“ลุงเก๊ง ณัฐพล” จากดาราหนัง สู่ส.ส.ม้ง อนาคตใหม่ หวังเป็นปากเสียงชาวดอย แก้ปัญหาคนอยู่ป่า

เพียงเข้าสภาฯครั้งแรก ก็ถูกกระแสจากโลกออนไลน์โจมตี และ ออกมาตั้งคำถามถึงความเหมาะสมเรื่องการแต่งกาย

เมื่อ ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ หรือลุงเก๊ง เลือกใส่ชุดประจำชาติพันธุ์ม้ง เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเพื่อเลือกประธานสภาฯ บ่งบอกถึงความไม่เข้าใจ ในเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของคนไทยจำนวนหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงชื่นชมจากพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ถึงความภาคภูมิใจที่มีตัวแทนของพวกเขา เข้าไปส่งเสียงพูดแทนในหลายๆเรื่องที่เป็นปัญหาหมักหมมมายาวนาน

ในเช้าที่รถติดหนัก เมฆครึ้มเทา ถนนหลายสายยังเต็มไปด้วยน้ำ หลังฝนห่าใหญ่ในค่ำคืนที่ผ่านมา ลุงเก๊ง พ่อลูก 4 วัย 54 ปี ยังคงยืนยันตัวตนของเขาด้วยชุดชนเผ่า นั่งเล่าความฝัน และตัวตนส่วนหนึ่งของผู้แทนคนดอย ให้ ข่าวสดออนไลน์ ได้นำมาเผยแพร่ต่อ

บรรทัดต่อจากนี้ไปเป็นเรื่องราวส่วนหนึ่ง ของ ส.ส.ม้งคนแรกในประเทศไทย

 

ชีวิตวัยเด็ก ความฝันที่พังทลาย

ผมเกิดในครอบครัวที่แม่มีลูกทั้งหมด 10 คน เป็นผู้หญิง 4 คน เป็นผู้ชาย 6 คน โดยผมเป็นลูกคนที่ 4 และเนื่องจากก่อนหน้านี้มีพี่สาว 3 คน ทำให้ถูกตั้งชื่อว่า เก๊ง ในฐานะที่เป็นลูกชายคนแรกของครอบครัว ถือเป็นจุดเริ่มต้น และต้องเป็นคนดูแลน้องๆ

ตอนเด็ก ช่วงที่เรียนชั้น ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ยังไม่ได้ใช้จ่ายเงินอะไรมาก ช่วงนั้นชาวบ้านยังอยู่ในวิถีเกษตรกรรม ทำให้ยังพอมีกำลังเรียนหนังสืออยู่

แต่เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยก็เริ่มมีปัญหา เนื่องจากติดเรื่องเงิน เพราะยังไม่มีเงินกู้ ทำให้เมื่อตอนเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อประมาณปี 2528-2529 เรียนได้เพียง 4 เดือน

เงินที่เก็บมาตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่น และเงินที่ครอบครัวรวบรวมมาจากญาติพี่น้องเพื่อให้มาใช้ในการเรียนก็หมด อีกทั้งมีน้องหลายคน ก็ต้องเสียสละ ทำให้ตัดสินใจลาออก วุฒิการศึกษาตอนนี้จึงจบแค่ ม.6

ทั้งที่การเรียนหนังสือสูงๆ เป็นความฝันของผมตั้งแต่เด็ก เพราะอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น และคิดว่าการเรียนจะสามารถทำให้ไปอยู่ในจุดนั้นได้ แม้เราจะมีศักยภาพแต่ก็ทำให้ขาดโอกาส

เรื่องการศึกษา ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ มีเด็กบนดอยส่วนหนึ่งที่มีความสามารถแต่ว่าพวกเขาขาดโอกาส ทำให้ไม่สามารถเรียนหนังสือสูงๆได้ตามตั้งใจ กระทรวงศึกษาธิการ ต้องมาแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะคนบนดอยยังอ่อนแอ ไม่เหมือนคนเมืองที่เขาช่วยตัวเองได้แล้ว

เรียนหนังสือไม่จบ แต่ชีวิตต้องเดินต่อ

พอเงินหมดไม่ได้เรียนแล้ว ก็ต้องกลับบ้าน ซึ่งจะทำให้ไม่มีโอกาสได้เห็นสังคมอีกสังคมหนึ่ง เพราะผมโตมาจากสังคมชนบท ผมต้องการมาเรียนรู้ และดูอีกสังคมหนึ่ง มันทำให้ได้เปรียบที่คนๆหนึ่งเรียนรู้ได้หลายสังคม

ตอนนั้นที่ตัดสินใจไม่เรียนต่อแล้ว ถามว่าผิดหวังไหม ก็ไม่นะ แต่เข้าใจความจริงมากกว่า เลยตัดสินใจอยู่กรุงเทพฯ โดยทำงานตั้งแต่เป็นเด็กเสิร์ฟ เป็นพนักงานโรงแรม 5 ดาวที่สนามบินดอนเมือง วนเวียนทำงานในลักษณะนี้มาตลอด

ทำให้เจอความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์บนโลกนี้ ทำให้อยากไปไกลกว่าประเทศไทย จะไปเรียนรู้โลกใบนี้ งานที่ทำตอนนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้กลับมาเป็นผู้แทนราษฎรในทุกวันนี้

โดยเด็กชาวดอยกว่าจะทำความฝันให้โตขึ้นเหมือนทุกวันนี้มันช้ามาก ไม่เหมือนเด็กในเมืองที่เขามีโอกาสมากกว่าเรา ส่วนผมเริ่มต้นตั้งแต่ศูนย์ และต้องใช้เวลาพอสมควร

กระทั่งตัดสินใจไปทำงานบนเรือสำราญ ในแผนกดูแลการต้อนรับ ที่ฝรั่งเศส กลางมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากรายได้ดีสามารถเลี้ยงน้องและครอบครัวได้ โอกาสตรงนั้นทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่าง

 

ชีวิตพลิกผัน สู่ดาราหนัง และความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่

หลังจากทำงานบนเรือ ผมมีโอกาสทำงานด้านบันเทิง กับพี่น้องม้งต่างประเทศ ทั้งจาก อเมริกา ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส ชักชวนเล่นหนังอยู่ในวงการบันเทิงคนม้ง ทำเป็นหนังซีดี จนมีโอกาสถ่ายหนังไทย เรื่อง ม้งสงครามวีรบุรุษ ร่วมกับ สรพงษ์ ชาตรี

กระทั่งชีวิตพบกับจุดหักเห ซึ่งตอนนั้นคิดว่าจะไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ เพราะน้องก็เริ่มโตแล้ว เพราะคิดว่าต้องเรียน ต้องมีความรู้ จะได้เป็นใบเบิกทางของชีวิต

แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิต คือ แม่ป่วยหนักเป็นมะเร็งถุงน้ำดี หมอวินิจฉัยบอกว่าอยู่ได้อีกเพียง 1 ปี ทำให้ต้องเลือกว่าชีวิตจะทำยังไงต่อ เพราะตั้งแต่เด็กไม่ค่อยได้อยู่กับแม่ เนื่องจากเข้าเรียนในโรงเรียนประจำ

ตอนนั้นต้องตั้งโจทย์ใหม่เลยว่า ถ้าจะไปตามเส้นทางความฝันของเรา แล้วผู้หญิงที่คลอดเราออกมา ให้น้ำนมเรากินไม่อยู่แล้ว แล้วเราหาผู้หญิงทั่วโลกคนไหนที่เป็นแบบแม่เรามีไหมก็ไม่เจอ และไม่ใช่คนนี้ เพราะคนเป็นแม่ไม่มีแล้ว จึงละทิ้งความฝันไว้ มาดูแลแม่ก่อน และคิดว่าความฝันของเราเอามาทำทีหลังได้

ถามว่าทำไมมีความฝันอยากเรียนจบสูงๆ เพราะหวังว่าการเรียนจบสูงๆจะนำเราออกจากสังคมเกษตร ผมรู้ว่าชีวิตของคนบนดอย เราทำอาชีพเกษตรมาตลอด เป็นอาชีพที่ทำให้เราได้อยู่ ได้กินได้ดำรงชีวิตอยู่

แต่เมื่อคิดว่าคนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วพื้นที่เพราะปลูกก็หดแคบเรื่อยๆ และถ้าวันหนึ่งมีครอบครัว แล้วพื้นที่ตรงนี้ไม่ตอบโจทย์ชีวิต ใบเบิกทางเดียวที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น

คือเราต้องมีการศึกษา และเรียนรู้ความรู้ที่อยู่ในโลกว่ามีอะไรบ้างเพื่อใช้ปากกา สมองทำมาหากินต่อไปได้ ไม่ใช่จอบ เสียม เหมือนชีวิตที่ผ่านมา แต่ก็แค่คิดได้ จะทำได้ต้องมีปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องเงิน

และหลังจากแม่เสียก็ตัดสินใจที่อยู่บ้านต่อ และใช้ชีวิตแบบเกษตรกรรม กลับมาเรียนรู้ความยากลำบากของอาชีพ และได้ทำความเข้าใจกับมัน ว่าที่เราทำอยู่ต่างจากที่พ่อแม่ทำอย่างไร ทำให้เข้าใจปัญหา และเมื่อมาเป็นส.ส. ก็จะเอาความเข้าใจที่ว่านั้นมาแก้ปัญหาให้คนบนดอย

สะท้อนปัญหาคนดอย คนเขียนโยบายไม่เข้าใจ ใช้กฎหมายกดทับคนจน

ปัญหาที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเจอเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ ที่นำมาใช้กับพวกเราคือ กฎหมายถูกเขียนมาจากส่วนกลาง เขียนมาจากห้องแอร์ แล้วเขียนมาบังคับคนที่อยู่ในป่า คนที่อยู่บนดอย เขาแค่ส่งตัวแทนมาเก็บข้อมูล แล้วก็เขียนออกมาเป็นกฎหมาย

ซึ่งผมอยากถามกลับว่า ถ้าผมอยู่ในป่า แล้วเขียนกฎหมายออกมาบังคับใช้กับคนเมือง คิดว่ามันจะไปด้วยกันได้ไหม มันจะถูกไหม มันไม่ถูก จึงอยากมาเป็นตัวแทน มาพูดถึงปัญหาที่ผ่านมาว่ามันแก้ไม่ถูก

คุณบอกจะเข้ามาแก้ปัญหาให้เขา แต่กลับกลายเป็นว่าคุณเข้ามาสร้างปัญหา และทำให้วิถีชีวิตของเขาเปลี่ยนไป และอยู่อย่างยากลำบากมากขึ้น แทนที่ชีวิตพวกเขาจะดีขึ้น

ยกตัวอย่างชีวิตของเขาอยู่กับป่ามาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย วิถีของเขาเป็นผ้าที่บริสุทธิ์ เขาคลุกคลีและผูกพันกับธรรมชาติ ซึ่งสหประชาชาติรับรองความเป็นมนุษย์ทุกชาติพันธุ์ ในทุกประเทศ ไม่ว่าชาติพันธุ์ไหน ในประเทศไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีสิทธิในความเป็นอัตลักษณ์ และวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่เขาดำรงอยู่

แต่ว่าวันหนึ่งมีกติกา ที่เราเรียกว่ากฎหมาย ที่เราเรียกว่าพ.ร.บ. มาขีดเส้นห้ามเขาเข้าใช้พื้นที่ และบีบบังคับให้ออกจากพื้นที่ ลองคิดดูว่าชีวิตเขาจะเปลี่ยนไปไหม การกระทำเช่นนี้เป็นการลิดรอนสิทธิหรือไม่ มันมีความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ และความเท่าเทียมของวัฒนธรรมอยู่หรือไม่

 

5 ปี คสช. คนอยู่ป่าทุกข์หนัก เมื่อรัฐกันคนออกจากป่า

ไม่ใช่เฉพาะพี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่บนดอยนะ พี่น้องคนไทยพื้นราบ หรือคนไทยที่มีพื้นที่ทำกินติดชายขอบป่า พูดเป็นเสียงเดียวกัน ไม่ว่าภาคเหนือ ใต้ อีสาน พูดเป็นเสียงเดียวกันหมด การทวงคืนผืนป่า คือเอาป่าอย่างเดียวไม่เอาคนเลย

ถ้ามีป่า 1 ผืนแล้วมันบริสุทธิ์มาก ซึ่งไม่เคยมีคนเข้าไปอยู่เลย อย่างนี้ค่อยมากำหนดว่าคนอยู่ได้แค่ไหน แต่ในเมื่อทุกวันนี้คนอยู่มากี่ร้อยปีแล้ว เขาไม่ได้เข้ามาอยู่เมื่อวานนะ

แต่วันหนึ่งมีนาย ก. นาย ข. มาทวงคืนผืนป่า ซึ่งนอกจากไม่ช่วยแก้ให้เขาหายจากความยากจนแล้ว ยังเข้าไปทำให้เขายากจนยิ่งกว่าเดิมอีก ชีวิตเขาต้องเปลี่ยนไป โดยอ้างว่าใช้อำนาจ และกฎหมายที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม จึงอยากถามว่าสิ่งที่ทำนั้นมันยุติธรรมกับชาวบ้านไหม

วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ว่าคนกับป่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร คนที่เคยอยู่ก่อนที่กฎหมายจะไปกดทับเขา เขามาก่อนกฎหมาย ก็ต้องเคารพสิทธิในการดำรงอยู่ของชาวบ้าน จำเป็นมากที่จะต้องทำความเข้าใจ และร่วมมือสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ว่า คนอยู่กับป่า ป่าก็ต้องอยู่ และคนก็ต้องอยู่ได้ด้วย อยู่ได้อย่างไร ไม่ใช่มาเรียกร้องอภิสิทธิ์ว่าจะตัดป่าอย่างไรก็ได้

ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ป่าไม้ กับชาวบ้าน เป็นหนูกับแมว ที่เจอกันก็ไล่กันตลอด ฉะนั้นต้องมาเปลี่ยนแนวคิดแบบใหม่ว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องเป็นมิตรกับชาวบ้าน แล้วร่วมกันเป็นเจ้าของป่า ป่าไหนที่เป็นป่าบริสุทธิ์ก็ต้องละไว้ ป่าไหนที่ชาวบ้านเคยเข้าไปเก็บเห็ด ทำมาหากินก็ต้องอนุญาตให้เขาเข้าไปใช้ได้

ยกตัวอย่างชาวบ้านที่เขามีวิถีชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ถ้านำบรรพบุรุษไปฝังที่เนินเขาลูกใด เราจะไม่ตัดไม้เด็ดขาด และเราจะดูแลอย่างดี เช่นเดียวกับ พี่น้องปกาเกอะญอ พอเด็กเกิดใหม่จะเอารก ไปห้อยไว้ที่ต้นไม้ และถือว่าต้นไม้ต้นนี้เป็นพี่เป็นน้องกับเขา เขาจะไม่ตัดและดูแล

นี่คือภูมิปัญญาของชาวบ้น ถ้าหน่วยงานรัฐเข้าใจ และไว้วางใจให้ชาวบ้านช่วยดูแลป่า จะทำให้เป็นผู้ที่ดูแลป่าได้ดีกว่าที่จะเสียงบประมาณเป็นหลายล้านบาทในแต่ละปีเพื่อใช้ดำเนินการเรื่องนี้

ตั้งแต่ประกาศทวงคืนผืนป่า อยากถามว่าป่าไม้มันเขียวขึ้นมาไหม มันไม่ตอบโจทย์เลย ต้องคิดใหม่ ป่าไม้ และกรมอุทยานฯต้องเป็นมิตรกับชาวบ้านในพื้นที่ แล้วเอาทุกปัญหามาวางไว้บนโต๊ะว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไร

ทุกวันนี้เห็นแต่ข่าวปลูกป่า ซึ่งเป็นโครงการผักชีโรยหน้า เพราะต้นไม้เมื่อปลูกแล้วไม่ได้โตขึ้นมาเองได้ เมื่อไม่มีใครดูแลมันก็ตาย เราเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก ที่ทำไปโดยไม่วางแผน ทำเพียงเพราะจะได้ภาพเท่านั้น

นี่คือความล้มเหลวของนโยบายด้านป่าไม้ของประเทศไทยที่ผ่านมา อยากบอกว่าคนอยู่กับป่า โดยคนช่วยดูแลป่าเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ง่ายนิดเดียว

ถังขยะสังคม ทุกปัญหาโยนให้คนดอย

เรื่องป่าไม้เราจะใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะถ้ากฎหมายอย่างเดียวประเทศไทยมีผืนป่าเต็มไปหมดแล้ว ถ้าอยากได้ตามใจเจ้าหน้าที่ ก็เอาชาวบ้านออกจากผืนป่าทั้งหมด คิดว่าเอาออกมาแล้วป่าจะกลับคืนมา 100% หรือไม่ วิธีคิด วิธีการทำงานที่ผ่านมา ยังไม่ใช่วิธีการทำงานที่ประสบผลสำเร็จอย่างที่เป็นจริง

ในทางกลับกันอยากฝากบอกเจ้าหน้าที่รัฐว่า ชีวิตคนที่อยู่บนดอย ทุกอย่างโยนทิ้งมาให้เราหมด เหมือนเราเป็นถังขยะ ปัญหาทุกอย่างโยนมาไว้ให้เราหมด

ถ้าอยากได้ป่า ผมออกกฎหมายบ้าง ให้ทุบตึกในกรุงเทพ และทั่วประเทศ แล้วเรามาปลูกป่าคนเมืองยอมไหม มันเหมือนหม้อข้าว 2 จาน ของคุณ คุณกินซะเกลี้ยงเลย แล้วมาเอาป่าของผมอย่างนี้มันยุติธรรมไหม อย่างนี้มันถูกไหม

เหมือนกฎหมายที่คุณเขียนจากส่วนกลางแล้วมาใช้กับคนป่า คนป่าไม่มีสิทธิเขียนกฎหมายให้คุณเลย ถ้าผมเขียนบ้างล่ะ คือคุณต้องเข้าใจปัญหาก่อน และบางเรื่องต้องใช้ความเป็นมนุษย์ ที่ยอมรับตัวตนของชาวบ้าน มันไม่ได้ยากเย็นเกินกว่าที่จะออกแบบได้

ขนาดดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ จะมาโคจรทับกันเวลาไหนยังคำนวนได้ ผมว่ามันง่ายนิดเดียว เพียงแต่ว่าจะตั้งใจไหม ไปหาข้อมูลหรือยัง หรือกำหนดรูปแบบจากส่วนกลางอย่างเดียว โดยไม่ถามชาวบ้านว่าชีวิตของเขาจะอยู่อย่างไร

อย่าง พ.ร.บ.อุทยานฯที่ประกาศออกมา ไม่ใช่เฉพาะคนดอยอย่างเดียว พี่น้องคนไทยทุกพื้นที่ที่มีบ้านติดอยู่กับผืนป่า ที่รัฐไปขีดเส้นทับน่าจะมีปัญหา ทั้งอีสาน ใต้ พี่น้องชาวเลไปกำหนดเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา เขาเคยอยู่แบบวิถีชีวิตชาวเลเคยจับปลาเพื่อยังชีพ

แต่คุณไปขีดเส้นห้ามเขาจับปลา ห้ามอยู่ในพื้นที่นี้ อยากถามว่าไทยได้ปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่เซ็นไว้กับสหประชาชาติหรือไม่

ยกตัวอย่างตอนนี้ที่เป็นกระแส พื้นที่ป่าที่อมก๋อย ที่จะถูกนำไปทำเหมือง อยากถามว่าเราจะรักษาป่าใช่ไหม เรากำลังตำหนิชาวเขาอยู่ในป่าเป็นผู้ทำลาย แต่การเอาโรงงานไปตั้งอยู่ในป่านั้น เป็นการทำลายหรือการสร้างป่า

อย่างนี้มันยุติธรรมกับวิถีชีวิตของเขาแล้วหรือไม่ รัฐคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของเขาแล้วหรือยัง อยากให้สังคมช่วยตอบคำถามในเรื่องนี้

ไม่ใช่โทษชาวเขาอย่างเดียวว่าเป็นผู้ทำลายป่า ชาวเขาเป็นคนที่ทำให้แห้งแล้ง มันไม่ใช่

ผู้แทนของคนดอย ปากเสียงพลเมืองชั้น 2 ?

ในกระบวนการต่อรองกับภาครัฐที่ชาวเขามักถูกมองว่าเป็นคนในอีกช่วงชั้นหนึ่ง ทำให้ต้องมีตัวแทนของคนดอย มาเป็นผู้แทนราษฎร ที่ผ่านมาปัญหาเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทำตามกฎหมายที่ส่วนกลางกำหนดมา ทั้งกฎหมายป่าไม้ และกฎหมายอุทยานฯ ซึ่งเป็นกติกาที่ให้อำนาจเขาทำ

ปัญหานี้ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านถูกริดลอน เมื่อเขาถูกขีดเส้นกีดกันพื้นที่ทำกิน เขาไปร้องเรียนนายอำเภอ นายอำเภอก็แก้ปัญหาให้เขาไม่ได้ ไปร้องผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯก็แก้ให้ไม่ได้

เพราะเขาบอกกฎหมายเป็นอย่างนี้ก็ต้องปฏิบัติตาม พอไปถึงในส่วนกลาง ระดับกระทรวง และอธิบดีฯ เขาก็บอกว่ากฎหมายเป็นอย่างนี้ก็ต้องปฏิบัติตาม

เมื่อปัญหาทุกอย่างมาจากส่วนกลาง กฎหมายถูกร่างโดยรัฐสภา ฉะนั้นปัญหาคนยากจน ความทุกข์ยากในทุกพื้นที่ต้องไปแก้กันที่สภา

โดยส.ส. 25 คน สามารถลงชื่อแก้กฎหมายได้ กฎหมายข้อไหนที่ลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ วิถีชีวิตที่เขาอยู่มาก่อน เราต้องไปแก้ให้คนกับป่าอยู่อย่างมีเกียรติ วิถีชีวิตของเขาต้องมีสิทธิในการเลือก และดำรงชีวิต

ยายมา ยายมี ต้องมีสิทธิในการเก็บเห็ดหาหน่อไม้ เขาควรได้รับสิทธิตรงนั้น ไม่เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ แต่หมายถึงทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด ทุกหมู่บ้านต้องมีสิทธิ นี่คือภาระที่ชาวบ้านมอบหมายให้มาผมมาผลักดัน และช่วยทำ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องแก้เป็นเรื่องแรก

ที่เป็นปัญหาน่าเศร้าทุกวันนี้คือ ชาวบ้านถูกฟ้องเป็นคดีความ คนที่ยากจนอยู่แล้ว ไหนจะต้องเอาเงินมาจ้างทนาย ไหนจะต้องเดินทางลงมาจากดอยใช้เวลาเป็นครึ่งวันเพื่อจะมาที่ศาล

นี่คือชีวิตของเขาต้องเปลี่ยนไป เพิ่มความยากจนให้กับเขาทันที อยากถามว่าพวกเราสงสารเขาไหม เราคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของเขาบ้างหรือไม่

 

เขาหัวโล้น-พืชเชิงเดี่ยว ปัญหาที่ต้องร่วมแก้

ปัญหาพืชเชิงเดี่ยว ผมคนเดียวคงแก้ไม่ได้ ทุกภาคส่วนต้องมาคิดร่วมกัน ในเมื่อชาวบ้านไม่มีอย่างอื่นจะทำ แต่อยากบอกว่าที่เขาทำ เพราะมีคนซื้อ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดมาจากนายทุน มาจากทุนใหญ่ ที่ทำให้เขามีเงินใช้จ่ายในครอบครัว นี่คือวิถีชีวิตที่เป็นอยู่

ถ้าเขาหัวโล้นแล้วคนเมืองพื้นราบเขาบอกไม่ดี อยากบอกให้ช่วยเขาออกแบบชีวิตใหม่ให้เขาได้ไหมล่ะ อย่างจะให้เขาหันมาปลูกกาแฟ ก็ต้องมีทุนมาช่วยเขา ถ้าจะให้เขาออกจากวิถีที่ทำอยู่ เพราะเขามีค่าใช้จ่าย ชีวิตเขาต้องกินต้องใช้

เรื่องนี้ต้องคิดแบบบูรณาการ ต้องคิดแบบละเอียด ไม่ใช่เอานโยบายเอาหน้าคิดแบบขายฝันอย่างเดียว มันไม่ใช่ ที่ผ่านมามันเป็นอย่างนี้จึงมีปัญหา

ที่บอกว่าชาวเขาค้ายาบ้า ชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า ทำพืชเชิงเดี่ยว ต้องมองปัญหาที่ต้นเหตุ อย่ามองที่ปลายเหตุ เพราะมันแก้ปัญหาไม่ได้ อย่างที่เขาปลูกก็ต้องคิดเรื่องว่าจะคุ้มทุนไหม

ทุกวันนี้ชาวเขาทิ้งบ้านทิ้งช่องเขาไปทำงานในเมืองเพิ่มมากขึ้น เด็กอยู่กับตายาย แล้วมาเป็นแรงงานก่อสร้างตามตึกต่างๆ นี่คือปัญหาสังคม และปัญหาครอบครัว

ที่ผมมาเป็น ส.ส. ไม่ได้มาแย้ง ไม่ได้มาเรียกร้องอภิสิทธิ์ แต่มาเป็นตัวเชื่อม ในฐานะคนที่เห็นปัญหาจริงๆ เพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

ไม่โกรธที่โดนเหยียด เชื่อแค่คนส่วนน้อย

สำหรับเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่กลุ่มชาติพันธุ์โดนกด โดนเหยียดมาโดยตลอด ผมไม่ได้โกรธ ผมไม่ได้ว่าเขานะ เพราะบางคนไม่มีข้อมูล ไม่รู้จักเรา แสดงให้เห็นชัดแล้วว่า สื่อที่เขารับมาได้รับจากสื่อรัฐ และส่วนกลางอย่างเดียว

ทำให้ไม่รู้การแต่งตัวของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นอย่างไร แต่อยากบอกว่า อย่ามองข้อลบข้อเสียอย่างเดียว ขอให้มองในด้านบวกบ้าง

ผมเชื่อว่าเป็นส่วนน้อยบางคนเท่านั้นที่ไม่เขาใจ ซึ่งผมก็ไม่ใส่ใจอะไร และมีจำนวนมากที่เป็นคนมีการศึกษาที่มองได้ทะลุปุโปร่งกว่า

ยอมรับว่าเราโตมากลับระบบการศึกษาที่มีชาวเขาเป็นตัวปัญหา เราเรียนมาตั้งแต่เด็กละว่าชาวเขาเป็นผู้ทำลายป่า ปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย นี่คือภาพที่เขามอง น้ำที่แห้งทั้งเจ้าพระยา และแม่น้ำปิง เกิดขึ้นจากชาวเขา เราเหมือนเป็นแพะรับบาปต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ต่อนโยบายที่ล้มเหลวของรัฐ

จริงๆแล้วไม่ว่าจะคนดอย หรือคนพื้นราบเราเป็นพี่น้องกันทั้งนั้น อย่างในต่างประเทศเขาให้เกียรติกลุ่มชาติพันธุ์นะ ทั้งจีน ธิเบต หรือฝรั่ง อย่างระบบนิเวศน์ในป่าก็ต้องมีความหลากหลายถึงจะมีความสมบูรณ์ และงดงาม มนุษย์ก็เหมือนกัน ความหลากหลายทางวัฒนธรรมคือความสวยงาม

ประเทศไทยต้องข้ามสิ่งนี้ให้ได้ ถ้าข้ามไปไม่ได้ ประเทศไทยก็จะเจริญแค่วัตถุ แต่จิตใจถอยหลังหรือไม่ ถึงเวลาเเล้วที่จะทันโลก แล้วปรับจิตใจ ปรับทัศนคติ เพื่อพ้นจากวังวนที่ถอยหลังไปหลายสิบปี เพราะทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

อนาคตใหม่ ทางเลือกที่ต้องเลือก

ชีวิตวัยเด็กเกิดท่ามกลางความขัดแย้งในสังคมไทย ที่มีความแตกแยกทางความคิดในเรื่องระบบคอมมิวนิสต์ และระบบประชาธิปไตย ทำให้ผมที่เกิดในพื้นที่ เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ในสถานที่ที่เป็นใจกลางความขัดแย้ง เห็นการสู้รบระหว่างคนไทยด้วยกัน ทำให้ได้รับผลกระทบถึงวิถีชีวิต และในด้านอื่นๆของชีวิต

ที่เศร้าใจกว่านั้นคือ เมื่อทุกอย่างสงบลงแล้ว คนม้ง กลับกลายเป็นผู้ร้าย ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เป็นแม้วแดง เราถูกเหมารวมให้อยู่ตรงนั้น ทั้งๆที่เราเป็นเพียงแค่เบี้ยระหว่างความขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย

มันทำให้เห็นว่าตั้งแต่เด็กที่เราเจอปัญหาร้อยแปด ทำให้ตั้งคำถามอยู่ในใจว่าทำไมคนม้ง รวมถึงคนชาติพันธุ์ถึงมีคนเอาปัญหามาให้เรา แล้วเราต้องเจอปัญหา และต้องกระโดดมาในวังวนของปัญหา ชีวิตที่เหมือนผ้าบริสุทธิ์อยู่บนดอย ชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ อากาศที่แสนดี อยู่แบบพี่น้อง เอื้ออาทรกันถูกแยกด้วยคนสองส่วน แล้วเกือบจะฆ่ากัน

จนโตขึ้นถึงรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากคำว่าการเมือง คำว่าอำนาจ คำว่าผลประโยชน์ เป็นตัวที่ทำให้แตกแยกและมีปัญหากัน

พอถึงเวลาที่บอกว่าปัญหาเยอะเกินไป วันหนึ่งปัญหามาถึงที่หมู่บ้านของเราแล้ว จากที่เราเคยคิดว่าปัญหาอยู่ที่กรุงเทพ ปัญหาอยู่ที่พื้นราบ แต่ว่าไม่ใช่แล้ว เพราะทุกปัญหาเดินเข้ามาในหมู่บ้าน เข้ามาในป่า ไม่นานก็มาอยู่ที่หน้าบ้านของผม วันดีคืนดีมันมาหายใจรดต้นคอ

คำถามก็คือเราจะอยู่กอดปัญหาแบบนี้ หรือต้องลุกขึ้นมาแก้มัน นี่คือเหตุผลที่ทำให้มาสมัครเป็นส.ส.พรรคอนาคตใหม่

ที่เลือกพรรคนี้เพราะตั้งแต่ที่มีพรรคการเมืองในประเทศไทย ไม่เคยมีพรรคการเมืองไหนเลยที่เปิดให้กลุ่มชาติพันธุ์ เข้ามามีบทบาทและเอาตัวตนของเรามาเป็นตัวแทนของส.ส. ทั้งผู้พิการ กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น

ถ้าไม่มีพรรคอนาคตใหม่ ผมก็ไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนผู้ที่มีปัญหาอยู่บนดอย

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน