ผบ.ฉก.ยะลา นำร่องตรวจ DNA ทหารเกณฑ์ เก็บเป็นฐานข้อมูล เพื่อ ‘ความมั่นคง’ เผย น้องๆ ยินยอมให้ตรวจ และเข้าใจ

ทหารเกณฑ์ – วันที่ 5 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.อ.ชลัช ศรีวิเชียร รอง ผบ.ฉก.ยะลา กล่าวว่า การตรวจดีเอ็นเอ ปีนี้เป็นปีแรก ของการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการประจำปี 2562 และถือเป็นการนำร่อง ใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอ จ.สงขลา หลังจากนี้ก็จะขยายไปพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป การเก็บดีเอ็นเอ ในครั้งนี้เราจะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาทำเป็นฐานข้อมูลของบุคคลที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งในห้วง 15 ปีที่ผ่านมา จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบขึ้นอยู่บ่อยครั้ง เพราะฉะนั้นในเรื่องของการหาผู้กระทำผิดมาลงโทษก็ต้องมีความจำเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของหลักฐานประจักษ์พยาน เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด จึงต้องตอบคำถามของสังคมให้ได้อย่างไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัย หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง โดยการติดตามบังคับใช้กฎหมายในห้วงหลายปีที่ผ่านมา เราสามารถควบคุมตัวผู้ก่อเหตุรุนแรง และแนวร่วมได้จำนวนมาก เราใช้กระบวนการนี้เป็นการพิสูจน์กระบวนการทางยุติธรรมโดยใช้ดีเอ็นเอในกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ เป็นตัวชี้วัดอย่างน่าเชื่อถือ และมองว่าหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มีความจำเป็น และความสำคัญ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

“การตรวจดีเอ็นเอ ประมาณ 4 วันที่ผ่านมา ที่มีการคัดเลือกทหาร แต่ละพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราไม่ได้บังคับน้องให้ตรวจ แต่ได้อธิบายตามความเข้าใจ จนเด็กๆ ให้ความร่วมมือ และกระทำด้วยความสมัครใจ บางพื้นที่อาจมีน้องๆ บางคนไม่ยินดีให้ตรวจ ทางเราก็ไม่ตรวจ เรามองว่าเราชี้แจงอธิบายเหตุผลความจำเป็นไปแล้ว เด็กๆ ควรทำ หรือให้ความร่วมมือด้วยความสมัครใจจะดีกว่า สำหรับในพื้นที่ จ.ยะลา มีผู้เข้ารับการตรวจเลือก จำนวน 3,677 คน มีน้องๆ ไม่สมัครใจให้ตรวจ ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนใหญ่จะยินยอมให้ตรวจหมดเลย”

สำหรับผู้ที่ไม่ยอมให้ตรวจมีกฎหมายอยู่ คือ กม.มาตรา 131/1 ป.วิอาญาซึ่งจะเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน เพื่อจะต้องพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา ถ้าผู้ต้องหาไม่ยอมให้ตรวจดีเอ็นเอ ให้สันนิษฐานว่า ผลเป็นไปตามตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายต่อผู้ต้องหา

เมื่อคุณไม่ให้ตรวจดีเอ็นเอก็ไม่ได้แสดงว่าคุณเป็นคนร้าย เราสามารถเลือกหนทางในการปฏิบัติได้ถ้ารู้สึกว่าไม่สบายใจ แต่ในฐานะเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องของความมั่นคง จะสงสัยว่า คุณมีขอติดขัดประเด็นใด ทำไม่ถึงไม่ให้ตรวจ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่โดยเฉพาะอาสาสมัครทหารพรานอาสาสมัครรักษาดินแดนและอื่นๆ เราจะเก็บดีเอ็นเอรวมทั้งจัดเก็บหลักฐานจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทุกกระบอกไว้เป็นหลักฐาน เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาหรือบางเหตุการณ์มีการกล่าวหาว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 สามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่หรือใครเป็นผู้กระทำ

ฉะนั้นการถูกตรวจดีเอ็นเอทั้งๆ ที่มิได้กระทำความผิดก็สบายใจได้แล้ว หากท่านไม่ผิดก็ไม่มีใครสามารถยัดเยียดความผิดให้ท่านได้ นอกจากนี้ดีเอ็นเอ จะเป็นตัวบ่งชี้ผู้สร้างความเดือดร้อนสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้ซึ่งดีเอ็นเอจะเป็นคำตอบได้ดีที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน