามว่า มองว่าคสช.ใช้นโยบายประชานิยมเหมือนพรรคการเมืองหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าทำนโยบายเหล่านี้ให้เป็นสวัสดิการก็จะต่างจากประชานิยม ดังนั้น ถ้าสามารถพัฒนาการมีฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยและความช่วยเหลือเป็นระบบสวัสดิการ ทำให้การเข้าไปเกี่ยวข้องกับการยกระดับรายได้ของเกษตรกร อย่างนี้ไม่ใช่ลักษณะของประชานิยมที่มาแข่งขันกัน ถ้าบอกว่าจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันผิดธรรมชาติ ไม่ยั่งยืน แล้วทำลายวินัยทางการเงินการคลัง คงต้องแยกกันระหว่างสวัสดิการกับประชานิยม ซึ่งกรณีนี้ตนมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสวัสดิการ แต่จะพัฒนาไปเป็นสวัสดิการจริง หรือจะเพี้ยนไปเป็นประชานิยมนั้น ยังเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง

‘ไก่อู’ชี้เป็นสวัสดิการแห่งรัฐ

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงนักการเมืองวิจารณ์มาตรการเพิ่มรายได้ 1,500 บาท และ 3,000 บาทแก่ผู้มีรายได้น้อย ไม่ต่างจากนโยบายประชานิยมในอดีตว่า รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสถานะ ให้ดำรงชีพได้อย่างมีความสุข ด้วยมาตรการที่แตกต่างกันตามความจำเป็นทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งการดำเนินการใดๆ ต้องไม่มีวาระซ่อนเร้น ไม่ทำเพื่อคะแนนเสียง หรือสร้างฐานความนิยมโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ กับลูกหลานในอนาคต แต่ต้องดำเนินการด้วยความจริงใจ โปร่งใส ชัดเจน รอบคอบ ไม่สร้างผลกระทบต่อระบบการเงินการคลังของชาติ ที่สำคัญผู้นำและผู้บริหารต้องมีธรรมาภิบาล ทำงานเพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีต่อบ้านเมืองต่อไป

“การช่วยเหลือประชาชนที่สมควรได้รับโดยไม่สร้างปัญหาไว้เบื้องหลัง น่าจะเรียกว่าเป็นสวัสดิการแห่งรัฐ มิใช่ประชานิยม ในนิยามที่เราเข้าใจหรือคุ้นเคยกันว่า คิดทำเพื่อหวังคะแนนเสียง และความนิยมจากประชาชนโดยไม่สนใจผลระยะยาวต่อประเทศ อยากแนะนำให้ประชาชนที่เข้าข่ายได้รับการดูแลจากมาตรการนี้ใช้จ่ายเงินอย่างมีเป้าหมาย เกิดประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว อย่าคิดว่าได้มาโดยง่ายแล้วจะใช้โดยสะดวก เพราะจะผิดวัตถุประสงค์ที่ต้องการแบ่งเบาภาระ มิใช่การสร้างหนี้เพิ่ม” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

สนช.ประชุมด่วน 29 พ.ย.

ที่รัฐสภา นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 เปิดเผยกรณีสนช.ขอใช้ห้องประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาล ในวันที่ 29 พ.ย.นี้ว่า เท่าที่ตนคุยกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ยังไม่ทราบว่ากฎหมายสำคัญเร่งด่วนจากรัฐบาลคือกฎหมายอะไร เนื่องจากรัฐบาลยังไม่แจ้งมาอย่างเป็นทางการ แต่ประธานสนช. อยากให้สมาชิกสนช.ในฐานะที่ไม่ใช่ฝ่ายนำ แต่เป็นฝ่ายรับปฏิบัติต้องเตรียมความพร้อมตลอดเวลาตามรัฐธรรมนูญกำหนด และสนช.จะเป็นผู้พิจารณากฎหมาย

ดังนั้น ขณะนี้นายพรเพชร จึงสั่งให้สมาชิกทุกคนบริหารการลาการประชุมให้เรียบร้อย และไม่ให้ลาการประชุมไปต่างประเทศในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว เพื่อให้มีสมาชิกครบองค์ประชุม ถ้าหากจำเป็นต้องมีการประชุม สนช.ในช่วงนี้

สปท.แถลงผลงาน 30 พ.ย.

นายคำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) แถลงผลการประชุมว่า วิปสปท.เห็นควรให้จัดงานแถลงสรุปผลการดำเนินงานของ สปท. ครบรอบ 1 ปี ภายใต้ชื่อ “1 ปี สปท. 108 เรื่องการปฏิรูป” ในวันที่ 30 พ.ย. ที่ห้องประชุม 213-216 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 2 โดย ร.อ. ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.จะเป็นผู้กล่าวนำการแถลง 15-20 นาที ร่วมกับประธานกมธ.ปฏิรูปทั้ง 12 คณะ ที่จะใช้เวลาคณะละ 5 นาที สรุปผลงานของ สปท.ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

ส่วนการประชุมสปท.ในสัปดาห์หน้า จะมีประชุมในวันที่ 28 พ.ย.เพียงวันเดียว ซึ่งจะพิจารณารายงานการปฏิรูป 2 เรื่อง คือ 1.เรื่อง “แผนการขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์” ของกมธ.ด้านเศรษฐกิจ 2.เรื่อง“ผลการศึกษาและข้อสังเกตร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ…” ของ กมธ.ด้านการสื่อสารมวลชน ส่วนวันที่ 29 พ.ย. ที่ประชุมมีมติให้งดประชุม เนื่องจาก สนช.ขอใช้ห้องประชุม เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาล

ปปช.ชงยึดทรัพย์‘สาธิต’

รายงานข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิด นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ร่ำรวยผิดปกติ 714,938,144 ล้านบาท โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติที่อยู่ในชื่อของนายสาธิตและคู่สมรส บุตร บริษัท สิริกาญจนา จำกัด และบุคคลภายนอก โดยส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) ส่งฟ้องต่อศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไป ซึ่งทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติมีทั้งทองคำแท่ง เงินลงทุนในหลักทรัพย์ เงินฝาก ที่ดิน รถยนต์หรู

ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และชี้มูลความผิดทางอาญากับนายสาธิต และนายศุภกิจ ริยะการ อดีตสรรพากรพื้นที่กรุงเทพฯ 22 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) 4.3 พันล้านบาท โดยป.ป.ช. ตรวจสอบพบว่า นายสาธิต ได้รับผลประโยชน์โดยได้เงินที่บริษัทเอกชนขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 179 ล้านบาท ไปซื้อทองคำแท่ง และเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทองคำแท่งดังกล่าว ซึ่งไม่ปรากฏในบัญชีทรัพย์สินที่ต้องยื่นต่อ ป.ป.ช. ก่อนที่ป.ป.ช. จะไต่สวนเพิ่มเติมดังกล่าว และสั่งอายัดทั้งหมด ปัจจุบันนายสาธิตถูกไล่ออกจากราชการแล้ว

นอกจากนี้ป.ป.ช.ยังมีมติให้ส่งข้อมูลของบุคคลรายหนึ่งซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้อง ในคดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 พันล้านบาท ไปให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อสอบสวนเส้นทางการเงินด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน