อย.ชงประกาศ นิรโทษ ผู้ครอบครอง กัญชา เสนอกก.ยาเสพติด 14 ก.พ.นี้

นิรโทษ กัญชา / วันที่ 12 ก.พ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างประกาศและกฎกระทรวง เพื่อเตรียมพร้อมใช้คู่กับร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ที่อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมาได้มีการประชุมอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษพิจารณาร่างอนุบัญญัติเรื่องที่เกี่ยวกับ กัญชา โดยตรง

เพื่อล้อตามร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ที่ผ่านการพิจารณาและอยู่ระหว่างรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งประกอบด้วยประกาศ 2 ฉบับ และกฎกระทรวงอีก 1 ฉบับ คือ ประกาศ 2 ฉบับที่ออกตามบทเฉพาะกาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของการนิรโทษ โดยหลักการคือ การให้คนที่ครอบครองกัญชาก่อนหน้าที่จะมีกฎหมายประกาศใช้ ได้มาแจ้งการครอบครองภายใน 90 วัน หากดำเนินการตามนี้จะไม่ต้องรับโทษ

แบ่งออกเป็น 2 ชุด โดยชุดที่ 1 จะเป็นหน่วยงานที่มีการครอบครองเพื่อทำการวิจัย เช่น ภาครัฐต่างๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน และแพทย์แผนไทย ซึ่งกลุ่มนี้ต้องมาแจ้งภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยขณะนี้กำลังทำรายละเอียดว่า ต้องแจ้งอะไรบ้าง เช่น มีครอบครองเพื่อวิจัยอะไร ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ว่า หากมาแจ้งในเวลากำหนด พร้อมแทบเหตุผลการครอบครองว่าวิจัยเพื่ออะไร ก็จะให้สิทธินิรโทษ

ชุดที่ 2 หรือประกาศฉบับที่ 2 จะครอบคลุมผู้ป่วยคนไข้ยา และคนทั่วไป ผู้ป่วยเราเขียนในประกาศว่า จะต้องมีใบรับรองแพทย์ว่า ป่วยด้วยโรคนี้ จำเป็นต้องใช้ยาอะไร อย่างไร เช่น ป่วยลมชัก ป่วยมะเร็ง จะบรรเทาด้วยกัญชาเพื่อลดอาการเจ็บปวดจากมะเร็ง หรือให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ก็ต้องแจ้งเข้ามา เมื่อตรวจสอบแล้วจะให้ใบอนุญาตครอบครองและให้ใช้ต่อไปได้

หมายถึง หากผู้ป่วยมีกัญชาที่ต้องใช้รักษาอยู่จำนวนหนึ่ง ไม่มาก เช่น 10 ขวด เราก็จะพิจารณาตามอาการของโรค แต่หากบอกมีไว้ในครอบครองเป็น 1,000 ขวด หรือมากกว่านั้น อันนี้หากไปในทางพาณิชย์ก็จะไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้เปิดเสรี เราให้ใช้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น อันนี้คือกลุ่มผู้ป่วย

แต่ยังมีอีกกลุ่มใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ก็ต้องมาแจ้ง ทางเราก็จะยึดของกลางไว้เพื่อรอทำลายต่อไป แต่คนๆนั้นก็จะไม่ต้องรับโทษ แต่ทั้งหมดต้องทำภายใน 90 วันหลังร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ บังคับใช้แล้ว

แจ้งใน 90 วันไม่ต้องรับโทษ

ทั้งหมดจะเข้าสู่การผ่านคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษในวันที่ 14 ก.พ. หากเห็นชอบก็เข้าสู่กระบวนการสอบถามความคิดเห็นอย่างไม่เป็นทางการก่อน ซึ่งขั้นตอนต่างๆที่เราทำ ก็เป็นการเตรียมการก่อนกฎหมายใหญ่ออกมาบังคับใช้จริง เป็นกระบวนการทำแบบคู่ขนาน

“กฎระเบียบต่างๆที่เตรียมพร้อมนั้น ก็คล้ายกับการเซ็ตซีโร่เพื่อให้ทุกอย่างเข้าสู่ระบบ ส่วนก่อนหน้านี้ที่ครอบครองไว้ หากแจ้งทาง อย.ภายใน 90 วันก็ไม่ต้องรับโทษ ส่วนที่จะมาขอครอบครองใหม่ก็ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ อย่างเราได้ออกแบบกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น หากเป็นผู้ป่วยจริง เป็นหมอแผนไทยจริง เป็นนักวิจัย ก็จะสามารถใช้ได้อยู่ แต่ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์เรา” เลขาธิการ อย.กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญร่างกฎหมายใหม่ยังกำหนดว่า ทั้งมหาวิทยาลัย หรือเอกชนหากจะทำยังต้องร่วมกันกับภาครัฐภายใน 5 ปีแรก โดยจะมีข้อกำหนดอยู่ เพื่อควบคุมปริมาณการใช้เพื่อทางการแพทย์ ไม่ให้เกินจนอาจไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งการทำงานร่วมกันกับภาครัฐและเอกชนนั้น

อย่างการปลูกก็อาจเป็นในรูปแบบ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) ต้องมีข้อตกลงในสัญญาว่า หากปลูกจะส่งให้ใครผลิตเพื่อเป็นยา หรือจะปลูกให้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทำการวิจัย ก็ต้องมีรายละเอียดว่าจะทำวิจัยอะไร เป็นต้น ก็เพื่อมั่นใจว่าการปลูกแล้วมีที่รองรับในการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จริงๆ ป้องกันไปใช้ในตลาดมืด

ผู้สื่อข่าวถามกรณีขณะนี้กฎหมายใหญ่ในการคลายล็อกยังไม่ออก แต่มีพรรคการเมืองบางพรรคชูนโยบายปลูกกัญชาเสรี อาจทำให้เกิดความสับสนหรือไม่ เลขาธิการ อย.กล่าวว่า การชูนโยบายลักษณะนี้เป็นเหมือนเรื่องอนาคต เพราะกฎหมาย ณ ขณะนี้ที่มีการแก้ไข และอยู่ระหว่างรอการประกาศใช้ ไม่ได้กำหนดเช่นนั้น แต่ให้ใช้ในรูปแบบคลายล็อก คือ ใช้ทางการแพทย์เท่านั้น

แต่อนาคตหากจะมีทิศทางอย่างไรก็ต้องไปแก้กฎหมายใหญ่อีก แต่ปัจจุบันไม่มี กฎหมายไม่ได้เขียนว่าให้ปลูกเสรี ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนปลูกเป็นรายบุคคล โดยหลักที่ออกกฎหมายไม่ได้มุ่งแค่ช่วยผู้ป่วย แต่ต้องการให้มีระบบดูแลการใช้ให้ดี ไม่มากจนล้นตลาด จนกลายเป็นช่องทางในการใช้ผิดๆ โดยหลัก หากกฎหมายประกาศใช้ จะมีคณะกรรมการในการประเมินการใช้ทุก 6 เดือน เพื่อประเมินว่าที่ดำเนินการอยู่เป็นไปในทิศทางอย่างไร

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน