กทม. ยันเขื่อนริมเจ้าพระยารับน้ำอยู่ไม่ทะลักท่วมแน่ แต่เร่งพร่องน้ำคลองต่างๆ ที่อยู่ในระดับปริ่มตลิ่ง หลังเมืองกรุงถูกฝนถล่มตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ปภ.เผยพื้นที่ภาคกลางท่วมแล้ว 7 จังหวัด ขณะที่กรมชลฯเร่งระบายน้ำเขื่อนต่างๆ เพิ่มอีก ทั้งเจ้าพระยา พระรามหก ป่าสักฯ ชาวนาสิงห์บุรีลงแขกทำบิ๊กแบ๊ก-เสริมคันดินป้องนาหมื่นไร่ อ่างทองก็ระดมเครื่องสูบเร่งระบายน้ำออกจากนา ปทุมธานี เตรียมพร้อมรับมวลน้ำจากกรุงเก่าที่จะมาถึงในอีก 2 วัน

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์สภาวะฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ในวันที่ 28 ก.ย.-2 ต.ค. ความกดอากาศต่ำจะเคลื่อนตัวขึ้นไปบริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ทำให้เกิดฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดว่าทำให้มีปริมาณน้ำไหลสู่เขื่อนเจ้าพระยารวม 2,555 ลบ.ม.ต่อวินาที ในวันที่ 6 ต.ค. จึงจำเป็นต้องทยอยเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาทีเป็นลำดับ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเจ้าพระยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 50-70 เซนติเมตร

ในส่วนของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ คาดว่า จะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อน ในช่วงวันที่ 27 ก.ย.-11 ต.ค. รวมประมาณ 600 ล้านลบ.ม. มีโอกาสที่น้ำจะเต็มเขื่อนป่าสักฯ ในวันที่ 8 ต.ค. หากยังคงการระบายที่ 20.75 ล้านลบ.ม.ต่อวัน จึงจำเป็นต้องปรับแผนการระบายน้ำเพิ่มเป็น 40 ล้านลบ.ม.ต่อวัน มวลน้ำนี้จะไหลไปรวมกับน้ำที่มาจากคลองชัยนาท-ป่าสัก

กรมชลประทานจะควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหก 600 ลบ.ม.ต่อวินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนพระรามหกถึงจุดบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1-1.50 เมตร

ที่ศาลาว่าการกทม. นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกทม. เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมเผยว่า ขณะนี้ระดับน้ำในคลองสายหลักหลายแห่งอยู่ในภาวะวิกฤต น้ำใกล้ล้นตลิ่ง เนื่องจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักต่อเนื่อง จึงเร่งพร่องน้ำในคลองสายหลักเพื่อเตรียมรับน้ำฝน โดยเดินเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่เดิมเต็มอัตราสูบ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมเพื่อช่วยเร่งลดระดับน้ำในคลองต่างๆ

โดยคลองเปรมประชากร เดินเครื่องสูบน้ำบริเวณอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมฯ ช่วงสะพานสูง บางซื่อ และเสริมเรือผลักดันน้ำตามจุดต่างๆ 22 ลำ เพื่อช่วยเร่งลดระดับน้ำช่วงพื้นที่หลักสี่ ดอนเมือง ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมประสานการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำคลองเปรมฯ ฝั่งใต้ เร่งระบายน้ำออกสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์อีกทางหนึ่ง

ส่วนคลองแสนแสบเดินเครื่องสูบน้ำอุโมงค์ระบายน้ำพระรามเก้า ควบคุมการเปิดประตูระบายน้ำบางชัน ประตูระบายน้ำมีนบุรี คลองประเวศบุรีรมย์ เดินเครื่องสูบน้ำในคลองพระโขนง ควบคุมประตูระบายน้ำที่ประตูระบายน้ำลาดกระบัง เพื่อเร่งระบายน้ำในคลองประเวศ คลองบางนา เดินหน้าเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำบางนา พร้อมเดินเรือผลักดันน้ำ ช่วยเร่งลดระดับน้ำในคลองบางนา และคลองลาดพร้าว เดินเครื่องสูบน้ำพร้อมเดินเรือผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำลงอุโมงค์ระบายน้ำพระรามเก้า

ในส่วนของพื้นที่ฝั่งธนบุรี แม้ว่าระดับน้ำจะยังไม่อยู่ในภาวะวิกฤต แต่เตรียมความพร้อมโดยลดระดับน้ำในคลองต่างๆ ประกอบด้วย คลองชักพระ คลองมอญ คลองบางกอกใหญ่ คลองพระยาราชมนตรี และคลองดาวคะนอง

ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม้กรมชลประทานปล่อยน้ำเพิ่มขึ้นจากเขื่อน แต่แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่น้ำไหลผ่านกรุงเทพฯ สามารถรองรับน้ำได้ที่ปริมาณ 3,000-3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ดังนั้น เขื่อนแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยายังคงรับน้ำได้ แต่ กทม.เตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังรับสถานการณ์อย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง หากมีจุดใดเกิดปัญหาสามารถแจ้งมายังศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โทร.0-2248-5115

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ต่างจังหวัด ชาวนาในเขต ต.ทองเอน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ช่วยกันบรรจุถุงกระสอบทรายเข้าถุงบิ๊กแบ๊กอุดท่อน้ำในคลองชลประทานเชียงราก ที่รับน้ำมาจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งไหลมาจาก อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ผ่าน ต.เขาแก้ว อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เข้าเขต อ.อินทร์บุรี พร้อมเสริมแนวดินระยะทางหลายกิโลเมตร ป้องกันน้ำทะลักเข้าทุ่งนาในเขต ต.ทองเอน และ ต.สร้อยทอง อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ รวมพื้นที่หลายหมื่นไร่

วันเดียวกัน ชาวนา ต.ศรีพราน อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ระดมนำเครื่องสูบน้ำกว่า 30 เครื่อง ช่วยกันสูบน้ำออกจากแปลงนาลงสู่คลองชลประทาน ขณะที่ชาวบ้านใน ต.โผงเผง อ.ป่าโมก ที่ถูกน้ำท่วมมาเกือบ 1 สัปดาห์แล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม ต้องใช้เรือในการสัญจร บางพื้นที่น้ำยังไหลข้ามถนนอย่างต่อเนื่อง

ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เขื่อนพระราม 6 ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ เร่งระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงท้ายเขื่อนที่ 391 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ยังไม่มีผลกระทบกับบ้านเรือนใน อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง และ อ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนบ้านเรือนประชาชนที่อยู่นอกเขตคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองบางหลวง และคลองบางบาล ในพื้นที่อำเภอผักไห่ อ.เสนา อ.บางบาล อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน อ.บางไทร ได้รับผลกระทบแล้ว

เช่นเดียวกับในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนสูงขึ้น 5-10 ซ.ม. และไหลเชี่ยว บางจุดเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ในพื้นที่ อ.เมือง อ.บางปลาม้า และสองพี่น้อง ล่าสุดเทศบาลเมืองสุพรรณบุรีนำเครื่องสูบน้ำกว่า 20 เครื่องเร่งระบายน้ำออกป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ

ส่วนที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ถนนหลายจุดมีน้ำท่วมขัง บริเวณถนนเลียบชายหาดพัทยา ถนนสายสามแยกมุมอร่อย และถนนภายในซอยวัดหนองใหญ่ ถนนเลียบทางรถไฟเขาน้อยมุ่งหน้าเขาตาโล น้ำท่วมขังสูง 50-80 เซนติเมตร ต้นก้ามปูขนาดใหญ่อายุกว่า 30 ปี โค่นขวางถนนสายพัทยากลาง เจ้าหน้าที่เร่งเก็บกู้เพื่อให้การจราจรสามารถเคลื่อนตัวได้ตามปกติแล้ว

วันเดียวกัน นายสุรชัย ขันอาสา ผวจ.ปทุมธานี พร้อมด้วยนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รอง ผวจ.ปทุมธานี เรียกประชุมหน่วยงานต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือมวลน้ำก้อนใหญ่จาก จ.พระนครศรีอยุธยา ที่จะมาถึงใน 1-2 วัน โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 10 เครื่อง ที่สถานีสูบน้ำประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ คลองรังสิต อ.ธัญบุรี และสถานีสูบน้ำปากคลองรังสิต ต.บ้านใหม่ อ.เมืองปทุมธานี 8 เครื่อง เพื่อรับน้ำจากเหนือมาลงในทุ่งรังสิต

อีกส่วนจะเป็นน้ำฝนที่มาจากท่อระบายน้ำ ถนนพหลโยธิน, ถนนลำลูกกา และจะช่วยรับน้ำจากตอนเหนือของกรุงเทพฯ ที่จะระบายผ่านคลองเปรมประชากรลงคลองรังสิต และเตรียมการระวังและป้องกันตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่าชาวบ้านบางส่วนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใน อ.สามโคก จะได้รับผลกระทบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน