“อัยการธนกฤต” แก๊งแตรวง ส่อผิดหลายข้อหา หาก ตร.เเจ้งไม่ครบ อัยการสั่งสอบเเจ้งข้อหาเพิ่มได้ เอาจไม่เข้าซ่องโจรที่โทษสูงกว่ามั่วสุม หากไม่ได้ประชุมวางเเผนมาก่อน

วันที่ 26 ก.พ.ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์เฟสบุ๊ค ความเห็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับกรณีเกิดเหตุ แก๊งแตรวง ทำร้ายร่างกายในโรงเรียนวัดสิงห์ ถนนเอกชัย เเขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง มีข้อความว่า กรณีโรงเรียนวัดสิงห์ ผิดฐานไหนและมีโทษอย่างไร

กรณีที่มีกลุ่มโจ๋ชายฉกรรจ์จำนวน 20 กว่าคน บุกเข้าไปในโรงเรียนวัดสิงห์ และทำลายทรัพย์สินของโรงเรียนเสียหาย และได้ทำร้ายร่างกายครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ของโรงเรียน ที่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่คุมสอบของนักเรียน และมีพฤติการณ์ข่มขู่นักเรียนที่เข้าสอบ

อีกทั้งบางคนได้กระทำการลวนลามนักเรียนหญิงในโรงเรียนด้วย ตามที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ นั้น ในเรื่องนี้ ขอให้ความเห็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำของกลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าวว่าน่าจะเข้าข่ายกระทำความผิดฐานใดและมีอัตราโทษตามกฎหมายสำหรับการกระทำความผิดอย่างไรบ้าง แต่ทั้งนี้เป็นเพียงการให้ความเห็นทางกฎหมายเท่านั้น

การกระทำของกลุ่มผู้ต้องหาจะเป็นความผิดฐานใดบ้างยังต้องผ่านขั้นตอนการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนรวมทั้งการพิจารณาในชั้นอัยการและศาลต่อไปอีก

ความผิดต่อร่างกาย

ความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา (ปอ.) มาตรา 296 ประกอบมาตรา 289 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากปรากฏว่าเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสต้องระวางโทษหนักขึ้น เป็นจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี ตาม ปอ.มาตรา 298

ความผิดต่อเสรีภาพ

ความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย ถ้าได้กระทำโดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ปอ.มาตรา 309

ความผิดต่อเพศและเสรีภาพ

ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุเกิน 15 ปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ปอ.มาตรา 278 และคนที่กระชากลากแขนเด็กหญิงไปกระทำอนาจารยังอาจมีความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 310 ด้วย

ความผิดต่อทรัพย์สินของทางราชการ

ความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ปอ.มาตรา 358

ในเรื่องนี้ มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1113/2516 วินิจฉัยว่า สถานที่ราชการแม้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (3) แต่เป็นทรัพย์สินประเภทที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 การที่จำเลยทำให้สถานที่ราชการเสียหาย จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360

ความผิดฐานบุกรุก

ความผิดฐานเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้ารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ปอ. มาตรา 362 และ 365

ความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้าย

ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิดทั้งหมด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับผู้กระทำความผิดที่เป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้สั่งการในการกระทำความผิด ต้องระวางโทษหนักขึ้น โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ปอ. มาตรา 215 สำหรับการที่จะเป็นความผิดฐานซ่องโจรตาม ปอ. มาตรา 210 นั้น จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่า ได้มีการประชุมหารือร่วมกัน และตกลงร่วมกันว่าจะกระทำความผิด

หากเพียงแต่มีบุคคลหลายคนกระทำความผิดร่วมกัน แต่ไม่ได้มีการคบคิด ร่วมประชุมปรึกษาหารือกันและตกลงที่จะกระทำความผิดตามที่ได้ตกลงหารือ แต่เป็นการกระทำความผิดที่เป็นกรณีปัจจุบันทันด่วน บันดาลโทสะ แล้วเข้าไปทำลายข้าวของ ทำร้ายคนเลย ไม่ทันได้คิดวางแผนประชุมปรึกษาหารือและตกลงร่วมกันว่าจะกระทำความผิดมาก่อน

ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏเป็นแบบนี้ก็จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานซ่องโจรไม่ได้ ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2829/2526, 3201/2527, 4050/2534

สำหรับความผิดฐานซ่องโจรนี้จะมีอัตราโทษที่สูงกว่าความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดลหุโทษ

ความผิดฐานรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ที่เป็นการกระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัลหรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ปอ. มาตรา 397 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

และในกรณีที่มีผู้ถูกทำร้ายร่างกายเช่นมีเด็กนักเรียนถูกตบหน้าแต่ไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กาย ผู้กระทำอาจมีความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ปอ. มาตรา 391 ด้วย

ความผิดฐานดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัด

ผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัดมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 31 (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 42

มีข้อสังเกตว่า

(1) หากลักษณะของการกระทำความผิดปรากฏว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ หลายกรรมต่างกัน ก็ต้องรับโทษทุกกรรมเรียงกระทงความผิดไป ซึ่งตาม ปอ. มาตรา 91 กำหนดว่า ในกรณีของการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 20 ปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี แต่ ไม่เกิน 10 ปี

(2) ต้องมาพิจารณาดูลักษณะของการกระทำความผิดว่าความผิดใดเป็นการร่วมกันกระทำความผิด ความผิดใดเป็นการกระทำความผิดแต่เพียงลำพังคนเดียว และผู้ใดมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดบ้าง

หลังจากที่พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาและได้ดำเนินการสอบสวนและส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการแล้ว หากอัยการเห็นว่าควรที่พนักงานสอบสวนจะสอบสวนในประเด็นใดเพิ่มเติมและแจ้งข้อหาใดเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหา อัยการก็มีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นนั้นรวมทั้งแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาได้

เหตุการณ์ความรุนแรงดังที่กล่าวมาไม่ใช่จะเกิดเฉพาะที่โรงเรียนวัดสิงห์เท่านั้น ที่ผ่านมาจะพบว่ามีเหตุการณ์ที่ใช้ความรุนแรงในสังคมไทยเกิดขึ้นบ่อยมาก

เหตุการณ์ที่โรงเรียนวัดสิงห์นี้จึงน่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้สังคมไทยเห็นโทษของการขาดสติ ไม่รู้จักระงับและควบคุมอารมณ์ และโทษของการใช้ความรุนแรงในการจัดการกับสิ่งที่ตนเองไม่พึงพอใจ ด้วยการไปทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อนซึ่งก็มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการดื่มสุราเข้าไปด้วย และทำให้ชีวิตตนเองต้องพบกับความเสื่อม ความตกต่ำ เสื่อมเสียชื่อเสียง และสร้างความเดือดร้อนเสียหาย ทั้งต่อผู้อื่น ตนเองและครอบครัว

นอกจากนี้ ยังเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้คนในสังคมไทยเห็นความสำคัญของการมีสติ รู้จักระงับควบคุมอารมณ์ หลีกเลี่ยงจากการใช้ความรุนแรง รู้จักให้อภัย มีน้ำใจ และมีความเมตตาปรารถนาดีต่อกันด้วย

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน