ผอ.จิสด้า แนะวิธีใช้ จีพีเอส ยังไงไม่ให้หลงทาง เผยบางแห่งใช้ภาพจากถ่ายดาวเทียมหรือใช้แผนที่มาแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัล ข้อมูลจึงไม่เป็นปัจจุบัน หากสภาพทางเปลี่ยน ไม่มีในแผนที่ก็อาจจะนำหลงทางได้

กรณีที่มีผู้โพสต์ข้อความพร้อมภาพในเฟชบุ๊ก ระบุว่าขับรถหลงทางเพราะให้เปิดระบบจีพีเอสนำทาง เพื่อเลี่ยงรถติดบนถนนมิตรภาพแต่กลับพบว่า ถนนที่นำทางมาถูกน้ำในเขื่อนลำตะคองท่วมจนเลิกใช้ทางไปแล้ว เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของระบบจีพีเอส ว่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหนนั้น

จีพีเอส / เมื่อวันที่ 12 เม.ย. นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ให้ความรู้ในเรื่องนี้ ว่า GPS ย่อมาจาก Global Positioning System หรือ ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก ที่เราใช้กันในรถยนต์หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ นั้น ทำงานได้โดยอาศัยดาวเทียมประมาณ 30 ดวงที่โคจรอยู่เหนือพื้นโลก ณ ความสูง 20,000 กิโลเมตร

ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหนบนโลก ณ เวลาใดก็ตาม จะมีดาวเทียมกลุ่มนี้อย่างน้อย 4 ดวงบนฟ้าเสมอ เครื่องรับสัญญาณจีพีเอสจะคำนวณว่า ตัวเครื่องอยู่ห่างจากดาวเทียมแต่ละดวงเท่าใด เมื่อนำข้อมูลจากดาวเทียมทั้ง 4 ดวงในขณะนั้นมาเปรียบเทียบกัน ก็จะทราบตำแหน่งที่แน่นอนของเราบนพื้นโลก

นายอานนท์ กล่าวต่อว่า เมื่อนำระบบจีพีเอสมาผสานกับแผนที่ ก็จะได้ระบบดาวเทียมนำทาง หรือจีเอ็นเอสเอส ที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้ จุดนี้เองที่เป็นปัญหา เพราะแต่ละบริษัทผู้ผลิตไม่ได้ใช้ข้อมูลแผนที่จากแหล่งเดียวกัน บางบริษัทลงสำรวจเส้นทางจริง บางแห่งใช้ภาพถ่ายดาวเทียม บ้างก็นำแผนที่กระดาษมาแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัล ข้อมูลก็อาจไม่เป็นปัจจุบัน หรือสภาพทางที่เปลี่ยนแปลงไปกลับไม่ปรากฏในแผนที่ จนเกิดเหตุการณ์นำทางลงเขื่อนอย่างที่เห็น

“การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไม่ยากเลย แค่เราต้องอัพเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ จีพีเอสบางตัวมีการเชื่อมต่อเครือข่ายออนไลน์ และอัพเดทข้อมูลอัตโนมัติอยู่เสมอว่า เส้นทาง ตรอก ซอก ซอย แม่น้ำ ถนน ลำธาร เป็นอย่างไร แบบนี้โอกาสที่จะพาหลงมีน้อยมาก แต่สำหรับจีพีเอสที่ไม่เชื่อมโยงกับเครือข่ายออนไลน์ โอกาสจะผิดพลาดมีเยอะมาก เพราะปัจจุบันนี้มีสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆเกิดขึ้น ถ้าไม่อัพเดตข้อมูลโอกาสผิดพลาดจะเกิดได้มาก” ผอ.จิสด้า กล่าว

ปัจจุบันประเทศไทยมีศูนย์ข้อมูลค่าอ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่องแห่งชาติ (National CORS Center) ให้บริการข้อมูลแก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปบริการประชาชน ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องการนำทางและการจราจรเท่านั้นจีเอ็นเอสเอส ยังใช้รังวัด สำรวจและทำแผนที่ การป้องกันประเทศ การวางผังเมืองและการจัดการเมือง การบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติต่างๆ ได้อีกด้วย

ที่มา มติชนออนไลน์
ภาพจาก ช่องวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน