10 ข้อสังเกตกรณี ‘พ.ร.บ.กัญชา’ ที่ผ่านวาระ 3 จากสนช.แล้ว

พรบ.กัญชา – นักวิชาการที่สนใจศึกษาการผลักดันกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ได้นำเสนอข้อสังเกต 10 ประการ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายเรื่องนี้ ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน เพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศและประชาชนไทยดังนี้

1. ขณะนี้ สนช.กำลังมีการพิจารณาประมวลกฎหมายยาเสพติด จำนวน 3 ฉบับด้วยกัน คือ ร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ และ ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติดฯ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซ้ำซ้อนและอาจก่อให้เกิดความสับสนกับร่าง พ.ร.บ.กัญชาหรือพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับปลดล็อกกัญชา ที่ผ่านการพิจารณาวาระที่ 3 จากสนช.ไปแล้ว

หากการพิจารณาประมวลกฎหมายยาเสพติด จำนวน 3 ฉบับแล้วเสร็จ กฎหมายยาเสพติดอื่นๆจะสิ้นสภาพไปโดยปริยาย รวมไปถึง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ และร่าง พ.ร.บ.กัญชา ด้วย

หากร่าง พ.ร.บ.กัญชา มีผลบังคับใช้ ก็จะมีผลบังคับเพียงช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนประมวลกฎหมายยาเสพติด จำนวน 3 ฉบับแล้วเสร็จ เท่ากับบทบัญญัติของ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา อาจส่งผลให้บุคคลใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ในช่วงเวลาสั้นๆ

โดยเฉพาะเนื้อหาตามบทบัญญัติมาตรา 22 ในร่าง พ.ร.บ.กัญชา ที่ว่าด้วยการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ครอบครองและทำการวิจัยสารสกัดกัญชาก่อนหน้านี้ ที่เป็นการยกเว้นโทษให้กับผู้ครอบครอง และทำการวิจัยมาก่อนหน้านี้ อาจรวมไปถึงกระบวนการขอสิทธิบัตรต่างๆที่ค้างอยู่ในระบบ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ด้วย

2. เนื้อหาตามบทบัญญัติมาตรา 22 ในร่าง พ.ร.บ.กัญชา ถูกแปรญัตติเพิ่มมาในชั้นกรรมาธิการ วาระที่ 2 ของสนช. ทั้งที่ไม่ปรากฎอยู่ในร่างเดิมซึ่งที่ประชุมสนช.รับหลักการในวาระที่ 1 สุ่มเสี่ยงที่จะขัดมาตรา 77 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ได้

3. จากกรณีที่อาจมีบุคคลใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์จากร่างพ.ร.บ.กัญชา ส่งผลให้อาจถูกตีความว่าขัดบทบัญญัติมาตรา 26 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุว่า กฎหมายต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

4. ร่างพ.ร.บ.กัญชา อาจก่อให้เกิดผลกระทบจากภายนอกประเทศด้วย เนื่องจากตั้งแต่เนื้อหาสาระของกฎหมายกัญชาบางช่วงบางตอนเขียนไว้อย่างไม่รัดกุม อาจจะเอื้อต่อการคลายล็อก“ฝิ่น” ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 พ่วงไปกับกัญชา และกระท่อม โดยอ้างว่าใช้ในทางการแพทย์ไปด้วย

5. ประเทศไทย ไม่มีผลการวิจัยใดๆเกี่ยวกับกัญชา หรือสารสกัดจากกัญชาแต่อย่างใด โดยไม่เคยมีการทำวิจัยใดๆเกี่ยวกับกัญชา ตั้งแต่เข้าร่วมเป็นหนึ่งในภาคีอนุสัญญาเดี่ยว ว่าด้วยยาเสพติดให้ไทย ค.ศ.1961 (The Single Convention on Narcotic Drugs, 1961) และพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้ไทย ค.ศ.1972 (The 1972 Protocol Amending the Single Convention on Narcotic Drugs, 1961)

6. เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.กัญชา อาจขัด ต่อปริมาณควบคุมและปริมาณการใช้ยาเสพติดให้โทษเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้ไทย ค.ศ.1961 และฉบับแก้ไข ค.ศ.1972 ส่งผลให้อาจถูกมาตรการประท้วงทางการค้าพืชผลทางการเกษตรจากนานาประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาดังกล่าวได้

7. คำขอสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชา จำนวน 7 คำขอของ GW Pharma /Otsuka ยังไม่ได้รับการเพิกถอนออกจากระบบของกรมทรัพย์สินทางปัญญา (ในขณะที่คำขอสิทธิบัตรรักษาโรคลมชักของ GW Pharma /Otsuka ประเภทเดียวกับที่ยื่นในประเทศไทย ถูกประเทศบราซิล อินเดีย และโคลัมเบียปฏิเสธคำขอ)

8. คำขอสิทธิบัตรต่างๆที่เกี่ยวกับสารสกัดจากพืชนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่สามารถรับได้ตั้งแต่ต้น เนื่องจากขัดบทบัญญัติหลายข้อในมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร อาทิ มาตรา 9(1) เพราะเป็นสารสกัดจากพืช มาตรา 9(4) เพราะเป็นสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการบำบัดรักษาโรค และมาตรา 9(5) ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน อีกทั้งยังขัดมาตรา 5 เพราะไม่มีความใหม่และไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ใหม่

ดังนั้นจึงไม่ควรมีผู้ยื่นคำขอรับจดสิทธิบัตรทั้งไทยและต่างชาติรายใด ได้รับการอนุญาตให้การประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับกัญชาได้รับการคุ้มครองในประเทศไทย เพราะผิดกฎหมาย หรือหากมีก็จะได้รับอานิสงค์จากมาตรา 22 ในร่าง พ.ร.บ.กัญชา ที่นิรโทษกรรมให้ล่วงหน้าหรือไม่

9. ตามกระบวนการพิจารณารับจดของกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้น ภาคประชาชนมองว่า พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับ 3) พ.ศ. 2542 มาตรา 28 (1) ระบุว่า “ถ้าอธิบดีพิจารณาเห็นว่าคำขอรับสิทธิบัตรไม่ถูกต้องตามมาตรา 17 หรือการประดิษฐ์นั้นไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 9 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตรนั้น…”

หรือ “(2) ถ้าอธิบดีพิจารณาเห็นว่าคำขอรับสิทธิบัตรถูกต้องตามมาตรา 17 หรือการประดิษฐ์นั้นได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 9 ให้อธิบดี “สั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรนั้น” สะท้อนว่า อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถยกเลิกคำขอสิทธิบัตรได้ทันที

หรือหากคำขอสิทธิบัตรผ่านการตรวจสอบมาถึงกระบวนการประกาศโฆษณา เปรียบเสมือนพิจารณาผ่านไปแล้วครึ่งทาง หากคำขอสิทธิบัตรนี้ผ่านประกาศโฆษณาโดยไม่มีผู้คัดค้าน ก็อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

10. ตามข้อมูล 7 คำขอสิทธิบัตรของ GW Pharma /Otsuka ที่ยังไม่ได้เพิกถอนออกจากระบบของ กรมทรัพย์สินทางปัญญา มีอย่างน้อย 1 คำขอคือ เลขที่คำขอ 1101003758 ชื่อสิทธิบัตร “การใช้ไฟโตแคนนาบินอยด์ หรือสารผสมของสารดังกล่าวในการรักษาโรคลมบ้าหมู” อยู่ในชั้นการประกาศโฆษณาแล้ว ขณะที่อีกอย่างน้อย 5 คำขอ กำลังยื่นให้มีการตรวจสอบการประดิษฐ์ ซึ่งก็เป็นอำนาจของ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่จะพิจารณาว่า ขัดต่อมาตรา 5 พ.ร.บ.สิทธิบัตร เพราะไม่มีความใหม่และไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ใหม่หรือไม่

อย่างไรก็ดี หากคำขอทั้งหมดไม่ได้ถูกเพิกถอนจากระบบ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมล่วงหน้าตาม มาตรา 22 ในร่าง พ.ร.บ.กัญชา

เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศไทย ควรให้ความสนใจว่า หากสิทธิบัตรของต่างชาติดังกล่าวได้รับการจดทะเบียน บริษัทยาของต่างชาติจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนายาจากกัญชา ทั้งจากการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาจากกัญชาในประเทศไทย แทนที่จะเป็นประชาชนในประเทศหรือไม่


ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน