“บิ๊กตู่” อนุมัติเงินกว่า 1 แสนล้านช่วยคนจน คนชรา มอบเป็น ของขวัญปีใหม่ จ่ายให้ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน นอกจากนี้ยังเติมบัตรอีก 500 รวมทั้งช่วยอุ้มชาวสวนยาง 1.8 หมื่นล้าน ชาวสวนปาล์มอีกกว่า 500 ล้าน รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตไฟฟ้า นายกฯยืนยันการแจกเงินครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อการเมือง

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่า รัฐบาลจะพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งการดูแลผู้สูงอายุ ค่าน้ำ ค่าไฟ จะทยอยเพิ่มไปเรื่อยๆ วันนี้อาจจะได้สำหรับคนที่มีบัตรแล้วเพราะเรามีเงินแค่นี้ ก็ต้องจัดหมุนเวียนเงินที่มีอยู่ให้เหมาะสม หากจะให้ทีเดียวทั้งหมด อาจทำให้ประชาชนพอใจ แต่รัฐบาลก็ต้องแบกรับหนี้สิน และเรื่องของระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณตอนนี้ก็ออกมาใหม่แล้ว การจะนำเงินไปทำอะไรต้องอยู่ในกรอบของเงินงบประมาณ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต่อไปก็ต้องคำนึงถึงสิ่งตรงนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาความไม่สมดุลในการใช้จ่ายงบประมาณในหลายภาคส่วน ปัญหาสำคัญที่สุดคือมีการกล่าวอ้างว่าคนจน จนกว่าเดิม ซึ่งเราต้องดูรายละเอียด เจาะทุกเรื่อง

“ผมเห็นใจผู้มีรายได้น้อย วันนี้ก็มีโครงการบ้านล้านหลังที่จะให้มีการผ่อนชำระ แต่ทั้งนี้ต้องมีรายได้เพียงพอที่จะผ่อนในราคาที่มีดอกเบี้ยต่ำพิเศษ ซึ่งรัฐบาลทำทุกอย่าง ทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การดูแลผู้สูงอายุ ค่าน้ำ ค่าไฟ พลังงาน เดี๋ยวจะทยอยออกมาตามลำดับ ผมไม่อยากให้สื่อเขียนว่ารัฐบาลนี้แจกๆๆ เพื่อการเมือง ไม่ใช่เรื่อง ทุกอย่างกว่าจะออกมาได้มันต้องดูกฎหมาย ดูวิธีการ ดูงบประมาณที่มีอยู่จึงจะทยอยออกมาตามลำดับ เราก็พยายามเร่งสปีดให้เต็มที่ พอดีมันก็ออกมาในช่วงนี้ อย่าหาว่าเป็นเรื่องการเมืองไปทั้งหมดเลย มันเป็นเรื่องของการทำงาน ต่อเนื่อง วันหน้ารัฐบาลใหม่มาก็คงต้องทำ ต่อเนื่อง เพราะหลายโครงการ ผมก็ทำ ต่อเนื่องจากของเขา บางเรื่องดี แต่ดีไม่หมด เราก็มาแก้ไขให้ดีทั้งหมด ทั้งสาธารณสุข หรือการศึกษาฯ ซึ่งจะให้แต่ละกระทรวงมาชี้แจง”

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ ว่า เรื่องเกษตรกรสวนยาง สวนปาล์ม แม้กระทั่งมะพร้าว วันนี้ได้หารือในที่ประชุมครม.มีหลายมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรหลายรูปแบบด้วยกัน ทั้งมาตรการเร่งด่วน เช่น การรับซื้อน้ำมันปาล์ม 18 บาทต่อกิโลกรัม ประมาณ 1.6 แสนตัน เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า โดยซื้อจากลานเท โรงสกัดน้ำมันปาล์มของเกษตรกรโดยตรง ส่วนระยะยาวจะเพิ่มการใช้น้ำมันบี 20 ตั้งเป้าปีละ 5 แสนตัน อยากให้ทุกคนเข้าใจความต่อเนื่อง

“เรื่องยาง ปาล์ม มะพร้าว วันนี้กระทรวงพาณิชย์เสนอมาตรการเข้ามา และผมสั่งการให้ด่านตรวจทุกจุดของทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันแก้ปัญหาการลักลอบนำสินค้าเกษตรเข้ามาในประเทศ โดยใช้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้าไปดำเนินการ รวมถึงเรื่องเร่งด่วนอื่นๆ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ให้เกิดผลกระทบโดยรวม”

นายกฯ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการประท้วงของเกษตรกร ตนเข้าใจว่าเดือดร้อน ถึงได้เรียกประชุมไปเมื่อวันที่ 19 พ.ย. เพื่อนำแนวทางไปหารือกัน มันต้องใช้เงินมากพอสมควร เรื่องประท้วงต่างๆ ขอร้องอย่าประท้วงเลย รัฐบาลดูแลทุกเรื่อง ขออย่างเดียวให้เข้าใจว่าทุกอย่างในกรณีที่รัฐบาลให้เงินไปเพียงแค่บรรเทาความเดือดร้อนเป็นการชั่วคราว สิ่งที่อยากขอคือการปรับเปลี่ยนตัวเอง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาสำคัญที่สุดคือมีการกล่าวอ้างว่าคนจนกว่าเดิม ต้องไปดูในรายละเอียด อย่างบัตรสวัสดิการคนจนรัฐบาลก็ไปเติมให้ครั้งละ 14 ล้านคน อย่างไรก็ตาม เรื่องยางพาราและปาล์มรัฐบาลต้องช่วยแน่นอน รวมถึงพืชผลการเกษตรอื่นๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ว่า “วันนี้ ครม.เห็นชอบให้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยจะช่วยบรรเทาค่าน้ำ 100 บาท และค่าไฟ 230 บาทต่อครัวเรือน ต่อเดือน ตั้งแต่ธ.ค.2561 ถึงก.ย.2562 และพิเศษในเดือนธันวาคมปีนี้ จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 500 บาทเพื่อใช้จับจ่ายในช่วงปีใหม่นี้ นอกจากนั้นจะสนับสนุนค่าเดินทางรักษาพยาบาลแก่ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 1,000 บาทต่อคน และช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน 400 บาทต่อคน ต่อเดือน ตั้งแต่ ธ.ค.61 ถึงก.ย.62 ครับ”

ด้าน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือ ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14.5 ล้านคน ภายใต้วงเงิน 38,730 ล้านบาท โดยใช้เงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ที่ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 55,000 ล้านบาท โดยการช่วยเหลือจะออกผ่าน 4 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำค่าไฟ สำหรับผู้ถือบัตรที่จ่ายค่าไฟไม่เกิน 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ค่าน้ำ 100 บาทต่อคนต่อเดือน โดยช่วยเหลือระหว่างเดือนธ.ค.2561-ก.ย.2562 ภายใต้วงเงิน 27,060 ล้านบาท หากใครจ่ายค่าไฟฟ้าเกิน 230 บาท/เดือน หรือค่าน้ำเกิน 100 บาท/เดือนจะไม่มีสิทธิรับสวัสดิการนี้

2.มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปี 500 บาท/คน/เดือน ในช่วงเดือนธ.ค.2561 เพียงเดือนเดียว เงินยอดนี้สามารถถอนไปใช้ซื้ออะไรก็ได้ รวมวงเงินช่วยเหลือ 7,250 ล้านบาท 3.มาตรการช่วยค่าเดินทางรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุอายุ 65 ปีขึ้นไปวงเงิน 1,000 บาทต่อคน จ่ายให้เพียงครั้งเดียวคือเดือนธ.ค.2561 เงินก้อนนี้สามารถถอนได้หากใช้ไม่หมด โดยคนที่มีสิทธิมี 3.5 ล้านคน ภายใต้วงเงิน 3,500 ล้านบาท และ 4.มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน 400 บาท/คน/เดือนระหว่างธ.ค.2561-ก.ย.2562 วงเงินนี้ถอนได้หากใช้ไม่หมด วงเงินภายใต้รัฐบาลนี้ 920 ล้านบาท

วันเดียวกัน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกฯ และโฆษกประจำสำนัก นายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงมติครม. เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม รวมถึงการอนุมัติโครงการเพื่อผู้สูงอายุ รวม 86,994 ล้านบาท จนถูกมองหวังผลเลือกตั้งว่า หลายโครงการไม่ได้เพิ่งมาคิดและทำในวันนี้ เพราะมีกระบวนการสอบถามความเห็นจากประชาชน ซึ่งใช้เวลามาพอสมควร แต่มาประจวบเหมาะกับเวลาช่วงสิ้นปีพอดี

ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง นอกจากนี้ยังเห็นประชาชนมีภาระต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากในวงปีใหม่ จึงได้ให้ 500 บาท สำหรับผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาล เรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีกระบวนการขั้นตอนดำเนินการ ไม่ใช่คิดเมื่อวานแล้วมาทำวันนี้ ยกตัวอย่างเรื่องเงิน 500 บาทที่จะให้เป็นของขวัญปีใหม่ เพื่อเป็นค่าเดินทางของประชาชนไปเยือนบ้านเกิด ใช้จ่ายในช่วงเวลาพิเศษ ซึ่งเป็นประโยชน์กับประชาชน และให้เพียงครั้งเดียว

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า 4 มาตรการช่วยเหลือผู้ถือบัตรคนจนที่รัฐบาลผลักดันออกมาครั้งนี้ โดยเฉพาะเงิน 5,600 บาท/คนที่แจกให้เอาไปใช้ในช่วงปีใหม่ สามารถถอนเป็นเงินสดออกมาได้ ถือเป็นของขวัญปีใหม่

นายพุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบในหลักการโครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อบรรเทาค่าครองชีพชาวสวนยางรายย่อยและคนกรีดยาง ภายใต้งบประมาณ 18,604.95 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางเปิดกรีดจำนวน 999,065 ราย คนกรีดยาง 304,266 ราย คิดเป็นพื้นที่เปิดกรีดรวมประมาณ 10 ล้านไร่ โดยจะช่วยเหลือเป็นเงิน 1,800 บาทต่อไร่ ไม่เกินรายละ 15 ไร่ แบ่งจ่ายกับเจ้าของสวน 1,100 บาท คนกรีด 700 บาท มีระยะเวลาดำเนินการ 10 เดือนตั้งแต่ธ.ค.2561-ก.ย.2562 เริ่มจ่ายเงินได้ 18 ธ.ค.นี้

นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนรับสวัสดิการจากรัฐ ข้าราชการบำนาญ และผู้มีรายได้ที่ต้องการบ้านอยู่อาศัย เป็นวงเงินที่ใช้ในมาตรการทั้งหมดกว่า 1 แสนล้านบาท คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.07% เพราะมาตรการมีอายุยาวไปถึงปี 2562 ซึ่งจะส่งผลดีกับเศรษฐกิจมากกว่าปี 2561

สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนภาครัฐ ประกอบด้วยช่วยค่าไฟฟ้าไม่เกิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน และค่าน้ำประปา 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน เริ่มเดือน ธ.ค.2561-ก.ย.2562 จำนวน 8.2 ล้านครอบครัว ใช้เงิน 2.7 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการเติมเงินให้กับผู้ถือบัตร 14.5 ล้านคน คนละ 500 บาท เพียงครั้งเดียวโดยจะเติมเงินให้ระหว่างเดือน ธ.ค.2561-ม.ค.2562 เพื่อใช้จ่ายเพิ่มเติมเป็นวงเงิน 7,250 ล้านบาท

ขณะเดียวกันยังมีมาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปโรงพยาบาลของผู้มีรายได้น้อยที่สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 3.5 ล้านคน จำนวน 1,000 บาท โดยจ่ายครั้งเดียว เป็นวงเงิน 3,500 ล้านบาท และมาตรการสนับสนุนค่าเช่าบ้านผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 400 บาทต่อเดือน ให้ตั้งแต่ ธ.ค.2561-ก.ย.2562 จำนวน 2.3 แสนคน เป็นวงเงินที่ต้องใช้ 920 ล้านบาท

ด้าน น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เผยว่า ครม. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือข้าราชการเกษียณที่รับบำนาญแบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ ให้ข้าราชการบำนาญสามารถนำบำเหน็จตกทอด 30 เท่าของเงินเดือน มาใช้เป็นบำเหน็จดำรงชีพได้เป็นครั้งที่ 3 ได้อีก 1 แสนบาท เป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังเติมเงินข้าราชการบำนาญที่ได้บำเหน็จน้อยต่ำกว่าเดือนละ 1 หมื่นบาท ให้เป็น 1 หมื่นบาท ใช้เงิน 558 ล้านบาท

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบให้ธอส.จัดทำโครงการบ้านล้านหลังภายใต้วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาทให้ผู้มีรายได้น้อยกลุ่มคนวัยทำงานหรือผู้ที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ มีบ้านอยู่อาศัย โดยวงเงินแบ่งเป็นสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยสำหรับลูกค้ารายย่อย 5 หมื่นล้านบาท สำหรับซื้อบ้านไม่ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ตั้งวงเงินกู้ไว้ 2 หมื่นล้านบาท ให้ผ่อนนานถึง 40 ปี

อัตราดอกเบี้ย แบ่งเป็นกรณีรายได้ไม่เกิน 2.5 หมื่นบาท/คน/เดือน กรณีรายได้เกิน 2.5 หมื่นบาท/คน/เดือน ตั้งวงเงินกู้ไว้ 3 หมื่นล้านบาท โดยทั้ง 2 กรณีเงินกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระ 3 ปีแรกเริ่มต้นเพียง 3,800 บาท สำหรับวงเงินที่เหลืออีก 1 หมื่นล้านบาท เป็นการปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ที่ต้องมีบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหน่วยขายทั้งหมดของโครงการ เริ่มเปิดโครงการภายในเดือนธ.ค.2561

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำตัวรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ ตั้งแต่เดือนพ.ย.2561- พ.ค.2562 โดยของบ กลางเงินสำรองจ่าย 525 ล้านบาทให้กฟผ. รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบตั้งแต่พ.ย.2561-ก.พ.2562 จากพื้นที่แหล่งผลิตสำคัญ เช่น กระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร เพื่อนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง 1.6 แสนตัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน