ระทึก จู่ๆ นาวาตรีครูฝึกบินเครื่องขับไล่อัลฟ่าเจ็ต ดีดตัวออกจากเครื่องโดยไม่ทราบสาเหตุ โชคดีร่มชูชีพกางรอดชีวิตหวุดหวิด แต่ก็ไปเกี่ยวกับต้นไม้ ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ส่วนเครื่องลำที่เกิดเหตุเรือโทนักบินที่ 1 พากลับกองบิน 23 ได้ปลอดภัย ทอ.เร่งสอบสาเหตุ เผยประวัติเป็นฝูงบินที่ซื้อเครื่องปลดระวางจากกองทัพอากาศเยอรมนี มูลค่ากว่า 1.2 พันล้านบาท เข้าประจำการตั้งแต่ปี 2543

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 ก.พ. ร.ต.อ.มนัสวี บำรุงกิจ รอง สว.(สอบสวน) สภ.นาดินดำ อ.เมือง จ.เลย รับแจ้งเหตุจากศูนย์วิทยุ 191 จังหวัดเลย ว่ามีนักบินกระโดดร่ม ลงมาระหว่างหมู่บ้านเจริญสุข บ้านทรัพย์มงคล ต.นาดินดำ จึงนำกำลังรุดไปตรวจสอบและค้นหา พร้อม พ.ต.อ.ณัฐกฤช คำวิเศษชัย ผกก. เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน และเจ้าหน้าที่มูลนิธิสว่างคีรีธรรมจุดนาดินดำ

เจ้าหน้าที่กระจายกำลังค้นหากระทั่งพบ น.ต.สุโขทัย ศรีสมศัย นักบินที่ 2 เครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 (บจ.7) หรือเครื่องบินอัลฟ่าเจ็ต กองบิน 23 จ.อุดรธานี นอนอยู่บริเวณเนินเขาในสวนยางพารา ห่างจากถนนสายบ้านนาดินดำ-ท่าสวรรค์ อ.นาด้วง เข้าไปประมาณ 1 ก.ม. สภาพได้รับบาดเจ็บที่ตาข้างซ้าย ในที่เกิดเหตุยังพบร่มที่นักบินกระโดดลงมาค้างอยู่ที่ต้นยางพารา จึงรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งรักษาต่อที่ ร.พ.เลย ส่วนเครื่องบินลำที่เกิดเหตุนักบินที่ 1 นำเครื่องกลับกองบิน 23 จ.อุดรธานี ได้อย่างปลอดภัย ส่วนสาเหตุอยู่ระหว่างการตรวจสอบของกองทัพอากาศ

นายสังคม กันธรรม อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 182 ม.8 บ้านเจริญสุข ต.นาดินดำ เล่าว่า ขณะกำลังตัดอ้อยอยู่บริเวณใกล้เคียงได้ยินเสียงเครื่องบินบินผ่าน ซึ่งได้ยินเช่นนี้เป็นประจำปกติจะเห็น 2 ลำไล่กันมา แต่วันนี้ลำแรกบินผ่านไป ลำที่สองทิ้งห่างผิดสังเกตจึงมองขึ้นไปดูกลับได้ยินเสียงระเบิดดัง และมีร่มสีส้มลอยอยู่บนอากาศ ชวนเพื่อนบ้านวิ่งไปดูพบทหารที่บาดเจ็บจึงช่วยกันดังกล่าว ห่างจากที่พบนักบินประมาณ 500 เมตร พบเบาะเก้าอี้นักบินตกลงในสวนยางใกล้กัน

ด้าน น.อ.นิทัศน์ ยูประพัฒน์ ผู้บังคับการกองบิน 23 อ.เมือง จ.อุดรธานี เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปตรวจยังสถานที่เกิดเหตุ และเดินทางไปเยี่ยมนักบินที่ประสบอุบัติเหตุ กล่าวว่า ทางกองบินมีการฝึกยุทธวิธีประยุกต์เป็นประจำ โดยวันนี้ออกฝึกบิน 2 ลำ เป็นเครื่องบินขับไล่อัลฟ่าเจ็ต ลำที่เกิดอุบัติเหตุ มี น.ต.สุโขทัย ศรีสมศัย ครูฝึกเป็นนักบินที่ 2 และ ร.ท.ภูริ จุลพัลลภ นักบินที่ 1 เป็นนักบินฝึก ปรากฏมาถึงที่เกิดเหตุ โดยไม่ทราบสาเหตุ ครูฝึกถูกเก้าอี้ดีดตัวออกมาตกลงบริเวณดังกล่าว ส่วนนักบินที่ 1 ได้นำเครื่องกลับฐานที่ จ.อุดรธานี

“หลังจากได้รับรายงาน ผมและคณะ หลังจากได้รับรายงานเหตุ เมื่อเวลา 11.15 น. จึงนำเครื่องออกค้นหาทันที และทราบว่าชาวบ้านและหน่วยกู้ภัยได้ช่วยนักบินแล้ว จึงเดินทางมาที่ร.พ.เลย เมื่อเวลา 12.30 น. และต้องขอขอบคุณชาวจังหวัดเลยทุกคน ซึ่งยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ ต้องรอฝ่ายนิรภัยการบิน จากกองทัพอากาศมาตรวจสอบในวันพรุ่งนี้ ส่วนนักบินที่ประสบเหตุสามารถโต้ตอบรู้สึกตัวดี แพทย์รับตรวจดูอาการก่อนพิจารณาการรักษาต่อไป” น.อ.นิทัศน์กล่าว

น.อ.นิทัศน์กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าร.ท.ภูริไม่รู้ตัวว่าในขณะที่นักบินที่ 2 ดีดตัวออกจากเครื่องเกิดอะไรขึ้น เพราะเขาเป็นนักบินที่นั่งอยู่ข้างหน้า และในขณะเกิดเหตุเป็นการฝึกบินยุทธวิธีโจมตีเป้าหมายและกำลังหนีออกจากเป้าหมาย นักบินที่ 2 ก็ดีดตัวออกจากเครื่อง สำหรับสาเหตุเกิดจากตัวเครื่องหรือนักบินนั้น หลักการสอบสวนจะไม่สามารถวิเคราะห์ได้ เพราะจะเป็นการชี้นำชักจูงข้อมูล อยากให้รอทางคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุที่แน่ชัด เพื่อให้เกิดความชัดเจน ขอสร้างความเข้าใจว่าอย่าเพิ่งวิเคราะห์กัน เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการคาดเดา แต่ไม่ได้ไปจับที่เครื่องมือจริง ไม่ได้ไปดูเก้าอี้ของนักบินที่ 2 หรือเปิดเทปดูว่าเหตุการณ์เกิดอะไรขึ้น และหากคาดเดาออกไปจะทำให้ผิดทิศผิดทาง

“ผมได้รายงานด้วยวาจาให้กับพล.อ.อ. จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. ที่ติดภารกิจที่ประเทศเมียนมาให้รับทราบแล้ว โดยท่านได้สั่งการให้หยุดการบิน เพื่อให้ค้นหาสาเหตุความจริงก่อนที่จะออกปฏิบัติภารกิจต่อไป พร้อมทั้งได้ให้กำลังใจกับนักบินที่ได้รับบาดเจ็บ และได้มอบหมายให้ผมดูแลนักบินเป็นอย่างดี ส่วนอาการเบื้องต้นนักบินปลอดภัยแล้ว แต่ยังต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง” น.อ.นิทัศน์กล่าว

วันเดียวกัน ที่ บก.ทอ. พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย โฆษก ทอ. เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 11.30 น. เกิดอุบัติเหตุนักบินที่ 2 ดีดตัวออกจากเครื่องอัลฟ่าเจ็ตที่กำลังอยู่ในภารกิจการฝึกบินทางยุทธวิธี ขณะบินเหนือหมู่บ้านเจริญสุข ท้องที่ สภ.นาดินดำ อ.เมืองเลย ส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บ ขณะนี้นำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว ล่าสุดอาการปลอดภัยดี ส่วนนักบินที่ 1 นำเครื่องบินลำดังกล่าวมาลงที่กองบิน 23 จ.อุดรธานี อย่างปลอดภัย ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุว่าการดีดตัวของนักบินที่ 2 ครั้งนี้เกิดจากอะไร ต้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง

สำหรับเครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 (บจ.7) หรือเครื่องบินอัลฟ่าเจ็ต เป็นเครื่องบินรบที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีร่วมมือสร้างขึ้น ตามแผนโครงสร้างกองทัพไทย ปี 2540-2545 ทอ.ต้องปรับลดความต้องการกำลังรบจาก 36 ฝูงบิน เหลือ 24 ฝูงบิน เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณ ที่ถูกตัดลงตามวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ

แต่ทอ.ยังมีเครื่องบินไม่เพียงพอที่จะใช้สนับสนุนภารกิจทางยุทธการ ตามแผนการปรับลดกำลังรบ เพราะเครื่องบินที่กองทัพอากาศมีประจำการ เช่น เครื่องบินโจมตีแบบที่ 5 (บ.จ.5) หรือเครื่องบินโอวี-10 บรองโก และเครื่องบินโจมตีธุรการแบบที่ 2 (บ.จธ.2) หรือเครื่องบินเอยู 23 เอ พีชเมกเกอร์ จะครบอายุการใช้งาน ต้องปลดประจำการ จึงจำเป็นต้องจัดหาเครื่องบินขับไล่/โจมตี ที่มีสมรรถนะเท่ากันหรือดีกว่ามาทดแทน เพื่อให้ตรงกับความต้องการของกำลังรบของ ทอ.

ในเดือนก.พ. 2542 กระทรวงกลาโหมเยอรมนี เสนอขายเครื่องบินอัลฟ่าเจ็ตให้ ทอ.ในราคามิตรภาพ เนื่องจากกองทัพอากาศเยอรมันปลดประจำการเครื่องบินอัลฟ่าเจ็ตเพื่อลดขนาดกองทัพและได้เก็บรักษาไว้ในสภาพดี ตรงกับความต้องการจัดหาเครื่องบินทดแทน เครื่องบินโอวี-10 บรองโกและเครื่องบินเอยู 23 เอ พีชเมกเกอร์ วันที่ 21 พ.ค.ปีเดียวกัน รมว.กลาโหมในสมัยนั้นอนุมัติหลักการให้กองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินอัลฟ่าเจ็ต จากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี 50 เครื่อง ในลักษณะจัดซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยให้ใช้งบประมาณของ ทอ.ดำเนินการ

ต่อมาวันที่ 10 ส.ค.ปีเดียวกัน ครม.อนุมัติให้กองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินอัลฟ่าเจ็ตแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล จากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้ 25 เครื่อง ตามกำลังงบประมาณที่ ทอ.สามารถสนับสนุนได้ โดยให้ปรับเครื่องบินให้บินได้ตามมาตรฐานของเยอรมนี 20 เครื่อง และเก็บไว้เป็นอะไหล่ 5 เครื่อง วงเงินจัดซื้อ 62,430,250 ดอยช์มาร์ก หรือประมาณ 1,286,562,592 บาท ในการจัดซื้อครั้งนั้นได้จัดทำการค้าต่างตอบแทน (COUNTER TRADE) ตามมติครม.ด้วย

วันที่ 13 ส.ค.ปีเดียวกัน ผบ.ทอ.ในสมัยนั้นร่วมลงนามในข้อตกลงจัดซื้อเครื่องบินจำนวน 25 เครื่อง กับเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย และรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ลงนามแทนรัฐบาลไทย ว่าจ้างให้บริษัท FAIRCHILD DORNIER เป็นผู้ผลิต โดยกระทรวงกลาโหมเยอรมนีรับผิดชอบจัดส่งเจ้าหน้าที่เทคนิคมาควบคุมกำกับดูแล การปรับคืนสภาพเครื่องบินให้ได้มาตรฐานของเยอรมนี โดยบริษัท FAIRCHILD DORNIER ปรับคืนสภาพเครื่องบิน รวมทั้งการฝึกนักบินและเจ้าหน้าที่เทคนิคแต่ละสาขา ให้ซ่อมบำรุงเครื่องบินขั้นฝูงบินจำนวน 8 หลักสูตร รวม 70 คน

ทอ.รับมอบเครื่องบินชุดแรก จำนวน 5 เครื่อง เมื่อเดือนก.ย. 2543 เข้าประจำการที่ฝูงบิน 231 กองบิน 23 จ.อุดรธานี และทยอยรับมอบจนครบ 20 เครื่อง เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2544

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน