เผยสถิติ คนเหงาไทยพุ่ง 26.57 ล้าน ทำธุรกิจความเหงาโต วัยทำงาน-วัยรุ่นมากสุด

นายบุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาดวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยข้อมูลงานวิจัย การตลาดคนเหงา ในประเทศไทย ว่า จากการได้นำแบบทดสอบระดับความเหงา UCLA Loneliness Scales ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา มาทดสอบกลุ่มตัวอย่างคนไทย จำนวน 1,126 คน

พบว่าปัจจุบันตัวเลขตลาดคนเหงาในประเทศไทย มีจำนวนสูงถึงกว่า 26.57 ล้านคน จากจำนวนประชากรรวมของไทย 66.4 ล้านคน คิดเป็น 40.4%

โดยกลุ่มผู้มีภาวะความเหงาสูงสุดได้แก่ วัยทำงาน 49.3% วัยรุ่นวัยเรียน 41.8% วัยผู้ใหญ่ 33.6% และผู้สูงอายุ 24.5% ส่วนใหญ่จะเลือกใช้ 3 กิจกรรมบำบัดความเหงา ได้แก่ โซเชียลมีเดีย เพราะเป็นวิธีช่วยคลายเหงาที่เข้าถึงง่าย รวมถึงยังเป็นหนึ่งในวิธีการแก้เหงาที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด

ซึ่งความนิยมสูงสุดคือ เฟซบุ๊ก 36.7% ไลน์ 33% อินสตราแกรม (ไอจี) 16.7% และ ทวิตเตอร์ 11.9% กิจกรรมรองมาคือ เข้าร้านอาหารหรือคาเฟ่ และสุดท้ายคือ การช็อปปิ้ง

ทั้งนี้คาดว่าการขยายตัวของตลาดคนเหงาในประเทศ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจที่รองรับความต้องการคนเหงาเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอย่าง ร้านอาหาร คาเฟ่ บอร์ดเกม รวมถึง ธุรกิจสัตว์เลี้ยง และ ธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นตลาดที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนเหงา และเข้ากับไลฟ์สไตล์คนเหงาปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน