ดีเอสไอลุยค้นต่อ ได้เบาะแส “ธัมมชโย” ซุกวัดสาขาธรรมกายในไทย แต่อยู่นอกพื้นที่ควบคุมพิเศษ เชื่อหนีไปช่วง 16-18 ก.พ.ด้วยวิธีทุบกำแพง สั่งเร่งรวบรวมหลักฐานขอศาลออกหมายค้นแล้ว อธิบดีระบุยังไม่เลิกมาตรา 44 แต่จะลดกำลังจนท.-ด่านตรวจ ไฟเขียวพระ-ศิษย์เข้าวัดไปเก็บข้าวของ รื้อเต็นท์-ยกตู้คอนเทนเนอร์ออกจากประตู มอบตร.ปทุมฯ-เจ้าคณะจังหวัด-พศ.ควบคุมดูแลพื้นที่วัด ด้านสุวพันธุ์ลั่นไม่ยุติการทำงาน เดินทางดำเนินคดีไม่เว้น ขณะที่ผอ.พศ.ชงสมเด็จพระพุทธชินวงศ์พิจารณาสละสมณเพศพระธัมมชโย

จนท.รื้อเต็นท์รอบธรรมกาย

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. สำหรับการประกาศใช้ ม.44 ให้พื้นที่วัดพระธรรมกายและโดยรอบเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ ก่อนพยายามบุกเข้าค้นวัด เพื่อติดตามจับกุมพระธัมมชโย ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา วัดเปิดให้เจ้าหน้าที่เข้าค้นอีกรอบ แต่ก็ไม่พบพระธัมมชโย ก่อนประกาศถอนกำลังและเสนอหัวหน้า คสช.เลิก ม.44

ความคืบหน้าในวันที่ 11 มี.ค. บรรยากาศบริเวณคลองแอล ประตู 5-6 วัดพระธรรมกาย ในช่วงเช้าพระสงฆ์และลูกศิษย์ช่วยกันรื้อเต็นท์ที่ตั้งอยู่บนถนน เพื่อเคลียร์พื้นที่ โดยลูกศิษย์บางส่วนทยอยเดินทางเข้าวัด เพื่อช่วยกันเก็บกวาดพื้นที่ ส่วนบริเวณประตู 1 และ 4 ที่อยู่ใกล้อาคารบุญรักษายังคงปิดไว้ แต่สามารถใช้เส้นทางเลียบคลองแอลผ่านประตู 5-6 เพื่อไปยังอาคารบุญรักษาและด้านหลังวัดได้ ขณะที่บริเวณประตู 2-3 ลูกศิษย์ต่างช่วยกันรื้อเต็นท์และสิ่งกีดขวางออกจากถนนเช่นกัน เพื่อเปิดทางให้รถสัญจรผ่านไปมาได้

ส่วนบริเวณประตู 15 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอใช้รถเครนขนาดใหญ่ยกตู้คอนเทนเนอร์ที่วางขวางประตูออก รวมถึงบริเวณประตู 9 ด้วย เพื่อเปิดเส้นทางให้พระและศิษย์เข้าไปเก็บของภายในวัดได้ ขณะที่สัญญาณโทรศัพท์มือถือ ทั้งในและรอบวัดสามารถกลับมาใช้ได้ตามปกติ

ยังไม่ประกาศเลิกมาตรา44

นอกจากนี้ที่ตลาดกลางคลองหลวง ลูกศิษย์วัดได้เข้ารื้อเต็นท์และเก็บเสื่อหมอนที่นอนข้าวของเครื่องใช้ เพื่อเร่งฟื้นฟูตลาด โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดบริเวณทางเข้าออกตลาด เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดคิดหรือมือที่สามมาสร้างสถานการณ์ ตามมาตรา 44 ที่ยังไม่ประกาศยกเลิกเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ

ขณะที่บริเวณหน้าอาคารบุญรักษา ซึ่งอยู่นอกกำแพงวัดพระธรรมกาย ใกล้ประตู 15 ที่มีการขุดร่องน้ำ 5 ร่องบนถนนทางเข้าและขุดคูน้ำรอบอาคารบุญรักษานั้น ล่าสุดวัดพระธรรมกายยังไม่นำดินมาถมคลองตามข้อตกลงแต่อย่างใด ซึ่งชาวบ้านระบุว่าระดับน้ำที่ท่วมบ้านและสวนค่อยๆ ลดลงแล้ว แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ระบายน้ำออกมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนจำนวนมากยังหลั่งไหลเดินทางเข้าวัดอย่างไม่ขาดสาย โดยสามารถใช้เส้นทางเข้าออกวัดพระธรรมกายได้ทุกประตู ซึ่งมีตำรวจยืนรักษาความปลอดภัยบริเวณประตูเข้า-ออก

ได้เบาะแสธัมมชโยซุกวัดสาขา

ที่บก.ตชด.ภ.1 พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยว่า ขณะนี้ฝ่ายสืบสวนดีเอสไอและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จัดชุดสืบสวนหาตัวพระธัมมชโยแล้ว ซึ่งมี ผู้แจ้งเบาะแสมาที่ดีเอสไอถึงสถานที่ในเครือข่ายวัดพระธรรมกายในประเทศไทย ที่คาดว่าพระธัมมชโยจะไปหลบซ่อนตัวอยู่หลายแห่ง หนึ่งในนั้นเป็นสถานที่ที่เคยมีผู้แจ้งเบาะแสมานานแล้ว และอยู่นอกพื้นที่ควบคุมตามประกาศ มาตรา 44 ซึ่งดีเอสไออยู่ระหว่างพิสูจน์ทราบและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อขอให้ศาลอนุมัติหมายค้นโดยเร็วที่สุด

พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวอีกว่า บริเวณวัดพระธรรมกายจะยังไม่ยกเลิกประกาศพื้นที่ควบคุมตามมาตรา 44 แต่ได้ลดกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลและตั้งด่านลง พร้อมอนุญาตให้ศิษยานุศิษย์และพระเข้าไปภายในวัดได้ แต่ไม่ให้ทางวัดทำกิจกรรมที่เป็นการระดมมวลชนใดๆ ทั้งสิ้น โดยเชื่อพระธัมมชโยอาจหลบหนีไปช่วงวันที่ 16-18 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีการทุบกำแพงวัดและเป็นไปได้ที่มีคนให้ความช่วยเหลือ แต่ยืนยันเจ้าหน้าที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลบหนีของพระธัมมชโย

มอบ 3 ฝ่ายดูแลวัดธรรมกาย

ด้านพ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และรองโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ประชุมสรุปสถานการณ์และผลการปฏิบัติงานของเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังยุติการตรวจค้นวัดพระธรรมกาย เพื่อให้ได้ตัว ผู้ต้องหาตามหมายจับคือพระธัมมชโย โดยในพื้นที่ยังคงมาตรา 44 ควบคุมพื้นที่ของวัดพระธรรมกาย เพื่อป้องกันมือที่สามเข้าก่อเหตุวุ่นวายและรักษาความปลอดภัย โดยหลังจากนี้มอบหมายให้ ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี เจ้าคณะจังหวัด ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จ.ปทุมธานี ควบคุมดูแลพื้นที่วัด ซึ่งการตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตามจุดต่างๆ รอบวัดพระธรรมกายจะปรับลดกำลังเจ้าหน้าที่ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ แต่ยังคงเข้มงวดการรักษาความปลอดภัย

พ.ต.ต.วรณันกล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะเป็นเรื่องการข่าวของเจ้าหน้าที่ในการติดตามตัว เพื่อจับกุมผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับ เนื่องจากผลการตรวจค้นวัดพระธรรมกายไม่พบพระธัมมชโย จึงคลายข้อสงสัยว่าพระธัมมชโยสามารถเคลื่อนย้ายหลบหนีได้ ไม่ได้อาพาธอย่างที่ทางวัดกล่าวอ้างมาก่อนหน้านี้ โดยอายุความตามหมายจับคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ยังเหลืออายุความอีกประมาณ 10 ปี

สุวพันธุ์ลั่นไม่ยุติ-เดินหน้าเอาผิด

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ได้รับรายงานเบื้องต้นจากอธิบดีดีเอสไอ เรื่องการตรวจค้นวัด พระธรรมกายเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยได้เข้าตรวจค้นจุดต้องสงสัยสำคัญคือ อาคารดาวดึงส์ ซึ่งเป็นกุฏิพระธัมมชโย เพื่อดูร่องรอยว่ากลับมาใช้หรือไม่ ซึ่งไม่พบร่องรอยและได้ค้นอาคารปุโรหิตา อาคารมหาพรหม โรงปั้นพระ อาคารมหาวิหารคุณยายอาจารย์ อาคารพุทธศิลป์ อาคารร้อยปีคุณยายอาจารย์ อาคารบุญรักษาและยังไปตรวจดูถังน้ำมัน ร่องคูที่ขุดไว้ใกล้ๆ ด้วย ส่วนที่ไม่พบตัวพระธัมมชโยนั้น ถือเป็นหน้าที่ของดีเอสไอที่ต้องสืบสวนหาเบาะแสว่าพระธัมมชโยอยู่ที่ใด

“ดีเอสไอมีชุดสืบสวนเฉพาะกิจติดตามกรณีนี้อย่างจริงจัง ดังนั้นขอย้ำว่าแม้ดีเอสไอจะได้เข้าไปตรวจค้นพื้นที่ที่ต้องสงสัยแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยุติการทำงาน ความรับผิดชอบของดีเอสไอตามคำสั่งที่ 5/2560 ยังคงอยู่และถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำต่อไป ดีเอสไอต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ใครทำผิดกฎหมายไว้ก็จะถูกดำเนินคดีไม่มีละเว้น ไม่งั้นสังคมอาจสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต จะทำอะไรต่อไป จะหยุดแค่นี้หรือไม่ ขอเรียนว่าไม่หยุด การบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่วัดพระธรรมกายและพื้นที่โดยรอบต้องดำเนินการต่อไป เบื้องต้นทราบว่าจะตั้งกองอำนวยการร่วมขึ้นภายในวัดพระธรรมกาย ประกอบด้วย ตำรวจบช.ภ.1 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ฝ่ายปกครองของจังหวัด คณะสงฆ์ผู้ปกครอง เพื่อดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยภายในวัด รวมทั้งบริหารและจัดกิจกรรม” นายสุวพันธุ์กล่าว

นายสุวพันธุ์กล่าวอีกว่า การชุมนุมที่ตลาดกลางคลองหลวงต้องยุติลง การปลุกระดมให้พระสงฆ์และลูกศิษย์มารวมตัวกันต้องไม่มี การดำเนินคดีผู้กระทำความผิดต้องทำต่อไป การก่อกวนยั่วยุต่อกำลังทหารและตำรวจต้องยุติลง รวมทั้งการเคลื่อนไหวของพวกฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ หรือรอเวลาให้เกิดเหตุรุนแรงแล้วผสมโรง ต้องไม่มี ตนเห็นว่าเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้ได้คือ การบังคับใช้กฎหมายกับพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย ต้องทำได้ในระยะยาว อีกเรื่องคือต้องระวังเหตุแทรกซ้อนที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง การบาดเจ็บหรือเสียชีวิต รัฐบาลต้องดำเนินการต่อไปทั้ง 2 เรื่อง โดยยืนยันว่ากระทรวงยุติธรรมจะไม่ยุติการทำงานเพียงเท่านี้แน่

พศ.ชงพิจารณาสละสมณเพศ

ขณะที่พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำหรับขั้นตอนหลังจากทำหนังสือไปยังสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่ หนกลาง เพื่อขอให้พิจารณาใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ว่าด้วยการให้ภิกษุสละสมณเพศ ดำเนินการกับพระธัมมชโยนั้น สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ จะพิจารณาและแจ้งเรื่องดังกล่าวไปยังเจ้าคณะผู้ปกครองตามลำดับ คือ เจ้าคณะภาค 1, เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี, เจ้าคณะอำเภอคลองหลวง และเจ้าคณะตำบลคลองสี่ เพื่อแจ้งไปยังรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เมื่อมีการแจ้งไปยังรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายแล้ว ทางรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายต้องปฏิบัติตามที่เจ้าคณะผู้ปกครองขอความร่วมมือมา จะนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะรักษาการเจ้าอาวาสถือเป็นพระสังฆาธิการ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ในส่วนสถานการณ์ของวัดพระธรรมกาย หลังดีเอสไอยุติการตรวจค้นแล้ว ถือว่าในภาพรวมมีบรรยากาศที่ดีขึ้น

โพลถอดบทเรียนพระธัมมชโย

วันเดียวกัน กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ถอดบทเรียนพระธัมมชโย : วิกฤตการณ์สั่นคลอนพระพุทธศาสนา” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่นับถือศาสนาพุทธจำนวน 1,075 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

พบว่าบทเรียนที่ชาวพุทธได้รับจากกรณีพระธัมมชโย มากที่สุด ร้อยละ 25.9 คือการนำความศรัทธาของชาวพุทธมาแปลงเป็นผลประโยชน์เข้าวัดในรูปของการทำบุญ รองลงมาร้อยละ 24.9 แสดงให้เห็นว่าชาวพุทธมีความเข้าใจในหลักธรรมทางพุทธศาสนาน้อยมาก จึงง่ายที่จะคล้อยตามและหลงใหลศรัทธา และร้อยละ 21.1 ปล่อยให้ปลูกฝังคำสอนที่ผิดบิดเบือนการสอนพระธรรมจนกลายเป็นปัญหาใหญ่

ส่วนเรื่องที่กระทบต่อแนวคิดและหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาจากกรณีธรรมกาย ชาวพุทธร้อยละ 63.5 ระบุเกิดความเข้าใจผิดเรื่องการทำบุญ โดยเห็นบุญเป็นสินค้าจ่ายเยอะได้บุญเยอะ รองลงมาร้อยละ 51.3 ระบุว่าใช้การตลาดเข้ามาบริหารวัด ซึ่งขัดต่อพระพุทธศาสนาที่เน้นความเรียบง่าย และร้อยละ 50.6 ระบุสร้างค่านิยมที่หวังผลดลบันดาล มัวเมาอยู่ในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

ส่วนความกังวลต่อวิถีแห่งศรัทธาทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ร้อยละ 54.6 ระบุว่ากังวลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 45.4 กังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

เรื่องที่อยากให้ปฏิรูปวงการพุทธศาสนาให้เห็นเป็นรูปธรรมมากสุด ร้อยละ 35.8 ระบุให้ยึดและเผยแพร่พระธรรมคำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธศาสนา รองลงมาร้อยละ 27.7 ระบุพระภิกษุควรประพฤติตามวินัยสงฆ์การอันใดไม่ใช่กิจของสงฆ์ไม่ควรยุ่ง และร้อยละ 10.2 ระบุว่าให้กลั่นกรองผู้เข้ามาบวชเรียนอย่างเคร่งครัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน