ย้อนประวัติศาสตร์! เมื่อเจ้าเมือง ใช้ นักเลง ถืออำนาจคุมประชาชน

ศิลปวัฒนธรรม ได้เผยแพร่บทความ “กรมการนักเลงโต” เมื่อท้องถิ่นใช้ นักเลง ปกครองเป็นผู้คุมกฎ ระบุตอนหนึ่งว่า การปกครองตามหัวเมืองในอดีตที่เรียกว่า “กินเมือง” หรือ “ว่าราชการเมือง” มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองในท้องที่ให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข เพื่อให้การปกครองเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ

เจ้าเมืองสมัยก่อนจึงเลือกที่จะหาคนที่ชาวบ้านให้ความยำเกรง (หรือหวาดกลัว) มาเป็นผู้ที่ถืออำนาจในการบังคับกะเกณฑ์พลเมืองให้ปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายของเจ้าเมือง

ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเล่าถึงการตั้ง “กรมการ” ของเจ้าเมืองต่างๆ ไว้ว่า บางครั้งเป็นการตั้งนักเลงโต ที่มีพรรคพวกมากให้เป็นกรมการเพื่อจะให้โจรผู้ร้ายยำเกรงไม่กล้าปล้นสะดมในถิ่นนั้น แต่บางทีก็กลับให้ผลร้าย

เช่นกรณีของ คหบดีนามว่า “ช้าง” ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้รักษากรุงศรีอยุธยาในตอนต้นรัชกาลที่ 5 ให้เป็น “หลวงบรรเทาทุกข์” ดูแลเกาะใหญ่ ซึ่งเป็นย่านเปลี่ยวมีโจรผู้ร้ายชุกชุม

ปรากฏว่า หลวงบรรเทาฯ ได้รับคำชื่นชมจากบรรดาชนชั้นสูงผู้มีบรรดาศักดิ์ที่สัญจรผ่านพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับชาวเรือที่มาขอพึ่งบารมีหลวงบรรเทาฯ เนื่องจากไม่มีโจรผู้ร้ายหน้าไหนกล้าเข้ามาย่ำยีพวกเขาในพื้นที่ดูแลของหลวงบรรเทาฯ เลย

แต่ความมากระจ่างปลายรัชกาลที่ 5 นี่เองว่า แท้จริงแล้วหลวงบรรเทาฯ นั้นเป็นหัวหน้าซ่องโจร แม้จะเข้ามาทำหน้าที่รับใช้หลวงก็ยังไม่ทิ้งสันดานโจร ในพื้นที่ที่หลวงบรรเทาฯ ดูแล มีการปล้นฆ่าน้อยก็ด้วยอำนาจบารมีแบบนักเลงโต

เพราะหลวงบรรเทาฯ ก็ยังสั่งลูกน้องในสังกัดของตัวให้ไปอาละวาด ก่อเหตุโจรกรรมในพื้นที่อื่น สุดท้ายเมื่อข้าหลวงชำระความแล้วเห็นแน่ว่า หลวงบรรเทาฯ เป็นหัวหน้าซ่องโจร ก็เลยต้องโทษประหาร กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวไปพักใหญ่








Advertisement

อ่านต้นฉบับ

แอดไลน์ข่าวสดไม่พลาดทุกข่าวสารเพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน