ศาลจำคุก”เณรคำ” อ่วม114 ปี ฉ้อโกงเงินบริจาค

ใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อส่วนตัว โดนยึดทรัพย์ 43ล้าน คดี”ชำเราเด็กหญิง” นัดชี้ชะตาเดือนตค.

พิพากษาสั่งจำคุก 114 ปี “เณรคำ” คดีฉ้อโกงเงินบริจาคของประชาชน แต่รับโทษจริงได้สูงสุด 20 ปี ศาลสั่งชดใช้เงินผู้เสียหายด้วย เหตุอ้างว่านิมิตพบพระอินทร์ขอระดมบริจาคสร้างพระแก้วมรกต แต่นำไปใช้ฟุ้งเฟ้อส่วนตัว ซื้อรถหรู-เครื่องบิน เผยก่อนหน้านี้ ศาลแพ่งยังสั่งยึดทรัพย์สินกว่า 43 ล้านมาแล้ว เพราะชี้แจงที่มาไม่ได้ ด้าน เจ้าตัวหยอกล้อกับศิษย์ที่มาให้กำลังใจให้ไปอยู่ด้วยกันในคุกได้ มีที่ว่างเยอะ บอกไม่ลำบากไม่ทุกข์ แถมมีเพื่อนเป็นเจ้าคุณระดับรองสมเด็จ-อดีตผอ.สำนักพุทธฯ

เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 9 ส.ค. ที่ห้องพิจารณา 713 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.2341/2560 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวิรพล สุขผล อายุ 39 ปี หรืออดีตพระวิรพล ฉัตติโก หรืออดีตหลวงปู่เณรคำ อดีตประธานสงฆ์สำนักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ที่สหรัฐอเมริกาส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมาได้เมื่อปี 2560 เป็นจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (1) (2), 60

คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 – 27 มิถุนายน 2556 ต่อเนื่องกัน จำเลยอาศัยความเป็นพระภิกษุ ในฐานะประธานสงฆ์วัดป่าขันติธรรม จ.ศรีสะเกษ และความศรัทธาของประชาชน ได้บังอาจหลอกลวงว่า จำเลยนิมิต (ฝัน) พบองค์อินทร์ขอให้สร้างพระแก้วมรกตองค์ใหญ่ที่สุดในโลก และสร้างมหาวิหารครอบองค์พระ

โดยใช้หยกเขียวแท้จากประเทศอิตาลี, สร้างเครื่องทรงพระแก้ว 3 ฤดูด้วยทองคำแท้, ก่อสร้าง เสาวิหารแก้ว 199 ต้น ต้นละ 3 แสนบาท, รูปหล่อพระทองคำ (รูปเหมือนจำเลย) ก่อสร้าง วิหารสำหรับประชาชนที่วัดป่าขันติธรรม สาขา 1 จ.อุบลราชธานี, สร้างวัดที่ จ.สุพรรณบุรี รวมทั้งการจัดซื้อเรือจากสหรัฐ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยจำเลยประกาศชักชวนให้ประชาชน นำเงิน ทองคำ และทรัพย์สินมาบริจาคกับจำเลย ที่วัดป่าฯ โดยจัด ตู้บริจาค 8 ตู้


นอกจากนี้ จำเลยยังได้ใช้เว็บไซต์ www.luangpunenkham.com เผยแพร่ข้อความ อันเป็นเท็จเกี่ยวกับการจัดสร้างสิ่งต่างๆ จนมีผู้เสียหาย 29 ราย (เฉพาะที่มาร้องทุกข์) หลงเชื่อว่าจำเลยเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เข้าร่วมบริจาคเงินและทรัพย์สินต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 28,649,553 บาท แล้วจำเลยโอนเงิน 1,130,000 บาท ที่ได้จากการฉ้อโกงไปซื้อรถยนต์โดยทุจริต ทั้งที่ความจริงแล้วจำเลยมิได้ก่อสร้างใดๆ เลย เหตุเกิดที่ จ.ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี เชียงใหม่ และที่อื่นเกี่ยวพันกัน ชั้นพิจารณาจำเลยให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี

วันเดียวกันนี้ศาลเบิกตัวอดีตพระเณรคำ ซึ่งถูกคุมขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯมาศาล เนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัว

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบหักล้างกันแล้ว โจทก์มีพนักงานสอบสวนเบิกความทำนองเดียวกันว่า ได้ตรวจสอบการนำข้อความเข้าสู่เว็บไซต์หลวงปู่เณรคำ มีใจความว่าจำเลยนิมิตพบพระอินทร์ ให้สร้างพระแก้วมรกตองค์ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เมื่อ มีการตรวจสอบพิสูจน์แล้วพบว่าใช้หินอ่อนหินปูนในการก่อสร้าง ไม่ใช่หินหยกจากอิตาลี ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง

จากการสอบปากคำพยานหลายคน พบว่าจำเลยได้เทศนาในหลายสถานที่เรื่องการให้สร้างพระแก้วมรกต บางราย อ่านหนังสือชีวประวัติจำเลย ทำให้เชื่อว่าจำเลย เป็นผู้มีบุญ พบพญานาคเทวดา สามารถเดินจงกรมบนน้ำหรือในอากาศได้ ซึ่งนักวิชาการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เห็นว่าเป็นการอวดอุตริมนุสธรรม ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริง ทั้งยังถูกสอบกรณีมีพฤติกรรมเสพเมถุน ดังที่เจ้าอาวาสมีคำสั่งให้ปาราชิก ซึ่งพ้นความเป็นสงฆ์ตั้งแต่ครั้งแรกที่เสพเมถุน ทั้งหมดเป็นหลักฐานสำคัญว่าไม่ใช่พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

ขณะที่ผู้เสียหายเบิกความยืนยันเหตุที่ ร่วมทำบุญกับจำเลย เพราะมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ปฏิบัติดี มีปาฏิหาริย์ เป็นพระอรหันต์ จึงมีจิตศรัทธาบริจาคให้โดยไม่คิดว่าจะถูกหลอก โดยการบริจาคมีทั้งมอบให้จำเลยโดยตรง โอนเงินผ่านบัญชี หรือหยอดตู้บริจาค ต่อมาพบว่าจำเลยใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยปราศจากเหตุผล ซื้อเครื่องบินส่วนตัว รถยนต์หรู อาทิ ปอร์เช่ บีเอ็มดับเบิลยู โตโยต้าคัมรี่ และรถตู้รวมหลายสิบคัน บางคันมีมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท โดยรถระบุชื่อจำเลยเป็นเจ้าของ มีพยาน หลักฐานการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก 23 บัญชี พยานบุคคลเบิกความตามที่รู้เห็น พยานเอกสารสามารถตรวจสอบได้ ผู้เสียหาย มีศรัทธาในพุทธศาสนา เคยกราบไหว้จำเลย เชื่อได้ว่าไม่มีเจตนาใส่ร้ายจำเลย

ส่วนทรัพย์สินที่จำเลยนำไปใช้ส่วนตัวนั้น ภายหลังศาลแพ่งได้พิพากษาให้ยึดทรัพย์สินจำนวน 43,478,992 บาท เป็นพยานหลักฐานสำคัญว่านำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งจำเลยก็มิอาจนำสืบให้เห็นได้ว่าที่มาของทรัพย์สินนั้นมาจากไหนอย่างไร และที่จำเลยอ้างว่า มีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรถยนต์ที่แท้จริง แต่ใช้ชื่อจำเลย เพราะรู้จักกับโชว์รูม จ.สระแก้ว จึงซื้อได้ในราคาต่ำนั้น จำเลยก็ไม่มีบุคคล ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของรถมาเบิกความสนับสนุน และที่อ้างใช้ในภารกิจสงฆ์นั้นก็ไม่จำเป็นต้องใช้ถึงหลายสิบคัน

จำเลยสู้ว่าไม่ได้กระทำผิด พ.ร.บ.คอม พิวเตอร์ฯ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อมูลเข้าสู่เว็บไซต์หลวงปู่เณรคำนั้น ศาลเห็นว่าการใช้ชื่อเว็บไซต์ตรงกันกับชื่อจำเลย มีข่าวสารของจำเลยและวัดเป็นหลัก เผยแพร่ข้อความว่าจำเลยพบพระอินทร์ตรงกันกับที่จำเลยเทศนาในที่ต่างๆ ไม่มีหลักฐานปฏิเสธว่าจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จำเลยสู้ว่าการได้พบพระอินทร์เป็นนิมิต ซึ่งเรื่องพระอินทร์ก็เป็นสิ่งที่เล่ากันมานานแล้ว ไม่ได้หลอกลวงนั้น

ศาลมิได้พิจารณาเรื่องการนิมิตว่าเป็นเท็จหรือไม่ แต่การกระทำของจำเลยที่นำเรื่องดังกล่าวมา บอกกล่าวกับประชาชนที่ให้ความนับถือจำเลย ซึ่งขณะนั้นเป็นพระสงฆ์ เป็นการอ้างโดยเจตนา ให้บริจาคเงิน แต่ไม่ได้นำไปก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างตามที่จำเลยอ้าง โดยการบริจาคของประชาชนนั้นก็สืบเนื่องจากที่เห็นว่าจำเลยเป็นพระสงฆ์ไม่น่าจะนำเงินไปใช้ในประการอื่น ในฐานะพุทธศาสนิกชนก็บริจาคเพื่อทะนุบำรุงพระศาสนา

การกระทำของจำเลยจึงเป็นการอ้างเท็จเพื่อให้ได้ทรัพย์สินจากบุคคลและผู้เสียหาย ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชน และภายหลังจำเลยได้นำเงินบริจาคไปใช้จ่ายเกินความจำเป็นกับความเป็นสงฆ์ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ในการทำบุญ อ้างเป็นทรัพย์สินส่วนตัวมิได้ เข้าข่ายแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

ส่วนประเด็นความเสียหายนั้น ที่จำเลย อ้างว่าไม่รู้ว่าผู้เสียหาย 29 ราย บริจาคเงินมาเท่าไหร่ ไม่มีหลักฐานเป็นใบอนุโมทนา ซึ่งแต่ละสถานที่มีตู้รับบริจาคไว้ ศาลพิเคราะห์แล้วเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการหลอกลวงให้ผู้เสียหายทั้ง 29 ราย หลงเชื่อจนมีการบริจาค และเป็นธรรมดาที่ผู้เสียหายบางรายจะนำเงินใส่ตู้ ซึ่งถือเป็นประจักษ์พยานแล้ว ข้อต่อสู้ทั้งหมดของจำเลยมีแต่การกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟัง การกระทำของจำเลย เป็นความผิดตามโจทก์ฟ้อง

พิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (1) (2), 60 การ กระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป

ให้จำคุกฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 รวม 29 กระทง กระทงละ 3 ปี รวม 87 ปี, พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) เป็นเวลา 3 ปี และความผิดฐานฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวม 12 กระทง กระทงละ 2 ปี เป็นเวลา 24 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 114 ปี แต่ตามกฎหมายเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว จำคุกได้สูงสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) เป็นจำคุก 20 ปี พร้อมให้ชดใช้เงินกับผู้เสียหายกับ 29 ราย ตามจำนวนที่ได้ฉ้อโกงไป

ส่วนที่อัยการโจทก์ขอให้นับโทษต่อจากคดีหมายเลขดำ อ.2340/2560 ที่ถูกฟ้องข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงนั้น ศาลอาญายังไม่มีคำพิพากษาในขณะนี้ จึงให้ยกคำขอนับโทษต่อ (สำหรับคดีกระทำชำเราเด็กหญิงนั้น ศาลอาญา จะนัดพิพากษาในเดือนตุลาคมนี้)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศวันนี้ก่อนศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา เมื่ออดีตพระเณรคำถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวเข้าห้อง พิจารณา ได้ทักทายญาติและลูกศิษย์จำนวนหนึ่งที่เดินทางมาให้กำลังใจ โดยสอบถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง วันตัดสินตนก็สบายใจไม่ได้ทุกข์อะไร ทั้งยังคุยหยอกล้อกับลูกศิษย์ว่าไปอยู่ได้นะ ในคุกที่ว่างเยอะ ข้างในไม่ลำบาก หลวงให้กินฟรีเหมือนอยู่วัด

ข้างในก็มีอดีตลูกศิษย์ไปฟังเทศน์ คนในคุกไม่น่ากลัวเหมือน นอกคุก ไม่ต้องห่วง เป็นช่วงหนึ่งของชีวิตได้เรียนรู้ ทุกข์มากเสียความรู้สึก จะพิพากษาติดคุกหลายปีหรือวันเดียวถ้าใจไม่ทุกข์ก็ไม่ทุกข์ อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ในคุกนอกคุกไม่ต่างกัน มีเพื่อนเยอะทั้งเจ้าคุณชั้นพรหม รองสมเด็จ และอดีตผู้อำนวยการพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน