‘อดีตปธ.นิสิตจุฬาฯ’ ลั่น!! “ครูไม่มีสิทธิ์ตัดผม” หยุดอ้างกฎระเบียบ กดขี่นักเรียน กฎกระทรวงลักลั่น-คลุมเครือ เอื้อ ‘ระบอบอำนาจนิยม’ ชี้ ควรให้มีสิทธิ และเสรีีภาพในทรงผม

ครูไม่มีสิทธิ์ตัดผม – จากกรณีคลิปครูทำโทษตัดผมนักเรียนหญิง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจ.กาญจนบุรี ซึ่งกำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้นั้น ว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุของครูหรือไม่

วันที่ 18 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ข่าวสดออนไลน์ จึงติดต่อไปยัง นายธนวัฒน์ วงศ์ไชย อดีตประธานสภานิสิตจุฬาฯ เพื่อสอบถามความเห็นถึงกรณีดังกล่าว

นายธนวัฒน์ เปิดเผยว่า ส่วนตัวมีความเห็นว่าปัญหานี้เกิดจาก กฎกระทรวงศึกษา มีความคลุมเครือและไม่ชัดเจน ย้อนกลับไปในสมัยที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เคยออกประกาศอธิบายคำ และปรับปรุง ระบุว่า ทรงผมชายจะเปลี่ยนจากทรงผมเกรียน เป็นทรงผมรองทรง เมื่อทำความเข้าใจคำว่ารองทรง ได้ใช้คำว่า ‘ไม่เกิน’ ทำให้บางโรงเรียนไปตีความคำนี้ และตัดสินคำว่า ยาวสุด คือรองทรง หมายความว่า โรงเรียนสามารถกำหนดบังคับให้ตัดผมทรงเกรียนสั้นก็ได้ หรือจะกำหนดให้ตัดทรงรองทรงก็ได้

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อนฉะนั้นการที่กฎกระทรวงเขียนคลุมเครือแบบนี้ ทำให้เกิดกฎของโรงเรียนที่แตกต่างกัน และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ในรูปลักษณ์ของนักเรียน เพราะบางโรงเรียนก็ตีความแบบเคร่งครัด และบางโรงเรียนก็ตีความแบบไม่เคร่งครัดเท่าไหร่ ผลกระทบที่ตามมาก็คือ ตัวของนักเรียนเองที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล สพฐ. กลับอยู่ภายใต้กติกาที่แตกต่างกัน

นายธนวัฒน์ กล่าวอย่างน่าสนใจว่า ความจริงที่เราเสนอกันมาตลอดก็คือ เราต้องเปิดเสรีทรงผม ซึ่งจะทำให้ปัญหานี้หมดไปทันที จะไม่มีใครมานั่งทะเลาะกันว่า ทรงไหนถูก หรือผิด โดยจากการวิจัยของผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ที่เคยยกมาอ้างนั้นพบว่า ทรงผมและเครื่องแต่งกาย ไม่ได้มีผลต่อการตั้งใจเรียน หรือคุณภาพการศึกษา

ส่วนประเด็นที่ครูตัดผมนักเรียนเช่นในกรณีนี้ ตนมองว่า เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของนักเรียน จริงอยู่ที่นักเรียนคนนี้อาจจะทำผิดกฎของโรงเรียน แต่วิธีการแก้ปัญหาของครู ต้องไม่ใช่การกระทำที่รุนแรงหรือละเมิดสิทธิของนักเรียน คือ มีวิธีการมากมาย ทั้งว่ากล่าวตักเตือน หักคะแนน หรือแจ้งผู้ปกครอง แต่ต้องไม่ใช่วิธีการตัดผม หรือใช้ความรุนแรงทางร่างกายของนักเรียน ซึ่งถือว่าผิดตามปฏิณญาสากลขององค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

“เมื่อเกิดประเด็นแบบนี้ขึ้น การศึกษาไทยจึงต้องตั้งคำถามกับเรื่องสิทธิ และเสรีภาพของความเป็นคนของนักเรียนมากขนาดไหน ความจริงแล้วกฎระเบียบที่เราชอบนำมาอ้างกันนั้น มันสามารถถูกแก้ไขได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะอยู่ยั้งยืนยงตลอดไป ส่วนไหนที่สามารถปรับไปตามยุคสมัย หรือหากมีการวิจัยที่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าทรงผม และเครื่องแต่งกาย ไม่ได้มีผลต่อการเรียนการสอน ทำไมเราจึงไม่ปรับให้เข้ากับยุคสมัย” นายธนวัฒน์ กล่าว

นายธนวัฒน์ กล่าวปิดท้ายว่า นอกจากนี้การที่ออกกฎให้คลุมเครือ และให้เกิดการตีความที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถานศึกษา สุดท้ายแล้วก็จะเอื้อให้เกิดการละเมิด และการใช้ความรุนแรงต่อนักเรียนในสถานศึกษา ยิ่งทำให้ ‘ระบอบอำนาจนิยม’ ในสถานศึกษา ยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน