วันที่ 17 พ.ค. ที่ห้อง Grand Hall 2 โรงแรมรามาการ์เดนส์ ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวในงานแถลงข่าว Tobacco burns your lungs “บุหรี่เผาปอด” จัดโดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า วันงดสูบบุหรี่โลกวันที่ 31 พ.ค.ปีนี้ใช้ธีมว่า “บุหรี่เผาปอด” เนื่องจากเพราะบุหรี่ส่งผลกระทบกับปอดมากที่สุด สังเกตได้จากตัวเลขผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ เมื่อปี 2560 พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่รวม 72,656 คน โดยร้อยละ 49 เสียชีวิตจากโรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ โดยอันดับหนึ่งคือ มะเร็งปอด ทำให้เสียชีวิตปีละ 13,727 คน รองลงมาคือ ถุงลมโป่งพอง 10,852 คน โรคปอดอักเสบและวัณโรคปอด 10,833 คน รวมแล้วกว่า 35,412 คน หากรวมคนไทยที่เสียชีวิตจากโรคปอดโดยควันบุหรี่มือสองปีละ 8,278 คน คนไทยจะเสียชีวิตจากโรคปอดจากการสูบบุหรี่ถึง 4 หมื่นกว่าคน

ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า โรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ถือเป็นภาระโรคที่รักษาได้ยาก และทำให้คนทุกข์ทรมานจากตัวโรคค่อนข้างยาว โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด และโรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งจะป่วยนานและทรมาน และยิ่งเด็กที่อายุน้อยๆ เนื่องจากปอดมีขนาดเล็กกว่าผู้ใหญ่ การรับสารพิษต่างๆ ในปริมาณเท่ากัน แต่เมื่อเทียบกับขนาดของปอดแล้ว จึงส่งผลกับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และเด็กหายใจเร็วและจำนวนครั้งมากกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้มีโอกาสรับพิษมากกว่า ถ้ามีคนสูบบุหรี่ในบ้านเด็กก็จะได้รับควันบุหรี่โดยตรง ส่วนใหญ่จะเป็นพวกโรคหอบหืดต่างๆ ปัจจุบันไม่มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องยาก จึงต้องมีการรณรงค์ไม่ให้สูบบุหรี่ในบ้านแทน

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเวลาจุดบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าจะมี 2 ส่วนเกิดขึ้น 1.ความร้อน ซึ่งควันจากบุหรี่มวนดั้งเดิมมีความร้อนถึง 600 องศาเซลเซียส สูงกว่า 6 เท่าของน้ำเดือด ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้าแม้จะเคลมว่าร้อนน้อยกว่า ซึ่งก็จริง แต่ก็ร้อนถึง 300 องศาเซลเซียส ความร้อนระดับนี้เกิน 100 องศาเซลเซียส ก็สามารถเข้าไปเผาทำลายเซลล์เยื่อบุการหายใจ ทั้งเซลล์เยื่อบุหลอดลม และเซลล์เยื่อบุผนังถุงลมได้แล้ว ทำให้ปอดแต่ละข้างที่มีถุงลม 2-4 ล้านอันเกาะติดกัน เมื่อผนังของถุงลมที่ยึดโยงเป็นตาข่ายหรือใช้ผนังร่วมกัน เมื่อฉีกขาดก็จะทำให้โบ๋และถูกทำลายไปเรื่อย จึงเกิดโรคถุงลมโป่งพอง จึงเรียกว่าเป็นบุหรี่เผาปอด

และ 2.สารเคมี โดยบุหรี่มวนมีสารพิษต่อร่างกายมนุษย์ถึง 7 พันชนิดแตกต่างกัน โดย 60 ชนิดพิสูจน์แล้วว่า ก่อมะเร็งในมนุษย์ได้จริง สารเคมีจะเข้าไปทำปฏิกิริยา ก่อให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง ทั้งในโพรงจมูก หลอดลม เนื้อปอด ถุงลม เช่น เกิดอาการภูมิแพ้ หรือหลอดลมอักเสบแบบเรื้อรัง มีการผลิตมูกเพิ่มขึ้น ไอเรื้อรังมากขึ้น ทำให้เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจที่จะมีขนเล็กๆ คอยปัดกวาดสารเคมีและฝุ่นควันที่หายใจเข้าไปออกมาผ่านการไอหรือน้ำมูก หยุดทำงานลง ทำให้เสมหะค้างอยู่ในภายในจนอุดกั้น จนเกิดโรคถุงลมโป่งพองอีกรูปแบบหนึ่ง

“ส่วนสารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า มีสารพิษที่ไม่มีในบุหรี่มวนจำนวนมาก เช่น ตัวทำละลายน้ำยา ที่เรียกว่า โพรไพลีน ไกลคอล ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหนัก เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ การผลิตสารทำความเย็น หรือสารปรุงแต่งกลิ่นรสและสี ซึ่งสารเหล่านี้ไม่เคยถูกออกแบบให้เข้าสู่ร่างกายมนุษย์มาก่อน การทำให้ระเหิดเป็นไอ จึงยังไม่มีใครรู้ว่าจะมีพิษมากน้อยแค่ไหน เกิดโรคอะไรเร็วช้าแค่ไหน แต่ทางการแพทย์ถือว่ามีพิษแน่ๆ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งมีการใช้ไม่ถึง 10 ปี แต่เบื้องต้นก็มีงานวิจัยจำนวนมากถึงความไม่ปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้า” รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว

รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวต่อว่า ส่วนการเกิดโรคมะเร็งนั้น เกิดได้ทั้งจากความร้อนและสารเคมี แต่ส่วนใหญ่ความร้อนจะทำให้เซลล์ตายก่อน ส่วนสารเคมีจะเข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างของโครโมโซม ทำให้โคมโมโซมหักงอ หรือการเรียงลำดับของโปรตีนที่กำหนดมาให้ทำงานตามปกติ เกิดการเรียงสลับไปมาผิดเพี้ยนไปจนไม่สามารถทำงานได้ ทำให้เกิดมะเร็งขึ้น ซึ่งยังเกิดได้จากการสัมผัสสารพิษโดยตรง เช่น ช่องปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เพดานปาก หลอดลม ทำให้เกิดมะเร็งได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคมากขึ้น รักษาวัณโรคได้ยากขึ้นถ้าไม่สูบบุหรี่ เพราะทำให้ร่างกายภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เชื้อจึงเข้มแข็งมากขึ้น เมื่อรักษาไม่ได้ผลก็ยิ่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยามากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเป็นปัญหาที่น่าห่วง เพราะวัณโรคดื้อยาแล้วถึง 1 ใน 3 สุดท้ายจะไม่มียารักษา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน