กรมวิทย์ ชี้ เตาไมโครเวฟ อันตรายกว่าระเบิดปรมาณูแค่ข่าวปลอม เผยกลไกทำงานทำให้น้ำในอาหารเกิดความร้อน ไม่เกิดรังสีอันตราย มีเพียงเครื่องรั่วหากเก่าประตูชำรุด แนะอย่าเอาหน้าไปจ้องเตา

เตาไมโครเวฟ / เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีการแชร์ข้อมูลทางโซเชียลมีเดียว่า รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจเลิกใช้เตาไมโครเวฟก่อนสิ้นปีนี้ หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกปรับและอาจติดคุก เพราะมีงานวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮิโรชิมา ที่พบคลื่นที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนมากกว่า 20 ปี ซึ่งอันตรายร้ายแรงกว่าระเบิดปรมาณู ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข่าวปลอมที่ก่อให้เกิดความสับสน

สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอให้ข้อเท็จจริงดังนี้ 1.หลักการทำงานของเตาไมโครเวฟ เป็นการใช้คลื่นไมโครเวฟผ่านเข้าไปในอาหาร ซึ่งจะทำให้เกิดการสั่นของโมเลกุลของน้ำในอาหาร เมื่อโมเลกุลของน้ำสั่นจะเกิดความร้อนขึ้น จนทำให้อาหารสุก จะเห็นว่ากลไกการทำงานไม่มีรังสีเกิดขึ้นเลย จึงไม่มีการตกค้างของรังสีใดๆ ทั้งสิ้น

“เรื่องราวในสื่อออนไลน์นี้ จึงไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ อันตรายที่กล่าวอ้างไม่เป็นความจริง เมื่อใช้เตาไมโครเวฟอุ่นอาหารเสร็จ ควรเปิดประตูเครื่อง คลื่นไมโครเวฟก็หมดไปไม่มีการตกค้าง” นพ.โอภาส กล่าวและว่า โดยปกติเตาไมโครเวฟที่ได้มาตรฐานมีเครื่องหมาย มอก. จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะมีความปลอดภัยสูง คลื่นไมโครเวฟที่ออกมาจากเตาไมโครเวฟนั้น เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดการแตกตัว ไม่ทำให้โมเลกุลของสารเปลี่ยน และไม่มีการตกค้างจึงไม่มีอันตราย อีกทั้งมีโอกาสน้อยมากที่เตาไมโครเวฟจะมีคลื่นรั่วออกมาเกินจากระดับมาตรฐาน มอก.1773-2542 กำหนด คือ ที่ระยะ 5 เซนติเมตร จากผิวเตารั่วได้ไม่เกิน 5 มิลลิวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า อันตรายที่เกิดขึ้นได้นั้น มักจะเกิดจากเตาไมโครเวฟที่มีความเก่ามากๆ เป็นสนิมผุ วัสดุเคลือบลอก บานพับประตูชำรุด หรือกระจกแตก ซึ่งอาจมีคลื่นไมโครเวฟรั่วออกมา หากมีความเข้มข้นพอจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวได้ และบางคนที่ชอบเอาหน้า ไปใกล้ๆ เตาไมโครเวฟเพื่อดูอาหารก็จะทำให้เกิดอันตรายได้

เพื่อความปลอดภัยจึงไม่ควรเข้าใกล้เตาไมโครเวฟ ขณะเครื่องกำลังทำงาน เนื่องจากคลื่นไมโครเวฟไม่สามารถมองเห็นได้และไม่มีกลิ่น ต้องใช้เครื่องมือตรวจวัด

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

สำหรับประชาชนที่สนใจจะตรวจสอบการรั่วของเตาไมโครเวฟ สามารถนำเตาไมโครเวฟมาตรวจได้ที่ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในเขตต่างๆ ทั่วประเทศ ในเวลาราชการ สำหรับเตาไมโครเวฟที่ผ่านการตรวจรับรองความปลอดภัยจากกรมฯ จะได้รับสติกเกอร์ติดที่เตาไมโครเวฟ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงความปลอดภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน