ค้านทหารคุม ถกปรองดอง

“โคทม”ชง จัดตั้งเวที ระดับชาติ

เพื่อไทยแนะคสช.ทำหน้าที่แค่ผู้จัดกระบวนการปรองดอง ส่วนวิธีการให้สถาบัน -องค์กร-คณะบุคคลเป็นกลางดำเนินการ ระบุทหารเป็นคู่ขัดแย้ง ต้องร่วมเซ็นเอ็มโอยูด้วย ปชป.ชี้โอกาสปรองดองยาก เพราะกรรมการมีแต่ทหาร “โคทม”ร่วมแจมเวทีปรองดองนปช. เสนอ 3 ข้อปฏิบัติ จัดสานเสวนาระดับชาติ ให้คู่ขัดแย้งพูดคุยก่อนหาข้อยุติ กรธ.วางกรอบร่างพ.ร.บ.กรรมการสิทธิฯ 7 ประเด็น เปิดฟังความเห็น 25 ม.ค. “เรืองไกร”เล็งยื่นสตง.สอบการบินไทย ปมสินบนโรลส์-รอยซ์

ปฏิรูป-ปรองดองเดิมพันคนทั้งชาติ

วันที่ 21 ม.ค. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่สื่อมวลชน นักวิชาการและนักการเมือง ระบุว่าการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง เป็นเดิมพันสูงยิ่งของรัฐบาลและคสช.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าทุกเรื่องที่พูดมาทั้งหมดไม่ใช่เดิมพันของรัฐบาลหรือคสช. แต่เป็นเดิมพันของคนไทยทุกคนที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใด อาชีพใด ต้องช่วยกัน เปลี่ยนวิธีคิดใหม่อย่างสร้างสรรค์ พาชาติก้าวไปข้างหน้า ไม่โยนภาระให้ใครคนใดคนหนึ่ง และต้องลงมือทำไม่ใช่พูดเพียงอย่างเดียว

สั่งหาคนผิดคดี”โรลส์-รอยซ์”

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า สำหรับกรณีปมทุจริตจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ที่อาจเกี่ยวข้องกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งการให้มีการตรวจสอบและหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ พร้อมวางแนว ทางป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง เจ้าหน้าที่ ของรัฐ เอกชนและประชาชน ต้องไม่ทุจริตเสียเองและไม่ผลักภาระให้กับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวไม่ส่งผลต่อคะแนนและการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติที่จะจัดอันดับปลายเดือนม.ค.นี้ เพราะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในอดีตตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งสังคมก็คงต้องมองย้อนกลับไปพิจารณา ดูว่าเป็นยุคสมัยใด

พท.ยื่นสตง.สอบบินไทย

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ จ่ายสินบน ในหลายประเทศที่ซื้อขายเครื่องยนต์ของ โรลส์-รอยซ์ รวมถึงประเทศไทยระหว่างปีพ.ศ.2534-2548 ว่า วันที่ 23 ม.ค.นี้จะเดินทางไปยื่นเรื่องถึงผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อเร่งรัดให้ตรวจสอบทะเบียนทรัพย์สินของบริษัทการบินไทย เกี่ยวกับการจัดซื้อดังกล่าวว่าจัดซื้อเมื่อใด จำนวนและมูลค่าเท่าไร มีค่าส่วนต่างอื่นใดหรือไม่ ใครเป็นผู้อนุมัติในการจัดซื้อ ใช้วิธีใดในการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงมี ครม.ในขณะนั้นเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการด้วยหรือไม่ เพราะข้อมูลเหล่านี้ย่อมมีอยู่ในระบบอยู่แล้ว

นายเรืองไกรกล่าวว่า เรื่องการทุจริตต่างๆ แม้ในทางกฎหมายมีขั้นตอนดำเนินการอยู่ แต่สังคมควรได้รู้ข้อเท็จจริงว่าในยุคสมัยหนึ่งใครทำอะไรไว้อย่างไรบ้าง และขยายผลตรวจสอบไปในกรณีอื่นด้วยเพื่อไม่ให้เป็นเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง เช่น กรณีจีที 200 มีข่าวแล้วเงียบหายโดยไม่มีการตรวจสอบต่อ ซึ่งนอกจาก กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์แล้วยังมีกรณีอื่นที่คล้าย ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ และที่สำคัญรัฐบาลควรวางระบบให้ชัดเจนเพื่อทำ ให้เห็นว่าจริงจังต่อการต่อต้านทุจริตอย่างแท้จริง

ชี้ทหารผลักความขัดแย้งซึมลึก

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมการ ศึกษาและติดตามเรื่องการปรองดอง กล่าวกรณี ทหารปฏิเสธไม่เซ็นเอ็มโอยูจะไม่รัฐประหารอีก โดยอ้างว่าทหารไม่ใช่คู่ขัดแย้งและปฏิวัติเพราะประชาชนเห็นชอบ ทหารจึงชอบธรรมที่จะทำเรื่องปรองดองว่า ข้ออ้างของแกนนำ คสช.น่าจะเป็นความเข้าใจผิดและหลงตัวเอง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทหารถือว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งในสังคมขยายวงกว้างและซึมลึก

นายชูศักดิ์กล่าวว่า มาในปี 2556 ในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเพื่อล้มรัฐบาลครั้งใหญ่ ทหารก็ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเข้าข้างและช่วยเหลือม็อบและไม่ฟังคำสั่งจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจนเหตุการณ์บานปลาย แล้วทหารก็อ้างเหตุผลในการทำรัฐประหารอีกครั้ง จึงเห็นได้ว่าการที่ทหารวางตัวไม่เป็นกลางในทางการเมืองและเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้น ถือเป็นการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ย่อมทำให้ฝ่ายประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อทหาร แม้ส่วนใหญ่จะไม่กล้าออกมาต่อต้านเพราะเกรงกลัวอำนาจทหาร แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งได้ออกมาต่อสู้กับอำนาจทหารจนถูกดำเนินคดีไปจำนวน มากจากคำสั่งและประกาศคณะรัฐประหาร

อ้างรายงานคอป.ชี้ชัด

นายชูศักดิ์กล่าวว่า จากรายงานการศึกษาของ คอป.ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า การแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพและทหารโดยเฉพาะการรัฐประหารส่งผลให้สังคมไทยขาดโอกาสเรียนรู้ที่จะจัดการความขัดแย้งทางการเมืองตามครรลองแห่งระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ คอป.จึงขอเรียกร้องให้กองทัพและผู้นำกองทัพวางตัวเป็นกลาง งดเว้นการก่อการรัฐประหาร ไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมืองและไม่แทรกแซงทางการเมืองอย่างเคร่งครัดไม่ว่าในทางใด ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าทหารถือเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

แนะคสช.ทำหน้าที่แค่ผู้จัด

นายชูศักดิ์กล่าวว่า เมื่อคสช.เข้ามาบริหารประเทศ ควบคุมอำนาจไว้ได้และอ้างเหตุผลหนึ่งในการรัฐประหารว่าต้องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น และเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายทำเอ็มโอยูร่วมกัน ทหารเองก็ควรจะต้องลงนามร่วมด้วยในนามของ กองทัพ เพื่อเป็นหลักประกันว่าในอนาคตต่อไปจะต้องปล่อยให้การเมืองได้แก้ปัญหาไปตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จะไม่ใช้กำลังเข้าแทรกแซงยึดอำนาจอีกต่อไป เพื่อเป็นหลักประกันว่าการสร้างความสามัคคีปรองดองนั้นได้ดำเนินการไปอย่างครอบคลุมกับคู่ขัดแย้งทุกฝ่าย

นายชูศักดิ์กล่าวว่า การที่คสช.เข้ามาดำเนิน การเรื่องการปรองดองครั้งนี้จึงต้องตระหนักว่าตนเองคือคู่ขัดแย้งและมีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้น การแสดงออกของการปรองดอง อันหนึ่งก็คือการให้ความร่วมมือ แต่เราก็ควรจะมีสิทธิท้วงติงเสนอแนะได้ เพราะการปรองดองมิใช่การรับฟังคำสั่ง

“เราจึงเสนอแนะว่า คสช.ควรจะได้ทำตัวเป็นเพียงผู้จัดให้มีกระบวนการปรองดองขึ้น ส่วนวิธีการทั้งหลายควรมอบให้สถาบัน องค์กร หรือคณะบุคคลที่มีความเป็นกลาง มีความเป็นมืออาชีพ มีความเป็นธรรม ให้เขามีอำนาจตามกฎหมาย หากเป็นได้เช่นนี้แล้วก็คงจะมีแสงสว่างเรื่องความปรองดองเกิดขึ้นได้บ้าง” นายชูศักดิ์กล่าว

พงศ์เทพหวั่นรีบเร่งไม่ปรองดอง

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองของรัฐบาลว่า เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่อยากเห็นการปรองดองที่แท้จริงเกิดขึ้น อยากให้สังคมไทยที่แตกแยกกลับสู่มาอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ท่ามกลางการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคเท่าเทียม กลไกและบุคลากรของกระบวนการยุติธรรมใช้อำนาจด้วยความเป็นกลางและเป็นธรรม

นายพงศ์เทพกล่าวว่า ส่วนแนวทางและวิธีการขั้นตอนที่จะทำ ตนไม่ไปก้าวล่วงเพราะทางรัฐบาลและคสช.คงมีการตั้งคณะกรรมการ เข้ามาดำเนินการแล้ว และเห็นด้วยที่นายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลจะอำนวยความสะดวก และจะพยายามทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ ขณะที่พรรคเพื่อไทยเคยระบุแล้วว่าพร้อมที่จะปรอง ดองเช่นเดียวกับคนไทยส่วนใหญ่

นายพงศ์เทพกล่าวว่า การปรองดองต้องให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่มาร่วมพูดคุยต้องอยู่ในภายใต้บรรยากาศปรองดองในการใช้อำนาจ ของผู้มีอำนาจ ใช้หลักนิติธรรม โดยที่องค์กรและบุคลากรยุติธรรมที่มีภาพลักษณ์ที่ไม่เป็น กลาง ไม่ควรจะเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีที่เกี่ยวข้อง กับความขัดแย้ง และเห็นว่าเรื่องนี้ต้องใช้เวลา อย่ารวบรัด ควรศึกษาและแสวงหาความจริงของปัญหาจากทั้ง คอป.ต่อเนื่องจากเหตุการณ์เดือนพ.ค.2553 จนถึงปัจจุบัน และจากรายงาน ของสถาบันพระปกเกล้า เป็นต้น ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หากไปรีบเร่งอาจจะนำ ไปสู่ความไม่ปรองดองได้

สำนึกสำคัญกว่าเอ็มโอยู

เมื่อถามถึงข้อสังเกตที่การปรองดองอาจไม่สำเร็จเพราะหลายฝ่าย อีกทั้งทหารมีเงื่อนไข ไม่ลงนามเอ็มโอยูไม่รัฐประหาร และบางกลุ่มการเมืองต้องการหารือแต่ไม่ลงนามยุติขัดแย้ง นายพงศ์เทพกล่าวว่า การจะปรองดองทุกคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาต้องมาคุยกัน ถ้าไม่เข้ามาก็ปรองดองได้ยาก

นายพงศ์เทพกล่าวว่า ส่วนการจะลงนามหรือไม่นั้นมันขึ้นอยู่ที่ใจ กติกาของการจะสงบสุขและปรองดองกันได้คนส่วนใหญ่ต้องเห็นด้วยว่าจะอยู่ร่วมกันได้ หากลงนามในเอกสารโดยที่ไม่รู้สึกเห็นด้วยจริง ไม่สำนึกจริงก็ไม่มีประโยชน์ เรื่องนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาเพื่อกำหนดวิธีการและหาวิธีที่จะออกจากความขัดแย้งต่อไป บางเรื่องออกมาพูดในเวลานี้แล้วคนไม่เอาด้วยก็ต้องมีวิธีที่หนึ่ง-สอง-สาม-สี่ พอเวลาล่วงไปคนอาจจะเห็นด้วยในสิ่งที่พูดไปตอนแรกก็เป็นได้ แต่ที่สำคัญคือการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

กก.ปรองดองต้องมีคนเป็นกลาง

นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทุกฝ่ายในบ้านเมืองอยากเห็นการปรองดองและเป็นเรื่องที่ต้องทำ คนที่ทำเรื่องปรองดองต้องเข้าใจรากเหง้าของปัญหา ที่สำคัญที่สุดคือองค์ประกอบของคณะกรรมการปรองดองที่ต้องมีคนที่มีความเป็น กลาง มีนักวิชาการ และมีประสบการณ์ทางการเมืองเข้ามาทำ อย่างที่สถาบันพระปกเกล้าฯเคยทำมา อย่าคิดแต่ในมุมของทหารอย่างเดียว ควรมีคนนอกที่ห่างไกลจากความขัดแย้งทางการเมืองมาทำ เพราะความขัดแย้งในบ้านเราไปไกลถึงขนาดเป็นการเกลียดกันไปแล้ว การปรองดองเป็นเรื่องท้าทาย ถ้าทำจริงและทำถูกทางก็มีโอกาสสำเร็จ และผู้ที่ทำจะต้องเข้าใจ รู้เหตุแห่งปัญหาที่แท้จริงและต้องทำจริง การปรองดองที่ผ่านมาที่ไม่สำเร็จเพราะไม่มีความต่อเนื่องทางการเมือง ส่วนกรณีนี้คงไม่ไปติเรือทั้งโกลนต้องให้โอกาสรัฐบาลและคสช.ทำงานก่อนและขอให้กำลังใจให้ทำให้สำเร็จ เพราะระยะทางพิสูจน์ม้ากาลเวลาพิสูจน์คน

ปชป.ก็ติงมีแต่ทหารอื้อ

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ระบุจะรับฟังความเห็นและให้เห็นแนวปรองดองใน 3 เดือนว่า ระยะเวลา 3 เดือนที่จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่การเลือกคณะกรรมการที่มีความเชี่ยว ชาญใจเย็น รับฟังทุกฝ่าย ไม่ใช้อำนาจและเป็นนักประนีประนอมที่หามุมหาประเด็น จุดร่วม จุดต่างของแต่ละฝ่าย ที่สำคัญต้องไม่ใช่มีแต่นายพลและนายพลเท่านั้นซึ่งเป็นไปได้ยากยิ่ง ตนเห็นด้วยและดีใจที่หลายฝ่ายมีท่าทีในเชิงบวกต่อการปรองดองแต่ต้องไม่ลืมว่าปรองดองไม่ใช่ซูเอี๋ย ไม่ใช่กวาดขยะไว้ใต้พรม แต่เป็นการหยิบยกปัญหาโดยดูต้นตอของปัญหามาเป็นตัวตั้ง ปัญหาใดที่มีผลกระทบต่อความผาสุกในบ้านเมืองต้องหยิบยกมาคุยกัน ซึ่งแน่นอนว่าต้องไม่มีการตั้งเงื่อนไขที่จะยกเว้นการกระทำผิดเป็นไม่ผิดกฎหมาย

นายวิรัตน์กล่าวว่า ปัญหาที่เห็นในระยะนี้คือการที่ตั้งฝ่ายทหารเข้ามาทำงานมากเกินไป ควรให้คนที่มีความเป็นกลางหรือนักวิชาการที่มีความตั้งใจดีกับบ้านเมือง นักวิชาการที่ไม่สังกัดฝ่าย ซึ่งก็ดูได้ไม่ยาก และหากเริ่มต้นด้วยการยอมรับปัญหาที่แท้จริงของบ้านเมืองว่ามาจากการกระทำของใครกระทำอย่างไร เราก็จะได้รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ซึ่งจะสามารถทราบวิธีแก้ปัญหาให้เกิดความสงบเพื่อนำมาซึ่งความปรองดองนั้นได้ก็จะเป็น การแก้ปัญหาที่ถูกจุดถูกวิธี โดยคณะกรรมการ อาจจะเชิญแต่ละฝ่ายมาพูดคุยแล้วหาบทสรุปหาข้อเสนอของแต่ละฝ่ายเสียก่อน เมื่อได้ข้อเสนอของแต่ละฝ่ายแล้วก็มาประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อยุติ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้พูดถึงต้นตอของปัญหาอย่างกว้างขวางแท้จริงและรับฟังอย่างตั้งใจ ก็เชื่อว่าจะเห็นความคืบหน้าของการปรองดองได้ไม่ยากนัก แม้เรื่องปรองดองไม่ใช่เรื่องที่คิดว่าจะทำให้เสร็จภายในเร็ววันหรือเป็นเดือนแล้วทำกันได้โดยง่าย

เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่พรรคเพื่อไทยพยายามบอกว่าทหารเป็นคู่ขัดแย้ง ในขณะที่ทหารกลับปฏิเสธว่าไม่ใช่คู่ขัดแย้ง นายวิรัตน์กล่าวว่าในเรื่องนี้เมื่อเพื่อไทยมองว่าทหารเป็นคู่ขัดแย้ง คณะกรรมการก็ต้องฟังความเห็นของพรรคเพื่อไทยด้วยว่าต้องการที่จะพูดคุยกับใครหรือกับผู้ใด

“เสรี”ชี้ตั้งแง่ปรองดองได้ยาก

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงการจะเห็นแนวทางการปรอง ดองภายใน 3 เดือน ตามที่พล.อ.ประวิตรระบุว่า ต้องอยู่ที่ความร่วมมือของทุกฝ่าย ถ้ายังตั้งแง่พูดต่อรองและเสนอในสิ่งที่ขัดแย้งตั้งแต่ แรก อย่างนี้การปรองดองก็จะไปไม่รอด เช่นให้ทหารมาทำเอ็มโอยูว่าจะไม่ปฏิวัติแล้ว ซึ่งเงื่อนไขการปฏิวัติพูดไปก็จะเป็นการกล่าวหากัน เพราะสิ่งสำคัญคือนักการเมืองที่เข้าไปสู่ระบบเลือกตั้งจะเข้าไปทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่ แสวงหาผลประโยชน์ เอาแต่พวกพ้องหรือไม่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ปัญหาทั้งสิ้น ปัญหาใหญ่อยู่ตรงนี้ การเสนอข้อต่อรองสร้างบรรยา กาศของความขัดแย้งก็จะไปสู่ผลสำเร็จยาก

ดังนั้น จึงอยู่ที่ความรวมมือ อยู่ที่ข้อตกลง เพราะจุดยื่นของการเมืองแต่ละฝ่ายเป็นจุดที่รักษาผลประโยชน์ส่วนตัวทั้งนั้น ถ้าจะให้พ้นทุกคดีพ้นทุกข้อหา ถ้าผลออกมาไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมก็ไม่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งวิธีนี้ไม่พ้นสุดท้ายต้องออกมาตรการป้องกัน นอกจากกฎหมายห้ามชุมนุมก็ต้องมีเงื่อนไขต่างๆ ที่ไม่ทำอะไรผิดด้วย ไม่ใช่ไปสร้างมาตร การไม่ชุมนุมอย่างเดียว

กรธ.วางกรอบพรป.กสม. 7 ข้อ

นายนรชิต สิงหเสนี กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักการ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ…. (พ.ร.ป.กสม.) เผยถึงผลการพิจารณาโดย กรธ.เพื่อวางหลักการสำคัญก่อนการจัดทำร่างพ.ร.ป.กสม. ว่ามีหลักการสำคัญ 7 ประเด็น คือ 1.ให้ กสม.เป็นองค์กรอิสระ 2.การสรรหากรรมการ กสม.ต้องมีความหลากหลาย และสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน หรือหลักการว่าการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (หลักการปารีส)

3.หน้าที่ของ กสม.ด้านการพิทักษ์สิทธิแบบองค์รวม และเน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุในทุกพื้นที่ ไม่เลือกทำเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น หรือทำหน้าที่ตรวจสอบเฉพาะประเด็นใดประเด็นหนึ่ง 4.การสร้างความเข้าใจและทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นแบบกัลยาณมิตร ไม่ใช่การจับผิดการทำงาน 5.การยกมาตรฐานการทำงานขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ที่สากลและเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศให้การยอมรับ

6.สำนักงาน กสม.ต้องไม่ใช่หน่วยงานอิสระ เพราะต้องทำงานสนับสนุนกรรมการ กสม.ที่เป็นกรรมการอิสระ และ 7.สำนักงาน และเลขาธิการ กสม.ต้องรับผิดชอบต่อการทำงานทั้งคณะ ไม่เฉพาะประธาน กสม.เท่านั้น

25 ม.ค.เปิดเวทีรับฟังความเห็น

“สิ่งที่ กรธ.ได้วางหลักการไว้เป็นสิ่งที่อนุกรรมการต้องพิจารณารายละเอียดและข้อมูลที่เกี่ยวข้องประกอบ แต่ไม่ใช่การนำกฎหมายฉบับที่เคยบังคับใช้มาคัดลอกหรือเลียนแบบ แต่ต้องพิจารณาเนื้อหาที่ทันสมัยและสามารถแก้ปัญหาที่ผ่านมาได้ ขณะที่กระบวนการสรรหานั้นยอมรับว่ามีข้อเสนอจากกลุ่มเอ็นจีโอที่ต้องการให้เปิดกว้างและ มีความหลากหลาย ซึ่งอนุกรรมการเตรียมพิจารณาเนื้อหาดังกล่าวอย่างสำคัญ” นาย นรชิตกล่าว

นายนรชิตกล่าวว่า ในวันที่ 25 ม.ค.นี้จะมีเวทีเพื่อรับฟังความเห็นต่อร่างพ.ร.ป.กสม. ของเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยประเด็นสำคัญคือ 7 หลักการที่ กรธ.พิจารณาให้ความเห็น ขณะนี้ได้ออกหนังสือเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องให้เข้าร่วมแล้ว ส่วนประเด็นการดำรงตำแหน่งของ กสม.ชุดปัจจุบัน หลังมีกฎหมายลูกใหม่นั้น โดยหลักการ กรธ.จะยึดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเป็นหลัก คือ หากกรรมการ กสม.คนใดที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป แต่กรรมการ กสม.คนใดที่ขาดคุณสมบัติต้องพ้นจากตำแหน่งและดำเนินการสรรหาทดแทน ยอมรับว่ามีข้อเสนอจากหลายภาคส่วนให้ยกเลิก กสม.ชุดปัจจุบันทั้งคณะ แต่อนุกรรมการและ กรธ.ยังไม่มีข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว

อำนวยความสะดวก”ไผ่”สอบ

น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรม คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ชี้แจงกรณีการสอบของนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ผู้ต้องหาตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาต่อไปอีก 12 วัน เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก โดยนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม มอบหมายให้กรมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกการจัดสอบ ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษ ซึ่งเป็นสถานที่ฝากขังนายจตุภัทร ซึ่งยังคงสภาพเป็นนักศึกษาอยู่ หากกรณีศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยกรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปยังมหาวิทยาลัยขอนแก่นและประสานไปยังทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น แล้ว ซึ่งทั้งสองหน่วยงานยินดีที่จะอำนวยความสะดวกในการจัดสอบให้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสสอบและจบการศึกษาตามหลักสูตรต่อไป

นปช.เปิดเวทีปรองดอง-โคทมร่วม

เมื่อเวลา 15.00 น. ที่สถานีโทรทัศน์พีซทีวี ชั้น 5 ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว พีซทีวีร่วมมือกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดรายการทางวิชาการเวทีทัศน์ เรื่อง “ปรองดอง” เป็นครั้งแรก โดยมีนายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากรคนแรก ที่มาแสดงความเห็น

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า พวกตนแสดงจุดยืนแต่ต้นให้ประเทศเดินต่อไปได้ ไม่ประสงค์ให้ประเทศไทย อยู่ในวังวนความขัดแย้ง

“วันนี้ คสช.ต้องการเรื่องการปรองดอง เราก็พร้อมสนับสนุน ให้ความร่วมมือจะเซ็นเอ็มโอยู หรือให้สัจวาจาอะไรเราเอาทั้งนั้น โดย ยึดหลักความยุติธรรมและความเสมอภาค เพราะถ้าไม่มีตรงนี้จะให้มีการเลือกตั้งต่อไปก็จะมีปัญหา วันนี้ผมมองว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราก็ต้องอยู่บนเวทีเดียวกัน และผมอยากให้คุยเรื่องการปรองดรองในครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย นำมาสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง”

ด้านนายโคทมกล่าวว่า ต้องมีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั้งระดับรากหญ้า ระดับชนชั้นกลางที่รวมตัวกันเป็นภาคประชาสังคมได้แสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการขับเคลื่อนการปฏิรูปจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ในระบบปกติ เพราะเมื่อมีปัญหาเรื่องการเมืองเราก็ต้องแก้ด้วยการเมืองไม่ใช่ใช้การยึดอำนาจ ทั้งนี้ ในเรื่องของการปรอง ดองเป็นเรื่องของการยินยอมพร้อมใจและต้องเข้าใจตัวเอง จึงต้องใช้การ “สานเสวนา” เป็นแนวคิดหลักในเรื่องนี้ ด้วยการพูดคุย รับฟัง โดยไม่มีการผูกขาดใดๆ

โคทมชี้เหลียวหลัง-มองอนาคต

นายโคทมกล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการปรองดองต้องเริ่มต้นด้วยความอ่อนน้อม ถ่อมตน มีขันติในการรับฟังคนอื่น เพราะต้นเหตุของความขัดแย้งมี 3 อย่าง คือ 1.ทัศนคติ ความเชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องของอุดมการณ์และมุมมองของแต่ละคน 2.การกระทำ ก่อนหน้านี้ นปช.ได้สร้างโรงเรียนเสื้อแดง วันนี้ก็ควรเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนปรองดองบนลานเสวนา เป็นต้น

3.ตัวประเด็นเนื้อหาต่างๆ ทางการเมือง อย่าไปสร้างกระบวนการ วาทกรรม ที่ให้สังคม คล้อยตาม ช่วงหนึ่งประเทศไทยใช้วาทกรรมคำว่า “ประชาธิปไตย” มาใช้สร้างความขัดแย้ง และอยากให้มีการนำเรื่องภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมาศึกษาด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะไม่เช่นนั้นทำไม กปปส.ถึงมีคนภาคใต้มาก ขณะที่ นปช.เป็นคนอีสาน และเพราะสาเหตุใดความขัดแย้งการเมืองครั้งนี้ถึงลงไปในระดับครอบ ครัว มีการแบ่งเหลือง แบ่งแดงที่ชัดเจนมาก

นายโคทมกล่าวว่า ทางออกเรื่องการปรอง ดองคือ “เหลียวหลัง รั้งสติมาอยู่กับปัจจุบันเพื่อมองไปอนาคตข้างหน้า” การเหลียวหลังคือ การต่อรองด้วยการเล่าเรื่องในอดีตใหม่อย่างไร และการเยียวยา ซึ่งควรจะมีการนิรโทษบ้างในบางเงื่อนไข ส่วนปัจจุบันที่ควรทำคืออย่าเพิ่มเงื่อนไขความขัดแย้ง ควรเปิดเสรีแสดงความคิดเห็นให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และในช่วงนี้ใครออกมาแสดงความเห็นก็อย่าไปปิดปาก รวมไปถึงควรมีการวางแผน สร้างกลไกปรองดอง เช่น เปิดเวทีเสวนา เป็นต้น ส่วนมองอนาคตเราควรเดินหน้าสู่ประชาธิป ไตยเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งที่เสรี เที่ยงธรรม แล้วนำไปสู่การตั้งรัฐบาลที่สุจริต เที่ยงธรรม

เสนอปฏิบัติ 3 ข้อสู่ปรองดอง

นายโคทมกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะในการปรองดองมี 3 ข้อ ดังนี้ 1.เอาผู้ที่ขัดแย้งมา “สานเสวนาระดับชาติ” คุยโต๊ะกลม แลกเปลี่ยนความเห็น 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้เกิดข้อตกลงที่จะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหา 2.สร้างประชาธิปไตยระดับรากหญ้าให้แข็งแรง 3.สร้างสัมพันธ์ข้ามความคิดที่แตกต่างกันทาง การเมือง หรือที่เรียกว่า “ฟื้นความเป็นเพื่อน” เพื่อสร้างความปรองดองในชนชั้นกลาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงท้ายเป็นการถาม-ตอบจากผู้ชมทางบ้าน มีคำถามที่ว่าเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดตรงตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศ ไว้หรือไม่ นายโคทมกล่าวว่า ตรงนี้เหตุปัจจัยมีเยอะพอสมควร ตรงนี้ คสช.จะเร่งหรือจะชะลอก็ได้ ซึ่งเดาว่าถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเขา ก็ไม่น่าเสี่ยงกับการเสียคำพูด หากจะช้าจาก ที่เคยพูดไว้ก็คง 2-3 เดือน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน