เจ้าหน้าที่ระดมสุนัขกู้ภัยเร่งค้นหา 2 ผู้ติดอยู่ใต้ซากอาคาร 8 ชั้น ในซอยสุขุมวิท 87 เป็นวันที่ 2

ขณะที่ญาติจุดธูปขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้มีปาฏิหาริย์ ทหารนำเครื่องเรดาร์ไลฟ์โลเกเตอร์ ตรวจสอบพบลมหายใจของสิ่งมีชีวิตใต้ซากตึก เลขาธิการสภาวิศวกรฯชี้อาคารสร้างเป็นแบบไม่มีคาน การรื้อถอนต้องมีอุปกรณ์รองรับน้ำหนัก ไม่เช่นนั้นจะพังถล่มลงมา เช่นนี้ ขณะที่ผบช.น. เผยดำเนินคดีแล้ว 2 ราย วันที่ 19 ธ.ค.นี้ เจ้าของบริษัทรับเหมารื้อถอนและวิศวกรจะเข้ามอบตัว

เมื่อเวลา 01.30 น. วันที่ 17 ธ.ค. ที่อาคารไทยยานยนตร์ มิตซู จำกัด สาขาสุขุมวิท 87 เลขที่ 2225 ซอยสุขุมวิท 87 ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กทม. ซึ่งเกิดเหตุพังถล่มลงมาในระหว่างการรื้อถอนทำให้มี ผู้เสียชีวิต 2 ราย และสูญหายอีก 2 รายคือ นายบุญแจ้ง เลศละออง อายุ 46 ปี และ นายไพร คะนุนรัมย์ อายุ 38 ปี เหตุเกิดเมื่อช่วงสาย วันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตลอดคืนที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยป่อเต็กตึ๊ง เร่งระดมค้นหาผู้สูญหายติดภายในซากตัวอาคารดังกล่าว ที่เหลืออีก 2 รายอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำรถเครนขนาดใหญ่มาคอยยกซากอาคารเพื่อเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่เข้าค้นหา ขณะเดียวกัน ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการนำสุนัขดมกลิ่น เค9 จำนวน 3 ตัวช่วยค้นหา กระทั่งสามารถระบุพิกัดที่คาดว่าผู้สูญหายติดอยู่บริเวณลานจอดรถ ฝั่งปีกขวาภายในซากของตัวอาคาร เนื่องจากสุนัขดมกลิ่นและเพื่อนร่วมงานที่ทำงานด้วยกันที่หนีออกมาได้ให้การยืนยันใกล้เคียงกับจุดที่สุนัขดมกลิ่นเจอ อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ยังพบอุปสรรคเนื่องจากช่องที่เจ้าหน้าที่เจาะเข้าไปภายในซากอาคารมีแผ่นคอนกรีตและเหล็กเส้นขนาดใหญ่ขวางอยู่ถึง 3 แผ่น โดยแต่ละแผ่นมีความหนาประมาณ 30 ซ.ม. ทำให้ทางเจ้าหน้าที่และวิศวกรต้องประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้งก่อนที่จะยุติการใช้เครื่องมือหนัก อาทิ รถเครน สว่านขุดเจาะ รวมไปถึงเครื่องกระแทก ที่อาจส่งผลถึงโครงสร้างตัวอาคารที่จะถล่มลงมาได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่ทาง เจ้าหน้าที่วางแผนเตรียมค้นหาอีกรอบ ได้มีนางน้อย เลศละออง อายุ 44 ปี ภรรยานายบุญแจ้ง ผู้ที่สูญหายได้นำธูป 8 ดอกมากราบไหว้เจ้าที่เจ้าทางเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถพบสามีตนโดยเร็ว ด้วยความหวังที่มีอยู่เพียงริบหรี่ แต่เจ้าตัวก็ยังคงเฝ้ารอด้วยความหวังจะได้พบสามีอีกครั้ง

ส่วนน.ส.ชัน พิลาดรัม อายุ 39 ปี ผู้บาดเจ็บและเป็นภรรยาของนายไพรซึ่งเป็นผู้สูญหายอีกรายเล่าว่า ก่อนเกิดเหตุตนกำลังนั่งตัดเหล็กเส้นอยู่บริเวณด้านล่าง ส่วนสามีเดินขึ้นไปดูรถแบ๊กโฮที่อยู่บนชั้น 4 ในระหว่างนั้นก็มีเศษหินและปูนหล่นลงมาพร้อมกับพื้นชั้นบนทั้งหมดถล่มลงมา ตนจึงรีบวิ่งหนีเพื่อเอาชีวิตรอด ซึ่งตนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจมูกฉีกขาดแต่แพทย์ได้ทำแผลเรียบร้อยแล้ว ส่วนนายไพรสามียังหาร่างไม่เจอ ได้แต่เพียงหวังว่าขอให้มีชีวิตรอดแต่หากไม่เป็นไปอย่างที่หวังก็ขอเพียงให้เจ้าหน้าที่นำร่างออกมาให้ได้ ทั้งนี้ ตนและนายไพรอยู่กินกันมานาน 8 ปี มีลูกสาวด้วยกัน 2 คน อายุ 15 ปีและ 18 ปี ซึ่งได้ฝากให้พ่อแม่ตนเลี้ยงที่จังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนตนกับนายไพรก็จะทำงานและส่งเงินไปให้ ซึ่งหลังจากนี้หากสามีซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวไม่รอดชีวิต ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปเช่นกัน

ต่อมาเวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่ตั้งศูนย์อำนวยการ ติดตามผู้ที่สูญหายภายใน อาคาร โดยมีพ.ต.อ.ดร.บัณฑิต ประดับสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย ในอาคารจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมทีมสภาวิศวกร นายภัทรุฒิ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมประชุม จากนั้นคณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณความเสียหายของอาคารที่ทรุดตัวลงมา

นายภัทรุฒิ เปิดเผยว่าขณะนี้ต้องค้นหา ผู้สูญหายอีก 2 ราย หลังเกิดเหตุ โดยเราต้องใช้ความระมัดระวังทั้งผู้ที่สูญหายและผู้ที่ปฏิบัติงานค้นหาด้วย เพราะขณะนี้ยังมีแผ่นปูนขนาดใหญ่ ที่ด้านข้างพร้อมจะร่วงลงมา โดยจะใช้ลวดสะลิงเข้าไปขึงแผ่นปูนเพื่อยึดกับอาคารให้เกิดความปลอดภัยในขณะปฏิบัติงาน อุปสรรคการค้นหาขณะนี้ก็คือซากวัสดุของอาคารที่กองทับถมกันอยู่หลายชั้น โดยใช้กล่องสอดลงไปบริเวณจุดที่สุนัขกู้ภัยส่งสัญญาณ และรื้อแผ่นปูนตรงบริเวณนั้น

ขณะที่ ศ.ดร.อมร เผยว่า สำหรับการรื้อถอนอาคารที่สูงเกิน 3 ชั้นขึ้นไป จะต้องมีวิศวกรควบคุมการออกแบบ และการรื้อถอน เนื่องจากขั้นตอนของการรื้อมีความสำคัญ รวมถึงเครื่องมือและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ อาคารดังกล่าวเป็นโครงสร้างไร้คานที่เสริมสะลิงเข้าไป ซึ่งมีความอ่อนแอกว่าอาคารที่มีเสาคานรับน้ำหนัก หากไม่มีความชำนาญในการรื้อถอนเมื่อพื้นอาคารถูกทำลายไปโดยไม่มีอุปกรณ์รองรับน้ำหนัก ก็จะทำให้พังถล่มลงมาเหมือนเช่นอาคารนี้

ขณะที่ศ.ดร.สุชัชวีร์ เผยว่า ตอนนี้ตั้งหน่วยวิศวกรอาสาขึ้นมาเพื่อเข้าไปสนับสนุนในที่เกิดเหตุ ให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้ที่ติดอยู่ในอาคารที่ถล่ม เพื่อที่จะได้ชี้จุดได้ว่าจุดไหนปลอดภัยหรือมีความเสี่ยงกับผู้ปฏิบัติงาน เพราะทุก ขั้นตอนจะต้องใช้ความระมัดระวังเนื่องจากทุกเหตุการณ์มีความคาดหวังว่าจะมีผู้รอดชีวิต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานเขตพระ โขนง ได้นำประกาศ เรื่องห้ามเข้าพื้นที่อันตรายมาติดที่หน้าอาคาร โดยระบุว่าด้วยเกิดเหตุอาคารที่อยู่ระหว่างการอนุญาต รื้อถอนจากกรุงเทพฯเลขที่ 2221 ซอยสุขุมวิท 87 แขวงบางจากเขตพระโขนง ทรุดตัวและพังถล่มลงมาเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บและอาคารดังกล่าวยังอาจไม่ปลอดภัย กับบุคคลและอาคารรอบข้างอาศัยอำนาจ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 21 ( 5) ผู้อำนวยการเขตพระโขนงขอประกาศให้บริเวณ อาคารดังกล่าว เป็นสถานที่อันตรายห้ามคนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณอาคารทั้งนี้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปประกาศวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ลงชื่อนางวิมลรัตน์ เศรษฐนันต์ ผู้อำนวยการเขตพระโขนง

ต่อมาเวลา 13.30 น. พ.อ.เมธี ไตลังคะ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกบรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ได้นำเครื่องเรดาร์ไลฟ์โลเกเตอร์ ที่สามารถกระจายสัญญาณเรดาร์ ลงตรวจหาผู้ที่ติดอยู่ภายใน ก่อนพบความถี่สิ่งมีชีวิตทั้ง 2 จุด ที่ได้รับแจ้งว่าอาจมีผู้ติดอยู่ภายใน โดยในจุดที่ 1 เป็นจุดที่ทางเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เจาะเพื่อตรวจสอบว่ามีผู้ติดอยู่หรือไม่ เจ้าหน้าที่สแกนทั้งสิ้น 3 ครั้ง ในความลึก 7-8 เมตร ครั้งที่ 1 ไม่พบสัญญาณสิ่งมีชีวิต ครั้งที่ 2 พบว่ามีสัญญาณลมหายใจของสิ่งมีชีวิต อัตราลมหายใจ 22 ครั้ง/นาที และครั้งที่ 3 สามารถตรวจเจออัตราลมหายใจของสิ่งมีชีวิตได้ 31 ครั้ง/ต่อนาที จุดที่สองเป็นจุดที่สุนัขกู้ภัยดมกลิ่นและคาดว่ามี ผู้ติดอยู่ภายใน โดยตรวจทั้งสิ้น 3 ครั้งเช่นกัน แต่ไม่พบสัญญาณสิ่งมีชีวิต ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดล่อแหลม มีเศษปูน เศษอิฐ ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง จึงอาจกระทบกับตัวเครื่องจนทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ ทั้งนี้เครื่องเรดาร์ดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ทั้งจากแรงสั่นสะเทือน คลื่นจากโทรศัพท์มือถือ คลื่นวิทยุสื่อสาร ดังนั้นขณะที่ตรวจหา เจ้าหน้าที่จึงขอความร่วมมือให้ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ปิดโทรศัพท์มือถือและวิทยุ ซึ่งผลก็ทำให้พบสัญญาณของสิ่งมีชีวิต แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตแบบใดกันแน่ ทำให้ยังมีความหวังในการค้นหา

ต่อมา พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. เดินทางมาที่เกิดเหตุอีกครั้ง ก่อนเผยรายละเอียดเกี่ยวกับคดีว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระโขนง สอบปากคำพยานไปแล้ว 14 ปาก รวมทั้งญาติผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิต อีกทั้งยังมีการประสานสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยละเอียด และจะดำเนินการออกหมายจับ อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้แจ้งข้อหาแล้ว 2 รายคือนายกฤตัชญ ศรีวรรณา ผู้รับเหมา และนายสุทธิศักดิ์ ศรีวรรณา กรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการ บริษัท เมกกะทู ในข้อหา กระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งได้นำตัวส่งศาลไปเมื่อช่วงเช้าที่ผ่าน แต่ทั้ง 2 รายได้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวจำนวน 120,000 บาท และในวันที่ 19 ธันวาคม เวลา 11.00 น. นายกิตติพงศ์ อยู่ใต้ร่มบุญ วิศวกร และนายมานะ แก้วมณี กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทบอยโอเชี่ยน สตาร์ จำกัด ซึ่งรับเหมารื้อถอนอาคาร จะเข้ามอบตัวกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่ยังคงพยายามเจาะเข้าไปให้ถึงจุดที่คาดว่าจะมีผู้ติดอยู่ แต่ถึงขณะนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ล่าสุดเมื่อเวลา 18.00 น. เจ้าหน้าที่ยังคงระดมการค้นหาผู้สูญหายทั้ง 2 รายอย่างต่อเนื่อง โดยนายวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เจ้าหน้าเจาะพื้นคอนกรีตที่มีความกว้าง 1X1 เมตร เป็นจุดที่มีรถแบ๊กโฮจอดพลิกตะแคงอยู่ด้านล่าง และกำลังขยายพื้นให้กว้างขึ้นเพื่อส่งเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ทางการแพทย์ลงไปช่วยเหลือผู้สูญหาย แต่พบว่ามีกลิ่นน้ำมันลอยออกมา คาดว่าน้ำมันภายในรถแบ๊กโฮอาจจะ รั่วไหล ทำให้ไม่สามารถใช้อุปกรณ์ในการเจียตัดคอนกรีตได้ เนื่องจากอาจเกิดประกายไฟ

นายวัลลภกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ได้ใช้ลวดสะลิงดึงแผ่นคอนกรีต2แท่ง น้ำหนัก 15 ตัน ที่เสี่ยงต่อการตกลงมาที่บริเวณชั้นบน จำนวนสองเส้น เพื่อความปลอดภัยในการทำงานของทีมกู้ชีพ เพราะหากเกิดแรงสั่นสะเทือนอาจทำให้แผ่นคอนกรีตตกลงมาได้ จนทำให้เกิดอันตรายกับทางเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้จะลงมือทำงานกันทั้งคืนจนกว่าจะพบผู้สูญหาย และขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันทำงานในครั้งนี้

ขณะเดียวกันแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า สัญญาณชีพที่ตรวจพบก่อนหน้านี้ ที่มีอัตราลมหายใจ 31 ครั้ง/นาที เป็นไปได้ว่าผู้สูญหายอาจยังมีชีวิตอยู่

ต่อมาเวลา 20.40 น. นายวัลลภเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ได้พยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ในการช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ด้านล่าง แต่ขอแสดงความเสียใจที่เราไม่สามารถที่จะช่วยชีวิตไว้ได้ โดยพบว่าได้เสียชีวิตมาแล้ว สักระยะ อย่างไรก็ตาม จะยังคงค้นหาผู้ที่สูญหายอีกรายต่อไป ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่มืดและคับแคบ โดยจะพยายามขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้น เพื่อจะนำเอาร่างของผู้เสียชีวิตออกมา ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันชื่อ ของผู้เสียชีวิตที่พบได้ ส่วนการที่ทางทหารใช้เครื่องมือตรวจพบสิ่งมีชีวิต นายวัลลภกล่าวว่าคลื่นดังกล่าวก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าสิ่งมีชีวิตที่ตรวจพบนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใด เป็นคนหรืออาจเป็นสิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งกทม.ยืนยันว่าจะดำเนินการค้นหาคนที่เหลือต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน