ปภ.สรุปยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมใต้รวม 80 ราย มท.1 เรียกประชุมติดตามสถานการณ์ อุตุฯเตือนฝนถล่มใต้ตอนล่าง นราฯฝนถล่มน้ำท่วมซ้ำอีก ยะลาจับตาแม่น้ำปัตตานีล้นตลิ่ง เตือน สองฝั่งน้ำระวังภัย สตูลสำรวจทางระบายน้ำ สุราษฎร์ฯยังท่วมขัง 3 อำเภอ “เกาะสมุย” ปักธงแดง ห้ามลงเล่นน้ำทะเล ตะลึงขยะเกลื่อนชายหาดประจวบฯ นายกฯออกทีวี เผยแนวทางพระราชทานแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน พร้อมแจงมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

มท.ประชุมติดตามสถานการณ์

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 ม.ค. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมรับฟังข้อมูลแผนการฟื้นฟูของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอแผนการฟื้นฟูในภาพรวมทั้งระบบ

โดยพล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เป็นการติดตามความคืบหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมก่อน นายกฯ จะลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานีในวันทึ่ 26 ม.ค. นี้ รวมถึงติดตามสถานการณ์ทั่วไปในพื้นที่ประสบภัยภาคใต้ และมรสุมที่จะเคลื่อนเข้ามาในช่วงนี้ ยืนยันว่ารับมือได้ แต่พายุฝนอาจจะไปตกในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำบ่อย แต่จะไม่หนักเหมือนที่ผ่านมา ภาพรวมสถานการณ์ตอนนี้เริ่มคลี่คลาย แต่ยังมีหลายพื้นที่ยังคงมีฝนตก ดังนั้น การทำงานหลังจากนี้จะเน้นการสำรวจข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อจัดทำบัญชีความเสียหายแยกตามประเภทครอบคลุมทั้งชีวิต และทรัพย์สิน โดยเฉพาะบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหายทั้งหลัง เพื่อจัดทีมช่างลงพื้นที่ซ่อมแซม ที่สำคัญ บกปภ. ช.จะได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการดูแลประชาชนที่ประสบอุทกภัยอย่างดีที่สุด จัดทำแผนการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยหลังน้ำลดให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมถึงวางระบบ การบริหารจัดการน้ำที่ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้ประเทศไทยพ้นวิกฤตอุทกภัยอย่างยั่งยืน

ปภ.สรุปยอดตาย 80 คน

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ว่า ฝนที่ตกหนักตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้และจ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีจังหวัดได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด รวม 122 อำเภอ 755 ตำบล 5,812 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 563,616 ครัวเรือน 1,725,714 คน ผู้เสียชีวิต 80 ราย ผู้สูญหาย 4 ราย ถนน 4,314 จุด คอสะพาน 348 แห่ง ท่อระบายน้ำ 243 แห่ง ฝาย 126 แห่ง อ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง สถานที่ราชการเสียหาย 25 แห่ง โรงเรียน 2,336 แห่ง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 5 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และกระบี่ ยังคงมีสถานการณ์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรม ราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ตรัง ชุมพร ประจวบ คีรีขันธ์ และสงขลา รวม 28 อำเภอ 140 ตำบล 872 หมู่บ้าน โดยนครศรีธรรมราช มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 4 อำเภอ สุราษฎร์ธานี มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 3 อำเภอ พัทลุง มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 4 อำเภอ ตรัง มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 2 อำเภอ ชุมพร มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 6 อำเภอ ประจวบ คีรีขันธ์ มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 4 อำเภอ สงขลา มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 อำเภอ

เตือนฝนถล่มใต้ตอนล่าง

ด้านน.ส.พะเยาว์ เมืองงาม ผอ.ศูนย์อุตุนิยวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก จ.สงขลา กล่าวว่า ศูนย์ออกประกาศฉบับที่ 18 (45/2560) เรื่อง คลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย และฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก จากอิทธิพลของบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และ จ.นราธิวาส ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดดังกล่าวระมัดระวังอันตรายที่เกิดจากฝนตกหนักปริมาณฝนสะสม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในช่วงวันที่ 20 – 21 ม.ค.60 ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยตอนบน ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล ระมัดระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในวันที่ 20-23 ม.ค.นี้

นราฯฝนถล่มน้ำท่วมซ้ำอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานสภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส มีฝนตกต่อเนื่องตลอดตั้งแต่เมื่อวานนี้ ทำให้พื้นที่หลายแห่งมีน้ำท่วมขัง ขณะที่ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส มีน้ำท่วมตามถนนสายหลัก สายรอง และพื้นที่ต่ำ เนื่องจากท่อระบายน้ำมีปัญหาอุดตัน ระบายน้ำไม่ทันส่งผลให้น้ำเอ่อไหลเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน ระดับน้ำท่วมขังสูง 20-40 ซ.ม. ส่งผลให้สภาพการจราจรในช่วงเร่งด่วนในช่วงเช้าเกิดติดขัดโดยเฉพาะบริเวณ ซ.ธรรมวิถี ถ.ประชาภิรมย์ ต.บางนาค อ.เมือง จ.นราธิวาส ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ซึ่งบริเวณพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ลุ่ม จึงทำให้เวลาฝนตกน้ำเอ่อไหลเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน ได้รับความเดือดร้อนเป็นประจำ ขณะที่โรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาสในวันนี้บางแห่งมีการประกาศหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว เนื่องจากเด็กนักเรียนเดินทางลำบาก อีกทั้งพื้นที่รอบโรงเรียนมีน้ำท่วมขังด้วย

ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำ 3 สายหลัก ทั้งแม่น้ำบางนรา แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำสุไหงโก-ลก เพิ่มสูงขึ้น โดยทางสำนักงานชลประทานนราธิวาสมีการประกาศเตือนประชาชนตามแนวแม่น้ำสุไกงโก-ลก เฝ้าระวังตั้งแต่พื้นที่ อ.แว้ง อ.สุไหงโก-ลก อ.ตาก ใบ โดยให้เตรียมความพร้อมในการขนย้ายสิ่งของและทรัพย์สินด้วย ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นชั่วโมงละ 10 เซนติเมตร

จับตาแม่น้ำปัตตานีล้นตลิ่ง

ส่วน ที่ จ.ยะลา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ในเขต ต.สะเตงนอก ต.พร่อน ต.ท่าสาป ต.ยุโป อ.เมืองยะลา โดยมวลน้ำสะสม ทำให้น้ำไหลระบายไม่ทัน ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำปัตตานี ซึ่งไหลมาจาก อ.บันนังสตา อ.กรงปินัง ผ่าน อ.เมืองยะลา มีปริมาณน้ำที่มากจนเกือบล้นตลิ่ง ทั้งนี้ เกิดจากปัญหาฝนตกหนัก จนมีมวลน้ำสะสม จากปริมาณน้ำฝนที่ตกร้อยละ 90 ของพื้นที่ อ.บันนังสตา อ.กรงปินัง และ อ.เมืองยะลา ขณะเดียวกัน มีรายงานจากพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา ว่า เส้นทางสัญจร จากแยกตะโละหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา จะไป อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี มีน้ำกัดเซาะ เส้นทางและน้ำท่วมถนน รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านได้ จึงให้ประชาชนหันไปใช้เส้นทางลัด บ้านบึงน้ำใส เพื่อเดินทางไปยัง อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี เป็นการชั่วคราว อย่างไร ก็ตามปริมาณฝนที่ตกลงมา ตั้งแต่เมื่อช่วงเย็นวานนี้ จนถึงเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันนี้ ยังไม่มีที่ท่าว่าฝนจะหยุดตก ทางการเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เคยถูกน้ำท่วม พร้อมทั้งพื้นที่ริมแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี ใน อ.รามัน จ.ยะลา เฝ้าระวังน้ำท่มฉับพลัน และขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ เพื่อความปลอดภัยด้วย

เตือนสองฝั่งน้ำระวังภัย

ด้านพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาได้เข้าท่วมถนนสาย 42 ปัตตานี-นราธิวาส ทั้งขาขึ้นและขาล่อง น้ำฝนสะสมตั้งแต่เมื่อคืนบนเทือกเขาทุ่งคร่า ได้ทะลักเข้า ท่วมบ้านเรือนราษฏรในพื้นที่ ม.10 บ.พอเมาะ ต.เตราะบอน อ.สายบุรี กว่า 130 หลังคาเรือน ต้องเผชิญกับน้ำท่วมฉับพลันอีกระลอก เช่นเดียวกับโรงเรียนบ้านพอเมาะ น้ำได้ทะลักเข้าท่วม ชั้นล่างของอาคารเรียน ครูต้องเร่งนำอุปกรณ์การเรียนนำไปไว้ที่สูง และปิดการเรียนการสอนโดยปริยาย เช่นเดียวกับอีก 2 โรง เรียนในพื้นที่ อ.สายบุรี คือ โรงเรียนบ้านกะลาพอ และโรงเรียนบ้านเจาะกือแย ต่างได้รับผล กระทบจากน้ำฝนไหลหลากเข้าท่วมอาคารเรียนเช่นเดียวกัน จึงต้องประกาศหยุดเรียน

ด้านปภ.ปัตตานี ประกาศแจ้งเตือนประชาชนเฝ้าติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะที่อยู่ติดแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี ให้เฝ้าระวังการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ (20 ม.ค.) ฝนยังคงตกหนักอย่างต่อเนื่อง

สตูลสำรวจทางระบายน้ำ

นายภัทรพนธ์ รัตนพิเชฏฐชัย ผวจ.สตูล เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ฝนตก และส่งผลกระทบให้ปริมาณน้ำในพื้นที่สะสมมากขึ้น

น.ส.สุนารี บุญชุบ หน.ปภ.สตูล กล่าวว่า ระดับน้ำในพื้นที่จ.สตูลจะยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ได้มีการวางมาตรการอย่างเข้มงวด โดย ให้ทุกอำเภอสำรวจเครื่องมืออุปกรณ์ ยานพาหนะ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ตรวจสอบเส้นทางการระบายน้ำในพื้นที่เสี่ยง ไม่ให้มีขยะอุดตัน หรือสิ่งกีดขวางทางน้ำ การเฝ้าระวังระดับน้ำในลุ่มน้ำสายหลัก คือ คลองดุสน คลองละงู คลองมำบัง ตลอดจนเตรียมแผนเคลื่อนย้ายอพยพประชาชนกรณีเกิดภัย โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่ริมคลองที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน และดินโคลนถล่มในพื้นที่เชิงเขา ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยม วิทยาในระยะนี้อย่างใกล้ชิด หากเกิดเหตุฉุกเฉินให้ประสานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือส่วนราชการในท้องที่ เพื่อดำเนินการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

สุราษฎร์ฯยังท่วมขัง 3 อำเภอ

ส่วนที่ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ช่วงเช้าฝนมีตกหนักอีกครั้ง นายอวยชัย อินทร์นาค ผวจ.สุราษฎร์ธานี พร้อมผู้เกี่ยวข้องประชุมติดตามสถานการณ์ ก่อนเผยว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน 1 ล้านบาท ให้จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะนำไปสมทบทุนในการก่อสร้างบ้านให้กับผู้ประสบภัยที่บ้านพังทั้งหลังจำนวน 54 หลัง ได้มีที่พักอาศัย ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาว จ.สุราษฎร์ธานี เป็นล้นพ้น โดยการก่อสร้างจะใช้แรงงานจากนักศึกษาอาชีวศึกษาเข้าดำเนินการ ซึ่งทางจังหวัดจะเร่งพิจารณาหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ พร้อมสำรวจพื้นที่และออกแบบให้เหมาะสม

ด้านนายวีระ เพ็งทอง ผอ.โครงการชล ประทานจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ขณะนี้ระดับน้ำที่ ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน ลดลง 6 ซ.ม. โดยมีพื้นที่น้ำท่วมขังใน 3 อำเภอ อ.เคียนซา, บ้านนาเดิม และ อ.พุนพิน ประมาณ 30,000 ไร่ ปริมาณน้ำ 100 ล้านลูกบาศ์กเมตร โดยเครื่องผลักดันน้ำของกรมชลประทาน กองทัพเรือและกรุงเทพฯ ได้ 50-60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คาดว่า 5-7 วัน จะระบายได้มากขึ้น ซึ่งมวลน้ำก้อนแรกได้ไหลลงทะเลไปแล้ว และมวลน้ำจากนครศรีธรรมราชยังไม่ไหลลงมาเพิ่ม รวมทั้งฝนที่ตกอีกไม่กระทบมาก

“เกาะสมุย”ปักธงแดง

ผู้สื่อข่าวรายงานสภาพอากาศที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ว่าตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมาจนถึงเช้าวันนี้มีฝนตกลงมาทั่วทั้งเกาะสมุย แต่ไม่หนักมาก ถนนทุกสายไม่มีน้ำท่วมขังรถยนต์สามารถสัญจรได้ทุกเส้นทาง ส่วนเรือเฟอร์รี่โดยสารข้ามฟาก ที่ให้บริการเส้นทางเกาะ สมุย-ดอนสัก ให้บริการได้ตามปกติ ขณะที่คลื่นลมในทะเลมีกำลังแรง ที่หาดเฉวง ชายหาดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อน เล่นน้ำทะเล ผู้ประกอบการได้ปักธงแดงอีกครั้งเพื่อเตือนนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำทะเลในช่วงนี้ เพราะทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และยังได้เก็บเตียง เก้าอี้ชายหาดออกจากชายหาดเกรงว่าจะถูกคลื่นซัดได้รับความเสียหาย

ขยะเกลื่อนชายหาดประจวบฯ

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณชาย หาดทะเลอ่าวประจวบ หลังจากชาวบ้านแจ้งว่า มีขยะถูกคลื่นทะเลซัดเข้ามาเกยชายหาดจำนวนมาก พบตั้งแต่บริเวณสะพานสราญวิถีทั้งสองด้านมีเศษขยะมูลฝอย อาทิ เศษกิ่งไม้แห้ง ขอนไม้ ลูกมะพร้าวแห้ง ขวดพลาสติกน้ำอัดลม แกลลอน และถุงพลาสติกต่างๆ ถูกคลื่นซัดเข้ามาจำนวนมาก นอกจากนี้ด้านข้างสะพานสราญวิถี และบริเวณชายขอบเขื่อนกันคลื่น มีเศษถุงพลาสติก ถุงอาหาร ถุงขนม และกล่องโฟม ถูกทิ้งไว้จนเกลื่อน ขณะที่นายเคิร์ก กิลล็อก หรือ มิสเตอร์ อิสระ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พยายามนำขวดพลาสติกเหลือใช้กว่า 10,000 ขวด มาสร้างทำเป็นเรือ เพื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึกชาวประจวบฯให้คิดก่อนทิ้ง

นายกฯ เผยแนวทางพระราชทาน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวทางเพิ่มเติมให้กับรัฐบาล ในการทบทวนศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานไว้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน มาพิจารณาดำเนินการอย่างเหมาะสม และบังเกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อความสุขของประชาชนและความมั่นคงของชาติ ซึ่งได้สั่งการไปกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

ตลอดห้วงเวลาที่เกิดอุทกภัยครั้งนี้ รัฐบาลได้สร้างกลไกการทำงานตั้งแต่ระดับชาติลงไปถึงระดับปฏิบัติในพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้การบริหารจัดการและการผลักดันความช่วยเหลือไปสู่ผู้ประสบภัยอย่างมีประสิทธิ ภาพทันท่วงทีและไม่ซ้ำซ้อน รวมทั้งจัดกิจกรรมประชารัฐร่วมใจ ช่วยอุทกภัยภาคใต้ เพื่อเป็นการระดมความช่วยเหลือจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศในการช่วยเหลือฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม และบริหารโดยกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกฯ เพื่อให้การดำเนินการคล่องตัวและโปร่งใส ปัจจุบันมียอดเงินบริจาครวมเกือบ 500 ล้านบาท

แจงมาตรการช่วย

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ฝากสื่อมวลชนประชาสัมพันธ์มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้ให้กับประชาชน ผู้ประสบภัยได้รับทราบจะได้ไม่เสียโอกาส พลาดสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับ เช่น มาตรการยกเว้นภาษีบุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายจริง เป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมบ้าน อาคาร หรือห้องชุดไม่เกินหนึ่งแสนบาท และเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ซ่อมแซมรถยนต์ ไม่เกินสามหมื่นบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.2559 ถึงวันที่ 31 พ.ค.2560 มาตรการพักชำระหนี้เป็นเวลา 6 เดือน และมาตรการการให้วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาทต่อราย เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นเกษตรกรที่เป็นลูกค้าธ.ก.ส.เป็นเวลา 1 ปี และงดคิดดอกเบี้ยปรับ, มาตรการสินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชนของธนาคารออมสิน วงเงินครอบครัวละไม่เกิน 5 หมื่นบาท และสำหรับลูกค้าสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้สามารถพักชำระหนี้เงินต้นได้ไม่เกิน 2-3 ปี มาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคม ในการลดการจ่ายเงินสมทบเหลือ 3% เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ม.ค.-มี.ค.2560 โดยขยาย เลื่อนเวลาส่งเงินสมทบและไม่ลดสิทธิประโยชน์ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจัดตั้งศูนย์ซ่อมสร้างแบบเคลื่อนที่ 200 ศูนย์ให้บริการ ประกอบด้วย ช่างยนต์, ช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ช่างก่อสร้าง, คอมพิวเตอร์และอื่นๆ ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม

เมืองคอนระทึกน้ำป่าทะลัก

ที่อุทยานน้ำตกพรหมโลก อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช มวลน้ำป่าไหลทะลักลงมาในปริมาณมากกว่ารอบก่อน และเอ่อทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ด้านล่าง ทางอำเภอได้ประกาศให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยอพยพมาอยู่ยังที่ปลอดภัยอย่างเร่งด่วน ส่วนที่บ้านคีรีวง ต.กำโลน อ.ลานสกา ต้นน้ำสำคัญของจังหวัดมีระดับสูงโดยมีปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ในวันนี้ 47.5 ม.ม. โดยน้ำจะทะลักเข้ามาในเขตเทศบาลนครนครศรีฯ และ อ.เมือง ในคืนนี้ ในขณะที่เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชได้มีน้ำทะลักเข้าท่วมในชุมชนต่างๆ แล้ว อาทิ ซอยประตูขาว, บ่ออ่าง, ท่าโพธิ์, มุมป้อม, หน้าตลาดสดคูขวาง โดยระดับน้ำสูง 30-40 ซ.ม. ทางเทศบาลได้ขึ้นธงแดงในจุดเตือนภัยต่างๆ ในเขตเทศบาลเพื่อให้ประชาชนเฝ้าระวัง

ด้านนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีการประกาศเตือนให้ทุกอำเภอได้ประกาศเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มในวันที่ 20-21 ม.ค.นี้ และเตรียมอพยพชาวบ้านใน 24 ช.ม.หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น และผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ ต.ควนกลาง อ.พิปูน ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในตลาด โดยระดับน้ำสูงกว่าเมตร ต้องใช้เรือในการสัญจร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน