ปราจีนบุรีอ่วม น้ำป่าเขาใหญ่ ทะลักท่วมหนัก หลังมีฝนตกตลอดคืน ชาวบ้านประจันตคามอพยพเก็บข้าวของหนีวุ่นกลางดึก ถนนถูกน้ำท่วมสูง 1 เมตรโรงเรียนต้องปิดเรียนกะทันหัน “บิ๊กฉัตร” ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ นั่ง ฮ. ตรวจการระบายน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ และ วชิราลงกรณเพิ่มเติม สั่งเจ้าหน้าที่บริหารจัดการน้ำให้ดี

ฝนถล่ม-ขอนแก่นจม
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จ.ขอนแก่น เกิดฝนตกลงมาเมื่อคืนที่ผ่านมา ส่งผลทำให้มีน้ำท่วมขังบนผิวจราจรถนนมะลิวัลย์ ขาเข้าเมืองขอนแก่น สูงราว 20 ซ.ม. การสัญจรบริเวณดังกล่าวต้องลดความเร็ว ทำให้มีรถติดยาว

นายมนูญ โดะโอย ผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียง เหนือตอนบน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำ ปกคลุมบริเวณประเทศลาว ตอนบนส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน จะมีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 4-5 ก.ย. ในพื้นที่จ.เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนตกสะสมที่อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะจังหวัดริมแม่น้ำโขง ขอให้ประชาชนได้ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด

น้ำป่าเขาใหญ่ทะลักท่วมปราจีนฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดคืนที่ผ่านมา มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จ.ปราจีนบุรี โดยเฉพาะอ.ประจันตคาม ฝนตกถึงช่วงเช้า เกิดน้ำป่าไหลจากเทือกเขาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนนับร้อยหลังคาเรือน พื้นที่ 3 ตำบล คือต.บุฝ้าย ต.คำตะโนด ต.หนองแก้ว รวมทั้งหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นบ้านประเถท, บ้านเกาะยายมอย, บ้านหนองกระโดน และโรงเรียนบ้านประเถท

เมื่อเวลา 02.00 น. เกิดน้ำป่าไหลหลากจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มรดกโลกที่อยู่ทางทิศเหนือไหลล้นคลองประเถทเข้าท่วมบ้านเรือนที่บ้านโคกกรวด หมู่ 7 ต.โพธิ์งาม อ.ประ จันตคาม ชาวบ้านต่างแตกตื่น ต้องขนของหนีน้ำกันจ้าละหวั่น โดยนายไพศาล ศิริอรุณปัญญา เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลโพธิ์งาม อ.ประจันต คาม พร้อมเจ้าหน้าที่เข้าช่วยขนของหนีน้ำ

นอกจากนี้น้ำท่วมถนนในพื้นที่บ้านประเถทหมู่ 8, หมู่ 11 และบ้านโคกกรวด หมู่ 7 ระดับน้ำกว่า 1 เมตร แต่รถยังผ่านเข้าออกได้ ยกเว้นรถขนาดเล็ก ส่วนพื้นที่ต.บุฝ้าย หมู่บ้านริมคลองประจันตคาม น้ำเอ่อท่วมพื้นที่หมู่ 7, 10, 3 และหมู่ 13

นายไพศาลกล่าวว่า รับแจ้งเหตุเมื่อเวลา 02.00 น. จึงนำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือประชาชนทันทีเพื่อความปลอดภัย สาเหตุน้ำป่าไหลหลากครั้งนี้เนื่องจากช่วงหัวค่ำ มีฝนตกเป็นเวลานาน จึงเกิดน้ำท่วม ฉับพลัน ระดับน้ำท่วมสูง 70-80 ซ.ม.

ด้านนางไข่ ใจแข็ง อายุ 76 ปี อยู่เลขที่ 33 บ้านโคกกรวด หมู่ 7 ต.โพธิ์งาม กล่าวว่า ขณะนอนหลับอยู่ในบ้านได้ยินเพื่อนบ้านบอกน้ำมาๆ จึงตกใจตื่น รีบปลุกลูกๆรีบขนของขึ้นชั้นสอง ชาวบ้านนับสิบหลังคาเรือน เร่งรีบเก็บข้าวของหนีน้ำจ้าละหวั่น เนื่องจากน้ำเพิ่มสูงขึ้นๆและเร็วมาก ระดับน้ำท่วมสูง 1 เมตรเศษ บางพื้นที่ซึ่งประชาชนเร่งขนของหนีน้ำและเฝ้าระวังน้ำป่าที่อาจะเพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ เพราะฝนตกในพื้นที่เชิงเขาเป็นระยะๆ

ส่วนนายบันเทิง ปัญญาดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์งาม กล่าวว่า ได้รับรายงานมีน้ำป่าไหลหลากจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เข้าท่วมพื้นที่ต.โพธิ์งามหลายหมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านเขาน้อยหมู่ 11, บ้านโคกกรวด หมู่ 7 และกำลังไหลหลากข้ามถนนหมู่บ้านประตูดาน หมู่ 5 ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซ.ม. บนผิวถนน ลงพื้นที่หมู่ 6 บ้านอินไตรย์ หมู่ 12 บ้านโคกบ้าน

นายสำราญ จินดารัตน์ กำนัน ต.บุฝ้าย กล่าวว่า ช่วงเวลา 02.00 น. น้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไหลหลากจากน้ำตกตะคล้อระบายลงคลองประจันตคาม ส่งผลให้น้ำเหนือเขื่อนชลประทานคลองประจันตคาม หมู่ 9 ต.บุฝ้าย ไม่สามารถรองรับได้ จึงเปิดบานประตูระบายน้ำ 3 บานระบายลงคลองด้านล่าง และมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมหมู่บ้านริมคลองหมู่ 6,7,8,9,2 และหมู่ 13 ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 80 ซ.ม. เบื้องต้นระดมชาวบ้านช่วยกันขนย้ายสิ่งของหนีน้ำให้บ้านเรือนราษฎรกลางดึกที่หมู่บ้านนาแขม หมู่ 3 กว่า 9 ครัวเรือน

น้ำท่วมสูง 1 เมตร-สั่งปิดโรงเรียน
นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล นายอำเภอประจันตคาม พ.ต.อ.พงศ์พันษ์ พลวงศรี ผกก.สภ.ประจันตคาม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จิตอาสา และเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างบำเพ็ญธรรมสถานจุดประจันตคามเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ถูกน้ำท่วม ขนย้ายทรัพย์สินที่มีค่าหนีน้ำกันจ้าละหวั่น รวมทั้งคนชรา ผู้ป่วยสูงอายุติดเตียง เด็กเล็กมาไว้ยังที่ปลอดภัย ถนนสายหลักถูกท่วมสูงเป็นช่วงๆ ระดับน้ำสูงตั้งแต่ 50 ซ.ม. จนถึง 1 ม. น้ำเชี่ยวกรากและไหลแรง

ด้านนางสุทิน เมคา อายุ 60 ปี ชาวบ้านประเถท กล่าวว่า บ้านไม่เคยถูกน้ำท่วมมาก่อน มาครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ถูกน้ำท่วมจนขนย้ายสิ่งของหนีน้ำไม่ทัน เพราะน้ำมาตั้งแต่ตอนตี 4 สิ่งของถูกน้ำพัดหายไปกับน้ำจำนวนมาก ส่วนที่โรงเรียนบ้านประเถท เมื่อช่วงเช้ายังคงเปิดเรียนตามปกติ จากนั้นเมื่อเวลา 09.00 น. เอ่อล้นจากคลองประเถทเข้าท่วมพื้นที่โรงเรียนอย่างรวดเร็ว

ส่วนที่ร.ร.วัดประเถท สังกัดสำนักงานการศึกษาเขตพื้นที่ 1 สั่งปิดกะทันหัน เนื่องจากน้ำป่าหลากท่วมพื้นโรงเรียน และท่วมบ้านเรือนประชาชนมากกว่า 30 หลัง ประชาชนเร่งขนย้ายของหนีน้ำขึ้นที่สูงจ้าละหวั่น ตลอดรวมถึงสัตว์เลี้ยง เด็กนักเรียนที่เรียนในตัวเมืองจำนวนมากต้องหยุดเรียนเนื่องจากเส้นทางคมนาคมไม่สะดวก

นางจรัส ใยเยื่อ ผอ.ศูนย์ ปภ. เขต 3 ปราจีนบุรีมอบหมายส่วนสนับสนุนทรัพยากรกู้ภัย นำเรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ 2 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ร่วมกับเทศบาลและอำเภอประจันตคามออกปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเป็นการเร่งด่วน ในพื้นที่บ้านเกาะตาม้อย ม.7 ต.โพธิ์งาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี เนื่องจากมีฝนตกหนักติดต่อกัน ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลากและล้นตลิ่ง

นางอนงค์ สว่างแก้ว ชาวต.หนองแก้วกล่าวว่า น้ำท่วมเร็วมาก เก็บของหนีแทบไม่ทัน และน้ำยังคงเพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง โดยน้ำท่วมถนนทางเข้าบ้านประเถท ต.โพธิ์งาม สูง 20-25 ซ.ม.ระยะทางยาว 100 เมตรสองจุด เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์งาม, กู้ภัยร่วมกันช่วยเหลือประชาชนเต็มที่ และในหมู่บ้านนาแขม หมู่ 3 ต.บุฝ้าย ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 80 ซ.ม.รถขนาดเล็กเข้า-ออกไม่ได้

นอภ.ระดมช่วยเหลือชาวบ้าน
นายสุณัฐพงษ์ สุขสุมาร เจ้าหน้าที่โครงการแม่น้ำประจันตคาม ต.บุฝ้าย กล่าวว่า เมื่อคืนฝนตกหนัก ทำให้น้ำจากเทือกเขาใหญ่ไหลเข้าฝายจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเปิดประตูระบายน้ำออกทั้ง 3 ประตูระบายน้ำ คาดว่าเย็นวันที่ 5 ก.ย. จะลดการระบายน้ำออกระดับปกติ

ด้านนายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล นายอำเภอประจันตคาม กล่าวว่า ตนออกตรวจสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ต.โพธิ์งาม พบน้ำท่วมในหมู่ที่ 7,11,8 โดยเป็นน้ำป่าหลากมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของพื้นที่ หลังมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ส่วนการดูแลช่วยเหลือ หน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 3 นำเรือท้องแบนมาแจกจ่ายให้ประชาชนเข้า-ออกหมู่บ้านตลอดรวมใช้บรรทุกคนชรา, ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงนำมาไว้ที่บ้านญาติ พร้อมนำถุงยังชีพไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

“บิ๊กฉัตร”เรียก 3 ผู้ว่าฯแจงจัดการน้ำ
วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในจ.กาญจนบุรี ว่า เนื่องจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งคือเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิรา ลงกรณมีปริมาณน้ำค่อนข้างสูง ฝนที่ตกลงมาจากเทือกเขาตะนาวศรีบริเวณชายแดนประเทศเมียนมา ทำให้มีปริมาณน้ำเยอะ การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนทั้ง 2 แห่งจึงต้องประสานงานกันให้ดี เนื่องจากน้ำจากแม่น้ำแควน้อย และแควใหญ่ จะไหลมารวมกันที่ตัวเมืองกาญจนบุรี นอกจากนี้ ที่เขื่อนแม่กลอง ตนไม่อยากให้การระบายน้ำมีผลกระทบต่อตัวจังหวัด สำหรับ 3 จังหวัดที่จะได้รับผลกระทบจาก การปล่อยน้ำคือจ.กาญจนบุรี ราชบุรี และสมุทรสงคราม โดยบ่ายวันนี้ ตนเชิญผู้ว่าฯ มาประชุมรับทราบการบริหารจัดการน้ำ

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า เดือนก.ย.นี้ จากการพยากรณ์อากาศคาดว่ามรสุมที่พาดผ่านจะอยู่ตอนกลางของประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ 2 เขื่อนดังกล่าว ถือว่าเยอะมาก ต้องบริหารจัดการให้ดี และต้องให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้ระดับน้ำล้นตลิ่งไปท่วมบ้านของประชาชนที่อยู่ริมน้ำ ตนจะประชุมคณะใหญ่เพื่อติดตามสถานการณ์ทั้งหมดในวันที่ 14 ก.ย. เพราะกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าทุกอย่างจะชัดเจนตอนกลางเดือนก.ย.

ตรวจน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ
วันเดียวกัน เวลา 14.00 น. พล.อ.ฉัตรชัย พร้อมนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) นายทองเปลว ทองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และคณะนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปที่เขื่อนวชิรา ลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมพื้นที่การบริหารจัดการน้ำ โดยนายจีระศักดิ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าฯกาญจนบุรี นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผอ.เขื่อนวชิราลงกรณ และ นายประเสริฐ อินทับ ผอ.เขื่อนศรีนครินทร์ต้อนรับ

จากนั้นเดินทางไปยังห้องประชุมเขื่อน วชิราลงกรณ เพื่อหารือกับนายสมเกียรติ นายจีระศักดิ์ นายไววิทย์ และนายประเสริฐ เกี่ยวกับภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำ

จากนั้นรองนายกรัฐมนตรีและเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์บินตรวจสภาพลำน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนแม่กลอง ไปยังสำนักงานเขื่อนแม่กลอง ต.ม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี

ปภ.สรุปผลกระทบพายุ”เบบินคา”
ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อน “เบบินคา” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. – 5 ก.ย. ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งและดินถล่มในพื้นที่ 19 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน หนองคาย นครพนม บึงกาฬ เพชรบุรี สกลนคร ลพบุรี นครนายก ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ พิจิตร กาฬสินธุ์ อุบล ราชธานี และปราจีนบุรี รวม 103 อำเภอ 447 ตำบล 2,496 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 58,793 ครัวเรือน 171,018 คน ผู้เสียชีวิต 4 ราย

“สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ เชียงราย ลพบุรี พิจิตร และชัยภูมิ ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 9 จังหวัด 41 อำเภอ 191 ตำบล 1,250 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 27,323 ครัวเรือน 68,023 คน แยกเป็นลุ่มน้ำโขง 3 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย น้ำท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่อ.เมือง อ.ท่าบ่อ อ.โพนพิสัย อ.รัตนวาปี อ.ศรีเชียงใหม่ และอ.สังคม 32 ตำบล 132 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,640 ครัวเรือน 6,336 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มทรงตัว จ.บึงกาฬ น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองบึงกาฬ อ.บุ่งคล้า อ.โซ่พิสัย อ.ปากคาด อ.ศรีวิไล อ.บึงโขงหลง อ.เซกา และอ.พรเจริญ 44 ตำบล 371 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,038 ครัวเรือน 29,439 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าเสียหาย 41,338 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น”

นายชยพลกล่าวต่อว่า นครพนม น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีสงคราม อ.นาหว้า อ.นาทม อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.ธาตุพนม และอ.เมืองนครพนม 55 ตำบล 517 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,500 ครัวเรือน 22,422 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ลุ่มน้ำอูนและลุ่มน้ำสงคราม 1 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.คำตากล้า อ.นิคมน้ำอูน อ.พรรณานิคม อ.อากาศอำนวย และอ.บ้านม่วง 10 ตำบล 21 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 177 ครัวเรือน 477 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ลุ่มน้ำชี 2 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.กมลาไสย และอ.ฆ้องซัย 18 ตำบล 68 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 961 ครัวเรือน 1,873 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

จ.อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เขื่องใน และอ.เมืองอุบลราชธานี 11 ตำบล 57 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,161 ครัวเรือน 2,192 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ลุ่มน้ำปราจีนบุรี 2 จังหวัด ได้แก่ นครนายก น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองนครนายก และอ.บ้านนา รวม 5 ตำบล 17 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,251 ครัวเรือน 11,052 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ปราจีนบุรี น้ำท่วม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.กบินทร์บุรี อ.เมืองปราจีนบุรี อ.ศรีมหาโพธิ และอ.บ้านสร้าง 9 ตำบล 48 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 767 ครัวเรือน 1,840 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ลุ่มน้ำเพชรบุรี 1 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี น้ำท่วม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด และอ.บ้านแหลม 7 ตำบล 19 หมู่บ้าน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน