บิ๊กนครบาล ถกเครียด ผู้ประกอบการตู้เติมเงินออนไลน์ เร่งหามาตราการป้องกัน ภายหลังเกิดเหตุ โจรทุบตู้เติมเงิน เกือบ 300 คดี ชี้ต้องร่วมมือกัน เนื่องจากตร.ไม่เคยรับแจ้งว่ามีตู้อยู่ตรงไหนบ้าง การแจ้งเหตุก็ล่าช้า บางครั้ง 3-4 วัน กว่าจะแจ้ง

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 ส.ค. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รองผบช.น. พร้อมด้วยรองผบก.น.1-9 รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปราม ร่วมกับผู้ประกอบการตู้เติมเงินโทรศัพท์ 8 บริษัท

บิ๊กนครบาล / ประกอบด้วย บ.ฟอร์มสมาร์ท เซอวิส จำกัด บ.เวดดิ้ง คอเปอเรชั่น จำกัด บ.พร้อมมิตร เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด บ.มีเดียเซ็นเตอร์ จำกัด บ.ไทยทูเรียม จำกัด บ.แอดวาสซ์ เว็บ เซอววิส จำกัด บ.บางกอก บิซิเนสออนไลน์ และบ.ไดเร็ค พอยท์ จำดัก ร่วมประชุมวางมาตรการป้องกัน

ภายหลังเกิดเหตุ แก๊งโจรทุบตู้เติมเงินมือถือ ตระเวนก่อเหตุในพื้นที่ บก.น.1-9 ช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 275 คดี มียอดรวมมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท

พล.ต.ต.ภาณุรัตน์กล่าวว่า เป็นการหามาตรการร่วมกัน เนื่องจากตู้เติมเงินโทรศัพท์อยู่ในเขตกทม. มีทั้งหมด 23 บริษัท แต่ละบริษัทมีตู้เติมเงินติดรวมมากกว่า 30,000 ตู้ แต่จุดติดตั้งและรูปแบบการติด บริษัทไม่ได้แจ้งตำรวจเลย ทำให้เกิดเหตุคนร้ายทุบตู้ลักทรัพย์

ขณะนี้ตำรวจรับแจ้งความ 273 คดี และ 2 คดียังไม่มาแจ้งความ รวมทั้งหมด 275 คดี ฝ่ายสืบสวนอยู่ระหว่างติดตามจับกุม และออกหมายจับไปเรียบร้อยแล้ว ในที่ประชุมจะหามาตรการป้องกันร่วมกัน เพราะบางบริษัทติดตั้งง่ายๆไม่แข็งแรง คนร้ายเพียงแค่ใช้ชะแลงงัดก็ยกไปได้เลย

บางจุดอยู่ในพื้นที่เสี่ยงไม่มีกล้องซีซีทีวี และตู้ส่วนใหญ่ไม่มีสัญญาณเตือนภัย อยู่ในที่ของเอกชน พอเกิดเหตุก็ไม่ได้แจ้งความทันที กว่าบริษัทจะได้รับแจ้งจากเจ้าของพื้นที่ จากนั้นมาแจ้งความตำรวจใช้เวลาถึง 4-5 วัน ทำให้ไม่มีพยานหลักฐานลายนิ้วมือแฝงที่อยู่ในเกิดเหตุ

การประชุมเป็นมาตรการป้องกัน ส่วนการจับกุมคนร้าย พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผบช.น. ได้เร่งรัดฝ่ายสืบสวน ให้ติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดี

พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ กล่าวต่อว่า พื้นที่ต้องกวดขันดูแลมากที่สุด คือ ฝั่งธนบุรี เพราะเกิดเหตุมากที่สุด บก.น.9 จำนวน 166 คดี บก.น.8 จำนวน 73 คดี จากคดีทั้งหมด 275 คดี ชุดสืบสวนได้เบาะแสคนร้ายพบว่ามีหลากหลาย บางจุดก็เป็นกลุ่มเดียวกัน

เบื้องต้นผู้ก่อเหตุมีทั้งหมด 3 กลุ่ม ส่วนจะก่อเหตุเกี่ยวพันคดีที่เกิดขึ้นพื้นที่บช.ภ.1 และบช.ภ.7 หรือไม่อยู่ระหว่างประสานข้อมูล นอกจากนี้จะสอบถามบริษัทอื่นนอกจากบริษัท เอเจฯ ว่ามีตู้ถูกประทุษร้ายจำนวนเท่าใดรวมถึงพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อนำมาเป็นข้อมูล

ทั้งนี้บริษัทต้องแจ้งที่ตั้งตู้ว่าอยู่ที่ใดบ้าง เนื่องจากตำรวจแทบไม่ทราบจุดติดตั้งเลย ทางบริษัทก็ทำประกันภัยเมื่อถูกทุบประภัยก็จ่ายค่าเสียหาย จึงไม่มีความระมัดระวังเท่าที่ควร บริษัทต้องช่วยด้วยตู้ที่มีจำนวนมากตำรวจไม่สามารถดูแลทั่วถึง จึงต้องหามาตรการร่วมกันบริษัทต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

อย่างไรก็ตามถือเป็นหน้าที่ตำรวจในการป้องกันและติดตามจับกุมตัวคนร้าย เบื้องต้นบก.น.9 รายงานว่าจับกุมผู้ต้องหาได้ 1 รายแล้วเป็นคนไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน