เขาเป็นใคร ? ตามหา The Chair Man หนุ่มใช้เก้าอี้ฟาด เหยื่อถูกแขวนคอ 6 ตุลา 19

หนุ่มใช้เก้าอี้ฟาด – ประชาไทรายงาน เรื่องที่ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ในเฟซบุ๊ก ความว่า ในเดือนกันยายน 2560 ฉันเขียนสรุปเรื่อง “ปริศนาความตายกรณี 6 ตุลา” ให้กับโครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ประเด็นหนึ่งที่กล่าวถึงคือภาพชายที่ถือเก้าอี้ฟาดใส่ร่างของเหยื่อที่ถูกแขวนคอ ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี 2520 ถ่ายโดยนีล อูเลวิช เป็นภาพเกี่ยวกับ 6 ตุลาที่มีคนเห็นมากที่สุดภาพหนึ่งจนทำให้ “เก้าอี้” ในมือของเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรง แต่ 40 ปีผ่านไป เรายังไม่รู้ว่าเขาคือใคร และมีน้อยคนที่สนใจถามว่าเขาคือใคร เราจึงขอเรียกเขาว่า the Chair Man ไปก่อน

ตามหา The Chair Man

ตามหา The Chair Man

ที่จริงความคิดที่จะตามหา the Chair Man (และผู้คนที่หัวร่ออยู่ในภาพ) เริ่มจาก อ.ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งได้เสนอไอเดียนี้ให้กับเดวิด นักทำหนังสารคดีชาวออสเตรเลียคนหนึ่ง แต่ความพยายามตามหาก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ส่วนตัวฉันเองเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หลังจากคิดจะทำหนังสารคดีรำลึกเหยื่อ 6 ตุลาสำหรับงาน 40 ปี 6 ตุลา ซึ่งก็ได้ปรากฏออกมาเป็นภาพยนตร์ “ด้วยความนับถือ” (Respectfully yours) มีคุณภัทรภร ภู่ทอง หรืออ้อ เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการตามหาญาติ ภัทรภรยังช่วยเดวิดสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ ด้วย

ในระหว่างที่ภัทรภรกับฉันพยายามตามหาญาติ เราจำเป็นต้องทำการบ้านด้วยการดูรูปและข้อมูลของเหยื่อให้มากที่สุด เปรียบเทียบรูปกับข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าใครเป็นใคร เพราะสำคัญต่อการตั้งคำถาม ยิ่งดูมากก็ยิ่งค้นพบรายละเอียดอื่น ๆ มากขึ้น และนำไปสู่ข้อสรุปที่ยืนยันได้ว่าในเช้าวันนั้นมีคนถูกแขวนคอที่สนามหลวงอย่างน้อย 5 คน และยังมีคำถามเพิ่มขึ้นอีกมากมาย https://doct6.com/archives/2665> ทำให้เราตระหนักว่าต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

แน่นอนว่าเรามองหา the Chair Man ด้วย เพราะอ.ธงชัย เคยบอกกับเราว่าชายผู้นี้ปรากฏอยู่ในฉากความรุนแรงหลายฉาก ภาพที่แนบมานี้ชี้ว่าเขาเกี่ยวข้องกับความตายอย่างน้อย 3 จุด คือในภาพของอูเลวิช, ภาพแขวนคอวิชิตชัย อมรกุล (นิสิตปี 2 รัฐศาสตร์ จุฬา) และภาพเผาศพ 4 คน อ.ธงชัยบอกว่าเคยเห็นภาพที่เขานั่งอยู่บนร่างของผู้หญิงที่ถูกเปลือยกายด้วย แต่เราหาไม่เจอ (หากท่านใดมีภาพดังกล่าว ขอความกรุณาช่วยส่งให้ทางโครงการด้วย) คำถามสำคัญก็คือ การที่คนๆเดียวกันปรากฏตัวเป็นผู้ร่วมก่อเหตุในการกระทำอัปลักษณ์ที่สุดหลายอย่างของเช้าวันนั้น หมายความว่าอะไร

เหตุการณ์ความรุนแรง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 19

เหตุการณ์ความรุนแรง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 19

นับตั้งแต่ต้นปี 2559 ที่ฉันเข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการ 6 ตุลา ฉันจำได้ว่าเมื่อปี 2554 ลูกชายของฉันซึ่งอยู่ชั้นม.2 เคยเล่าว่าครูสอนโขนที่โรงเรียนเล่าให้นักเรียนในชั้นฟังด้วยความภาคภูมิใจว่าตนเคยเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงต่อนักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลา ลูกบอกว่าครูคนนี้ก้าวร้าวหยาบคาย ชอบลงโทษด้วยการตี เด็กกลัวมาก ฉันฟังแล้วไม่ชอบเลย บวกกับลูกก็ไม่มีความสุขกับโรงเรียนนี้ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนชื่อดัง เด็กส่วนใหญ่เป็นลูกคนมีเงิน แต่เขาอยู่แค่เทอมเดียว ก็ลาออก ฉันจึงไม่ได้สนใจเรื่องนี้อีก

แต่เมื่อฉันเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสืบค้นเรื่อง 6 ตุลาตั้งแต่ปี 2559 พวกเราสนใจตามหาและสัมภาษณ์มวลชนฝ่ายขวาที่เกี่ยวข้องหรือเห็นความรุนแรงที่ท้องสนามหลวง ฉันจึงถามลูกว่าจำชื่อครูโขนได้ไหม เผื่อเขาจะยินดีให้สัมภาษณ์ และเราอยากรู้ว่าทำไมเขาจึงเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น เขาทำเอง หรือเป็นสมาชิกของกลุ่มไหน ฯลฯ

ลูกจำชื่อครูได้ เขาช่วยหาในอินเตอร์เน็ต แต่น่าเสียดายเมื่อพบว่าครูคนนั้นเพิ่งเสียชีวิตจากโรคร้ายเมื่อปี 2558 ข้อมูลที่ลูกหาให้ยังมีภาพใบหน้าของครูคนนั้นด้วย ฉันเอารูปให้คนในบ้านและภัทรภรช่วยดู ไม่มีใครยืนยันได้ว่าเขาคือ the Chair Man แม้ว่าจะมีโครงหน้าเหลี่ยม จมูกแบน กรามเป็นสันนูนคล้ายกัน ฉันเก็บเรื่องนี้ไว้ในใจและย้อนกลับไปดูรูปบ่อยๆ

จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนนำรูปที่เก็บไว้มามอบให้ภัทรภรเพื่อให้กับโครงการบันทึก 6 ตุลา หนึ่งในนั้นเป็นรูปหน้าตรงของ the Chair Man ซึ่งทำให้เห็นว่าโครงหน้าของครูคล้าย the Chair man มาก ฉันกับภัทรภรจึงหันมาตามเรื่องนี้กันอย่างจริงจังอีกครั้ง แต่ในที่สุด เราก็ได้ข้อสรุปว่าเป็นคนละคนกัน อย่างไรก็ตาม ฉันอยากบันทึกกระบวนการตามหาไว้ เพราะมันชี้ให้เห็นความเจ็บป่วยของคนอยู่ไม่น้อย

เหตุการณ์ความรุนแรง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 19

เหตุการณ์ความรุนแรง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 19

ฉันบอกกับภัทรภรว่าเราต้องตามหาข้อมูลจากโรงเรียน โชคดีมากที่ภัทรภรมีเพื่อนรุ่นน้องที่เพิ่งได้รับโปรเจคให้เขียนประวัติโรงเรียน เขาจึงเข้าถึงข้อมูลของโรงเรียนได้ เพื่อนของภัทรภรคนนี้เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียน เขาเล่าว่าครูคนนี้เคยถูกไล่ออกเพราะทำร้ายครูด้วยกันเอง แต่โรงเรียนก็รับกลับเข้ามาใหม่ ตัวเขาเองและรุ่นพี่รุ่นน้องหลายคนจำได้ดีว่าครูคนนี้ได้เล่าวีรกรรมของตนเองในวันที่ 6 ตุลาในห้องเรียน เช่น

เขาเป็นคน “เปิด” (ริเริ่ม) การแขวนคอที่สนามหลวง, เขาได้ช่วยสงเคราะห์นักศึกษาคนหนึ่งที่ถูกยิงแต่ยังไม่ตายให้พ้นทุกข์ ด้วยการใช้ก้อนอิฐทุบหัวจนตาย เป็นต้น ฉันเชื่อว่าเด็กทุกรุ่นที่ได้เรียนกับครูคนนี้จะต้องได้ยินวีรกรรมนี้ของเขา เพื่อนของภัทรภรอายุมากกว่าลูกเราประมาณ 10 ปีแต่พวกเขาก็มีประสบการณ์นี้ร่วมกัน

ภัทรภรยังได้เบอร์โทรศัพท์ของครอบครัวของครูคนนี้ เราสองคนช่วยกันโทรไปคุย ภรรยาของครูคนนี้บอกว่าสามีเคยเล่าให้ตนและลูกฟังเช่นกันว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา เรา crop รูปหน้า the Chair man ส่งไปให้เขาดู เขายืนยันว่าไม่ใช่สามีเขา ในที่สุด เราได้รูปครูคนนี้ในวัยหนุ่ม ซึ่งยืนยันว่าเป็นคนละคนกัน การติดตามจึงยุติลง

สิ่งที่พวกเราช็อคและเศร้ากับเรื่องนี้ก็คือ สังคมแบบไหนกันที่ทำให้คนยังรู้สึกภาคภูมิใจกับการกระทำอันโหดเหี้ยมของตนได้แม้ว่าเวลาจะผ่านไปเกือบ 40 ปีแล้ว อายุที่มากขึ้นไม่ได้ช่วยทำให้มนุษย์สามารถกลับมาใคร่ครวญการกระทำในอดีตของตนได้เลย เป็นการกระทำต่อ“ศัตรูทางการเมือง” ที่เขาไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวแต่ทำให้เขาภาคภูมิใจในตนเองได้ตลอดมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน