ฮือฮา “นาซ่า” ค้นพบดาวเคราะห์ 7 ดวง ขนาดใกล้เคียงกับ โลก โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง ในจำนวนนี้ 3 ดวง มีสภาพแวดล้อม ระดับอุณหภูมิเหมาะแก่การเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ของไทย ร่วมให้ข้อมูล ระบุดาวมีลักษณะเป็นหินแข็ง มีน้ำที่ไม่ร้อน หรือเย็นจนเกินไป แต่ระยะทางห่างจากโลกถึง 40 ปีแสง หรือ 376 ล้านล้านกิโลเมตร หากเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ต ใช้เวลา 4 ล้าน ปีกว่า จะถึง

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. สำนักข่าวเอพีรายงานว่า คณะนักวิจัยองค์การการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (นาซ่า) เปิดแถลงใหญ่ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ถึงการค้นพบระบบดาวนอกระบบสุริยะแห่งใหม่ เป็นดาวเคราะห์ 7 ดวง ขนาดใกล้เคียงกับโลก โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง ในจำนวนนี้ 3 ดวงอยู่ในสภาพแวดล้อม และระดับอุณหภูมิที่เป็นไปได้ว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่ การแถลง ดังกล่าวมีบรรดาสื่อต่างประเทศชั้นนำต่างถ่ายทอดสดทางเพจเฟซบุ๊กกันอย่างกว้างขวาง

นายอโมรี ตรีโอด์ นักวิจัยทีมเบลเยียม มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ กล่าวว่าดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวง โคจรรอบดาวแคระแดงที่มีชื่อว่าแทร็ปพิสต์-1 เป็นดาวฤกษ์ขนาดเล็ก ใกล้เคียงกับดาวพฤหัสบดี หรือจูปิเตอร์ ในจำนวนนี้ 3 ดวง อยู่ในโซนที่มีอุณหภูมิ ที่ไม่สูงจนเกินไปจนสู่จุดน้ำระเหย และ ไม่หนาวมากจนสู่จุดเยือกแข็งจนเกินไป ประกอบกับพื้นผิวที่มีลักษณะเป็นหินใกล้เคียงกับโลก และมีความเป็นไปได้ว่าอุณภูมิของดาวเคราะห์ดังกล่าวอาจจะอยู่ประมาณ 100 องศาเซลเซียสถึง 0 อาจจะเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต

“เราอยู่ในขั้นที่ลุ้นมากสำหรับการค้นหาว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่ที่นั่นหรือไม่ เพราะโอกาสของดาวที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกในกาแล็กซีทางช้างเผือกจำนวนมากจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่หรือไม่นั้น ยากจะหยั่งรู้ได้ ผมคาดหวังว่าเราจะได้คำตอบในอีกสิบปีข้างหน้า” นายตรีโอด์กล่าว

การค้นพบครั้งนี้มาจากการศึกษาวิจัยด้วยกล้องโทรทรรศน์สำหรับสำรวจอวกาศตั้งอยู่ในประเทศชิลี พบกลุ่มดาวดังกล่าวอยู่ห่างออกไป 40 ปีแสงในกลุ่มดาวราศีกุมภ์ โดยเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว นายมิชาเอล กียง แห่งมหาวิทยาลัยลีเอจ ประเทศเบลเยียม และคณะ ค้นพบดวงดาวรอบดาวแทร็ปพิสต์-1 จำนวน 3 ดวง แต่มาล่าสุดนี้ผลการศึกษาค้นพบเพิ่มเป็น 7 ดวง และอาจมีมากกว่านี้อีก โดยระบบดาวกลุ่มนี้ชวนให้นึกถึงดาวพฤหัสฯ และเหล่าดวงจันทร์บริวาร นอกจากนี้ทีมงานของนายกียง ยังได้ริเริ่มศึกษาและวิเคราะห์ก๊าซมีเธนในชั้นบรรยากาศของดาวแทร็ปพิสต์-1 ที่มีต้นต่อมาจากสิ่งมีชีวิตเท่านั้น ขณะที่นายโธมัส ซูร์บูเชน หัวหน้าคณะวิทยาศาสตร์ของนาซา กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้จุดประกายว่า การค้นหาโลกแห่งที่สองไม่เพียงขึ้นอยู่กับว่ามีหรือไม่ แต่เป็นเมื่อใดต่างหาก

ด้านนายศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก เพราะกลุ่มดาวดังกล่าวนั้นอย่างน้อย 3 ดวง อาจมีสิ่งมีชีวิต เพราะดาวเป็นหินแข็ง มีน้ำอยู่เป็นของเหลวได้ และเป็นน้ำที่ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป

นายศรันย์กล่าวว่าแต่การเดินทางไปพิสูจน์ยังดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวง คงลำบาก เพราะอยู่ห่างจากโลกถึง 40 ปีแสง หรือ 376 ล้านล้านกิโลเมตร โดย 1 ปีแสงเท่ากับระยะทางที่แสงจะเดินทางในเวลา 1 ปี ประมาณ 3 แสนเมตรต่อวินาที ลองคูณเอาว่าจะต้องใช้เวลาเดินทางกี่ปี เมื่อเทียบกับการเดินทางไปดาวอังคารที่อยู่ในระบบสุริยจักรวาลยังถือว่าง่ายกว่า เพราะขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ตั้งเป้าว่าภายใน 15 ปี จะต้องเดินทางไปดาวอังคาร เพื่อพิสูจน์ว่ามนุษย์และสิ่งมีชีวิตสามารถอยู่อาศัยได้หรือไม่

ส่วนนายมติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ กล่าวว่าดาวเคราะห์ 7 ดวงที่เพิ่งค้นพบนี้ ใกล้เคียงกับโลก 3 ดวง อยู่ในช่วงที่เอื้อต่อการมีชีวิต แต่ด้วยระยะทางที่ไกลถึง 39-40 ปีแสง หากเราเดินทางได้เร็วเท่ากับแสง ยังต้องใช้เวลาถึง 39 ปี และหากเราพยายามจะเดินทางไประบบดาวเคราะห์นี้ ด้วยความเร็วของเครื่องบินเจ็ต จะต้องใช้เวลาถึงกว่า 4 ล้านปี

ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์กล่าวต่อถึงวิธีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในปัจจุบัน ว่าส่วนมากใช้วิธีตรวจวัดการหรี่ของแสง เมื่อดาวเคราะห์เคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวฤกษ์ เมื่อเวลาผ่านไปและดาวเคราะห์เหล่านี้โคจรมาบังแสงของดาวฤกษ์อีกครั้งหนึ่ง จึงยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้ พร้อมทั้งสามารถวัดคาบการโคจร ที่บอกถึงระยะห่างจากดาวฤกษ์ได้อีกด้วย นอกจากนี้การวัดขนาดของดาวเคราะห์ ได้จากสัดส่วนของแสงของดาวฤกษ์ที่หรี่ลงระหว่างเกิดการบังกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน