ศาลคดีทุจริตสั่งจำคุก 66 ปีอดีต ผู้ว่าฯ ททท. “จุฑามาศ ศิริวรรณ” คดี รับสินบนงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ พร้อมให้ริบทรัพย์สิน 62 ล้านบาทด้วย ส่วนลูกสาวโดน 44 ปี ฐานให้การสนับสนุน ที่ประชุมสนช. เหวอ ถกถอดถอน เจอ”ปึ้ง”โชว์เก๋าเสนอนับองค์ประชุม ต้องระดมตามกันวุ่น โหวตวันนี้เชื่อโดนเอาคืนคะแนนสูงลิ่ว ประธานกมธ.ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมยอมรับเป็น 1 ใน 6 บิ๊กทหารดันบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจริง แต่หารือกันจนได้ข้อยุติแล้ว ซัด”หม่อมอุ๋ย”ไปกินยาอะไรมา ยันไม่เคยรู้จัก ระบุในชั้นกรรมา ธิการจบ ขั้นต่อไปแล้วแต่ที่ประชุมสนช.จะ ตัดสินใจ ด้านโฆษกคณะกรรมาธิการระบุหารือกับรัฐบาลถึง 2 ครั้งและไม่ขัดข้อง ยันไม่เกี่ยวกับกรมการพลังงานทหาร เพราะฉบับนี้มีรมว.พลังงานรักษาการ ม็อบบ้าน กรวดปิดล้อมกดดัน”วีระ สมความคิด”จน เดินทางไปดูสถานที่ก่อสร้างกาสิโนไม่ได้

โฆษกกมธ.แจงตั้งบรรษัทน้ำมัน

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่รัฐสภา พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ โฆษกกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงการบัญญัติมาตรา 10/1 ในร่างพ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. … ที่สนช.จะพิจารณาวันที่ 30 มี.ค.ว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ใช้บังคับมา 40 ปี โดยมีมาตรา 22(14) พูดไว้เรื่องเดียวคือ “การให้สัมปทาน” ที่ใช้กันมาตลอด แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทั่วโลกมีทั้งใช้วิธีสัมปทาน การแบ่งปันผลผลิต และจ้างบริการ ปีก่อนสภาได้ตั้งกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปิโตรเลียม เพื่อศึกษาทางวิชาการมีภาคประชาชน น.ส.รสนา โตสิ ตระกูล อดีตสปช. ผลออกมาต้องมีทั้งสัมปทาน แบ่งปันผลผลิต และจ้างบริการ ซึ่งผลการศึกษาบอกว่าในการแบ่งปันผลผลิต จะต้องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อดำเนินธุรกิจตรงนั้น

พล.อ.อกนิษฐ์กล่าวว่า หลังกมธ.ศึกษาแล้วจึงส่งไปยังรัฐบาล ขณะเดียวกัน พล.อ. สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกมธ.ได้พาคณะที่มีทั้งทหารและพลเรือนไปพบม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ขณะนั้น เพื่อชี้แจงผลการศึกษา จากนั้นรัฐบาลเสนอร่างมา มี 3 วิธีคือ การสัมปทาน แบ่งปันผลผลิต จ้างบริการ เหมือนที่เราศึกษา ทุกอย่างทำตามขั้นตอน เราถามกลับไป 2 ครั้งแล้ว ครม.ยังยืนยันมาแบบเดิม โดยให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม แต่ให้มีหน่วยงานเข้ามาศึกษาว่าลักษณะควรเป็นอย่างไร

ยันไม่เกี่ยวกรมพลังงานทหาร

พล.อ.อกนิษฐ์กล่าวต่อวาไม่ใช่ว่ากฎหมายบังคับใช้แล้วตั้งวันนี้พรุ่งนี้ได้เลย หากเขียนไปว่าให้ตั้งขึ้นมาทันทีทั้งที่ยังไม่รู้ว่ารูปร่างหน้าตาของบรรษัทเป็นอย่างไรก็จะเป็นการผูกมัด จึงต้องเขียนแบบกลางๆ ส่วนการปฏิบัติ อยู่ที่รัฐบาลจะไปทำอย่างไร แต่ต้องยอมรับว่าการร่างกฎหมายจะให้ถูกใจคนทั้งประเทศไม่ได้

“เหมือนการปลูกบ้านที่ต้องออกแบบก่อน หากเขียนแล้วรัฐบาลทำไม่ได้ หรือบังคับไม่ได้ก็ไม่เกิดประโยชน์ หรือล็อกหมดทุกอย่างก็ทำไม่ได้ มันผิดกฎหมาย แต่ที่แน่นอนคือเห็นควรให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และหลายประเทศอย่างมาเลเซียก็มีบรรษัท แต่ไม่รู้ว่าเขาบริหารอย่างไรถึงขาดทุน และไม่ได้หมาย ความว่าเราบริหารแล้วจะไม่สำเร็จเหมือนเขา” พล.อ.อกนิษฐ์กล่าว

ส่วนที่มองว่ากรมพลังงานทหารจะเข้ามาร่วมบรรษัทด้วยนั้น พล.อ.อกนิษฐ์กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะกฎหมายนี้รักษาการโดยรมว.พลังงาน ส่วนกรมพลังงานทหารขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหม มีไว้เพื่อเตรียมการเรื่องพลังงานสำหรับป้องกันประเทศ ไม่ใช่ธุรกิจ คนละบทบาทหน้าที่กัน

อ้างเพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติ

เมื่อถามว่ามีความกังวลที่กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จะมาชุมนุมคัดค้านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่ พล.อ. อกนิษฐ์กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะวิถีประชา ธิปไตยย่อมมีความเห็นแตกต่างหลากหลาย ถือเป็นความงดงาม ความหลากหลายในระบอบประชาธิปไตย

ส่วนที่เกรงว่าจะมีคนมีส่วนได้เสียมาร่วมบรรษัทในอนาคตนั้น พล.อ.อกนิษฐ์กล่าวว่าขอให้ดูรายชื่อคณะกรรมการพิจารณา ตนไม่ได้มีหุ้นในปตท.สักบาทเดียว ไม่เคยคิดจะลงทุนด้านนี้ จึงกล้ายืนยันแทนกมธ.ทั้ง 11 คนว่าไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ ทุกคนทำด้วยความหวังดี และคนที่มาวิจารณ์ก็หวังดีต่อประเทศ ไม่มีใครคิดทำลาย

“ยืนยันว่าการออกกฎหมายนี้มาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ เมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไปศึกษาว่ารูปร่างหน้าตาควรเป็นอย่างไร ซึ่งผมไม่กังวลว่าผลออกมาแล้วจะผิดเพี้ยนหรือไม่ แต่ไม่แน่ใจว่าหากภาคการเมืองปกติเข้ามาแล้วโอกาสนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ และที่มาของมาตรา 10/1 มาจากการรับฟังความเห็นของประชาชน แต่ต่อไปการเมืองจะแทรกแซงหรือไม่เป็นเรื่องอนาคต คาดการณ์ไม่ได้”พล.อ.อกนิษฐ์กล่าว

ปธ.กมธ.ซัดอุ๋ยกินยาอะไรมา

ด้านพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม สนช. กล่าว่า ตนเป็น 1 ใน 6 สนช.ที่ผลักดันให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่การผลักดันไม่ใช่อยู่ดีๆ จะทำ เรื่องนี้ไม่ได้มีการสอดไส้แต่อย่างใด ก่อนหน้านี้มีการพูดคุยกันหลายฝ่ายทั้งในกรรมาธิการด้วยกันเอง ซึ่งก็มีทั้งอยากให้มีและไม่อยากให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่สุดท้ายก็สรุปให้มี ซึ่งเราก็เสนอไปยังรัฐบาล ทุกอย่างทำตามขั้นตอน

ส่วนม.ร.ว.ปรีดิยาธร ที่ออกมาคัดค้านและกล่าวว่ามี 6 สนช.ผลักดันเรื่องนี้ พล.อ.สกนธ์กล่าวว่าจริงๆ แล้วตนไม่เคยรู้จักม.ร.ว.ปรีดิ ยาธร ไม่รู้กินยาอะไรมาจากไหนถึงได้ออกมาแบบนี้ ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมถือว่าจบในชั้นกรรมาธิการแล้ว ต่อไปก็เป็นเรื่องของที่ประชุมใหญ่สนช.จะดำเนินการอย่างไร ส่วนตัวไม่ได้กดดันอะไรและก็ไม่เคยกลัวใคร

คปพ.แถลงยันไม่ยอมรับร่างนี้

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ น.ส.รสนา โตสิ ตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ร่วมแถลงชี้แจงกรณีการพาดพิงของนายกฯต่อภาคประชาชนและเรื่องนายกฯ ติดหลุมพรางกับดักของกลุ่มทุนพลังงาน โดยนายปานเทพกล่าวว่า หลังจากนายกฯ แถลงพาดพิงว่าคปพ.เรียกร้องในประเด็นต่างๆ นั้น เราเห็นว่านายกฯ ยังไม่เข้าใจและเข้าใจผิดหลายเรื่อง เช่น การที่ นายกฯ คิดว่าบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเกิดขึ้นจาก คปพ. ซึ่งไม่ใช่ แต่เกิดขึ้นเพราะมีรายงานผลการศึกษาของกมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ภาคประชาชนจึงเรียกร้องให้ทำตามผลการศึกษาดังกล่าว

นายปานเทพกล่าวว่า ทั้งนี้ เราไม่ยอมรับร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ เพราะ 1.ไม่ได้กำหนดเวลาจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพื่อรับโอนทรัพย์สินและปิโตรเลียมในแหล่งบงกชและเอราวัณ มูลค่า 2 แสนล้านบาทต่อปี และอาจไม่ทันต่อการเปิดการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ 2.ไม่ระบุว่าจะมีการประมูลผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดแก่รัฐ 3.ยังไม่แก้ไขตามผลการศึกษาของ สนช. เช่น เปิดช่องใช้ดุลพินิจลดหย่อนค่าภาคหลวง ภาษี ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษได้กว้างขวาง ไม่มีราคากลางจัดซื้อจัดจ้าง จนเกิดตัวอย่างกรณีปัญหาสินบนโรลส์-รอยซ์ในแหล่งอาทิตย์ และ4.ไม่มีบทบัญญัติป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการที่เกี่ยวข้อง

แต่ต้องมีบรรษัทไว้รับโอน

นายปานเทพกล่าวว่า ส่วนที่นายกฯ ระบุการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติมีความซ้ำซ้อนหรือเรายังไม่พร้อมนั้น ยืนยันว่าประเทศ ไทยต้องมีบรรษัท ทำหน้าที่รับโอนทรัพย์สินจากทุกแหล่งที่หมดสัญญาสัมปทาน รับโอนระบบท่อก๊าซเพื่อหยุดการผูกขาด ทำให้เกิดการแข่งขันและขายปิโตรเลียมตามสิทธิ์ที่รัฐได้จากระบบแบ่งปันผลผลิตและจ้างผลิต ส่วนที่ระบุให้ ปตท.เป็นบรรษัทได้หรือไม่นั้น คำตอบคือไม่ได้ เพราะบรรษัทจะถือครองทรัพยากรและทรัพย์สินแทนคนไทยทั้งประเทศ ปตท.จึงไม่มีความชอบธรรม เพราะมีทั้งเอกชน นอมินีนักการเมืองไปจนถึงต่างชาติถือหุ้นเกือบครึ่ง

นายปานเทพกล่าวต่อว่า ส่วนที่จะให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทำแทนบรรษัทนั้นก็ไม่ได้ เพราะไม่คล่องตัวติด ระเบียบราชการ จึงต้องฝากเอกชนขายปิโตรเลียมเหมือนระบบสัมปทาน ทำให้ชาติสูญเสียอธิปไตยเหนือแหล่งปิโตรเลียม และหากจะต้องรอความพร้อมเพื่อจัดตั้งบรรษัท ก็คงรอไม่ได้เพราะแหล่งบงกช-เอราวัณใกล้หมดสัญญาสัมปทานแล้ว จึงต้องตั้งองค์กรของรัฐเพื่อรับโอนทรัพย์สินและก่อนการประมูลการผลิตปิโตรเลียมรอบต่อไป หากไม่ทันจะทำให้ชาติสูญเสียอธิปไตยเหนือแหล่งปิโตรเลียมไปอีกหลายสิบปี

ออกแบบให้ถ่วง-ตรวจสอบ

นายปานเทพกล่าวด้วยว่าส่วนการตรวจสอบถ่วงดุลบรรษัทนั้นขึ้นกับการออกแบบโครงสร้างบรรษัท ให้ประกอบด้วยหลายภาคส่วนถ่วงดุลกัน จะถูกครอบงำโดยนักการเมืองได้ยากขึ้น อีกทั้งต้องถูกตรวจสอบโดยสตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ป.ป.ช. สนช.และภาคประชาชนโดยตรง

“ยืนยันบรรษัทจะไม่ผลิตปิโตรเลียม ไม่ขายปลีกก๊าซและน้ำมันสำเร็จรูป เพื่อเปิดกว้างให้ผู้ประกอบทุกรายรวมถึงปตท.แข่งขัน กันอย่างเสรี เป็นธรรม และบรรษัทจะมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป จึงตั้งไม่ยากและไม่สิ้นเปลืองงบ จะมีรายได้เบื้องต้นจากแหล่งเอราวัณ-บงกช 2 แสนล้านบาทต่อปี จึงขอให้นายกฯ ปลดแอกและทบทวนเรื่องดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ โดยวันที่ 30 มี.ค. เวลา 08.00 น. คปพ.จะไปยื่นหนังสือต่อประธานสนช. เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายปิโตรเลียมต่อไป” นายปานเทพ กล่าว

พิชัยดักคอ-บรรษัทยึดปตท.

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน กล่าวถึงข้อเสนอการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติว่า เท่าที่ติดตามยังไม่เห็นความชัดเจนว่าการจัดตั้งบรรษัทดังกล่าว ตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร ตั้งขึ้นเพื่อยึด ปตท.ใช่หรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นมากกว่า หรือการจัดตั้งครั้งนี้จะมีใครเข้ามา บริหารจัดการ หรือหากเป็นทหารเข้ามา บริหารจัดการ จะเชื่อถือความโปร่งใสได้หรือไม่ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดปัญหาทุจริต

นายพิชัยกล่าวว่าแต่หากตั้งบรรษัทขึ้นเพื่อแข่งขันกับปตท. ขจัดปัญหาการผูกขาดก็ถือว่ารับได้ ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อยึด ปตท. ทั้งนี้ การจัดตั้งบรรษัทนั้น ตนอยากให้ผู้มีอำนาจศึกษาโมเดลจากต่างประเทศที่เขาประสบความสำเร็จให้ดีก่อน เพราะหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านน้ำมัน ก็ไม่มีการจัดตั้งบรรษัทขึ้นมา เช่น สหรัฐ ก็เป็นการดำเนินการของเอกชน

บิ๊กป้อมปัดไม่เกี่ยวรีดภาษีหุ้นชิน

ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯ และรมว.กลาโหม พร้อมคณะ ประกอบ ด้วย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.สส. พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. และพล.อ.อ.ทวิเดนศ อังศุสิงห์ รองผบ.ทอ. ผู้แทนผบ.ทอ.ที่ติดภารกิจ เดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 12 ที่จังหวัด เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 29-30 มี.ค. โดยมีพล.อ.เตีย บันห์ รองนายกฯและรมว.กลาโหมกัมพูชา เป็นประธานร่วม

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า การเดินทางไปครั้งนี้เป็นการประชุมตามวาระ ไม่มีการพูดคุยเรื่องเขาพระวิหารทั้งในและนอกรอบ ยืนยันความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชาดีอยู่แล้ว

พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรมสรรพากรติดป้ายเรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปที่หน้าบ้านจันทร์ส่องหล้าว่า ไม่ใช่เรื่องของตน เป็นเรื่องของกรมสรรพากรที่ไปดำเนินการ

วิษณุชี้ไม่มีปัญหาถ้าแม้วฟ้อง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวกรณีนายนพดล ปัทมะ ทีมทนายความนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ระบุนายทักษิณ จะใช้สิทธิ์ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีเรียกเก็บภาษี 1.7 หมื่นล้านบาทว่า ไม่มีปัญหา ตามระเบียบปกติเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐถูกฟ้อง พนักงานอัยการจะแก้ต่างให้ ที่ผ่านมากรมสรรพากรเคยถูกฟ้องไม่รู้กี่เรื่อง มีแพ้และชนะบ้าง โดยมีเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ เรื่องนี้สรรพากรไม่ได้มาปรึกษา เพราะเขาไม่ได้ตกใจ ที่ผ่านมาอธิบดีกรมสรรพากรเคยโดนฟ้องไม่รู้กี่ราย มิเช่นนั้นจะตั้งศาลภาษีอากรซึ่งเป็นศาลที่ตั้งมาชำระคดีภาษีที่ราษฎรฟ้องเจ้าหน้าที่ขึ้นมาทำไม จึงเป็นเรื่องปกติ ที่ผู้ถูกเรียกภาษีอาจจะไม่พอใจและฟ้องร้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากเจ้าหน้าที่รัฐแพ้คดี จะดำเนินการอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีอะไร เจ้าหน้าที่ก็ทำตามหน้าที่ เพราะพนักงานอัยการเขาจะแก้ต่างให้ และไม่มีผลทางวินัย ยกเว้นการแพ้คดีเกิดจากความบกพร่องของ เจ้าหน้าที่ที่ไม่นำพยานเข้าสืบ ไม่ไปศาลในกำหนดนัด เรียกว่าละทิ้งคดี และมีบ่อยเวลาที่ฟ้องมา บางครั้งทำให้เกิดความรับผิดชอบของรัฐ เช่น ไปเรียกภาษีแล้วแพ้ก็ทำให้ไม่ได้ภาษี ถ้าทำไปอย่างสมเหตุสมผลตามข้อกฎหมายก็แล้วไป แต่ถ้าเกิดจากความบกพร่อง ถือว่ารัฐเสียประโยชน์

โอด-นิ่งก็หาซูเอี๋ยทำก็หาแกล้ง

“การไม่นำพยานเข้าสืบ หรือไม่ไปตามนัด แล้วศาลหรืออนุญาโตฯตัดสินให้แพ้คดีเพราะสละสิทธิ์ ถือเป็นความบกพร่องก็ต้องดำเนินคดีทั้งอาญาและวินัย เหมือนตำรวจจับส่ง ผู้ต้องหาฟ้อง ถ้าศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกายกฟ้อง ไม่มีเหตุผลต้องย้อนถามกลับว่าตำรวจกับทหารมีความผิดอะไรหรือไม่ ถ้าไล่ถามว่าศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ลงโทษ แต่ศาลฎีกายกฟ้อง จะต้องเล่นงานศาลชั้นต้นหรือไม่ ไปพูดอย่างนั้นไม่ได้และในวงการกฎหมายไม่พูดกัน เว้นแต่จะพบว่ามีเจตนาร้าย ไม่สุจริต กลั่นแกล้ง รับสินบนหรือทำให้คดีเสียและศาลเคยโดนลงโทษเยอะเหมือนกัน” นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามว่าหลายคนมองว่าการกระทำดังกล่าวจะกระทบกับการปรองดองหรือไม่ รองนายกฯกล่าวว่า ไม่ คนที่คิดว่าเรื่องนั้นปนกับเรื่องนี้ ถูกบ้างจริงบ้างก็มี แต่รัฐตั้งใจว่าเรื่องนี้ปล่อยไปตามกระบวนการปกติ ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาที่ดูว่ารัฐดูนิ่ง ทั้งสื่อและประชาชนก็คิดว่าไปซูเอี๋ยกัน คิดว่ารัฐละเลยเพิกเฉยไม่เรียกรายได้ แต่เมื่อรัฐไปดำเนินการบอกว่ากลั่นแกล้ง ลำเอียง เลือกปฏิบัติ ทุกเรื่องมองได้สองด้าน เมื่อใครทำอะไรด้านหนึ่งก็จะมีคนมองอีกด้านหนึ่งได้ ขอให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติ ทางที่ดีคือเรื่องไปที่ศาลตัดสิน

ปลัดคลังตั้งยุทธนาเช็กบิลขรก.

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ประเมินเรียกเก็บภาษีหุ้นจากนายทักษิณ จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาทเสร็จเรียบร้อย หากไม่เห็นด้วย สามารถยื่นเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษีอากร ของกรมสรรพากร ซึ่งมีตัวแทนจากคนนอกเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย และหากยังไม่พอใจผลของคณะกรรมการอุทธรณ์ ยังส่งเรื่องให้ศาลภาษีอากรตัดสินได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องจบที่ศาล ถือเป็นขั้นตอนปกติ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ตั้งนายยุทธนา หยิมการุณ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการเก็บภาษีหุ้นดังกล่าวว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้างและมีความผิดทางวินัยหรือไม่ ซึ่งดำเนินการสอบคืบหน้า 50-60% แล้ว

พท.อัดหวังผลทางการเมือง

ส่วนนายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบล ราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเจ้าหน้าที่สรรพากรไปปิดหมายประเมินภาษีที่บ้านนายทักษิณ เพื่อเรียกเก็บภาษีขายหุ้นชินคอร์ปเป็นเงินกว่า 17,000 ล้านบาทว่า เท่าที่ทราบจากกรมสรรพากรว่าการขายหุ้นดังกล่าวไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้ และเจ้าหน้าที่ประเมินจะต้องออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีภายใน 5 ปี ซึ่งได้ผ่านพ้นเวลานั้นมาแล้ว ยิ่งฟังนายวิษณุ ที่บอกว่าเป็นอภินิหารทางกฎหมาย ก็ยิ่งสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับระบบกฎหมายประเทศนี้ ทำไมไม่ใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาตามที่บัญญัติไว้

“แบบนี้เป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ เช่น สร้างให้คนทั่วไปเข้าใจผิดและให้เกี่ยวพันกับพรรคเพื่อไทย หรือผู้มีอำนาจต้องการทำลายเครดิตฝ่ายตรงกันข้ามหรือไม่ อย่าทำลายกันโดยขาดการยั้งคิด ฝ่ายที่ถูกกระทำจะรู้สึกว่าถูกกระทำแบบไม่มีสิ้นสุด มีหลายเรื่องที่ถูกกระหน่ำอยู่ข้างเดียว ไหนบอกเรากำลังเข้าสู่การปรองดอง” นายสมคิดระบุ

ปปช.ย้ำปึ้งผิดคดีพาสปอร์ตแม้ว

เมื่อเวลา 12.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุม สนช. ที่มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 เป็นประธาน มีการดำเนินการ กระบวนการถอดถอนนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เมื่อครั้งเป็นรมว.ต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง กรณีออกหนังสือเดินทางแบบธรรมดาให้แก่นายทักษิณ โดยเป็นการแถลงปิดสำนวนคดี

น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. แถลงปิดสำนวนว่า การออกหนังสือเดินทางให้บุคคล จะต้องยึดระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศอย่างเคร่งครัด และตรวจสอบว่าบุคคลเหล่านั้นอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีหรือห้ามเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ กรณีของนายทักษิณ ชัดเจนว่าถูกศาลสั่งห้ามออกนอกประเทศตั้งแต่ปี 2551 จากนั้นก็ถูกดำเนินคดีอีกหลายคดี จนปี 2553 กระทรวงการ ต่างประเทศ สั่งเพิกถอนหนังสือเดินทางของนายทักษิณ แต่นายสุรพงษ์กลับยกเลิกคำสั่ง ดังกล่าว และออกหนังสือเดินทางให้นายทักษิณใหม่ภายในวันเดียว แสดงให้เห็นว่าเร่งรัดดำเนินการ โดยไม่ทำตามระเบียบของกระทรวง กรณีนี้มีความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

“ปึ้ง”สบช่องเสนอนับองค์ประชุม

จากนั้นนายสุรพงษ์แถลงปิดสำนวนโดยยืนยันว่า บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาของป.ป.ช. เป็นการแจ้งข้อกล่าวหาต่อหน้าตน โดยกรรมการ ป.ป.ช. 6 คน ร่วมกันแจ้งข้อ กล่าวหา แต่ในบันทึกข้อกล่าวหา มีกรรมการร่วมลงชื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก 3 คน จึงทำให้เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารเท็จ ป.ป.ช. เคยยอมรับแล้วว่าทำไว้ล่วงหน้า ตั้งข้อ สังเกตว่าการทำเอกสารแจ้งข้อกล่าวหรือไว้ล่วงหน้าทำได้หรือไม่ เพราะใบเอกสารกับวันที่แจ้งข้อกล่าวหา วันที่ไม่ตรงกัน อาจมองได้ว่าเป็นเอกสารเท็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างแถลงไประยะหนึ่ง นายสุรพงษ์ได้ขอให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธาน ตรวจสอบองค์ประชุมเนื่องจากเห็นว่าสมาชิกอยู่ในห้องประชุมน้อยมาก ไม่น่าถึง 50 คน อาจขัดต่อระเบียบของสนช. จึงอยากให้นับองค์ประชุม

จากนั้นนายสุรชัยกดออดนับองค์ประชุมเพื่อลงมติ ทำให้สมาชิกสนช.หลายคน อาทิ นายสมชาย แสวงการ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ได้อภิปรายทักท้วงการทำหน้าที่ของนายสุรชัย ที่ปล่อยให้บุคคลภายนอก ขอมติให้นับองค์ประชุมและยังปล่อยให้พูดจากล่าวร้ายเสียดสีทำให้รัฐสภาเสื่อมเสีย อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหา ยังนำนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เป็น ผู้ติดตามเข้ามาในห้องประชุม

นายสุรชัยจึงเชิญคู่กรณีทั้งป.ป.ช. และนายสุรพงษ์ออกจากห้องประชุม เพื่อหารือข้อประท้วงของสมาชิกสนช. ซึ่งเป็นไปอย่าง เข้มข้นใช้เวลานานกว่า 1 ช.ม. ในที่สุดนาย สุรชัยยืนยันให้ลงมติ ให้เหตุผลว่าเนื่องจากนายสุรพงษ์อ้างถึงมาตรา 13 รัฐธรรมนูญฉบับ ชั่วคราว และถ้าจะใช้มาตรา 5 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ว่าด้วยการให้สนช.วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครอง หรือจะให้ประธานสนช.วินิจฉัยชี้ขาดเองก็ไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่ จึงขอสร้างบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องนี้เพื่อให้สภาใช้ต่อไป

นัดลงมติ-คาดเสียงถอดท่วม

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ 149 เสียง ไม่ให้บุคคลภายนอกเสนอให้นับองค์ประชุม นายสุรชัยจึงเชิญคู่กรณีกลับเข้ามาอีกครั้ง โดยให้นายสุรพงษ์แถลงปิดคดีต่อและปิดประชุมในเวลา 16.35 น. ก่อนนัดลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนในวันที่ 30 มี.ค.นี้ เวลา 10.00 น.

รายงานข่าวจากสมาชิกสนช.ระบุว่า ในการประชุมสนช.เพื่อลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนายสุรพงษ์ ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ ถือเป็นคดีถอดถอนสุดท้ายที่สนช.จะดำเนินกระบวนการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 โดยคะแนนที่จะถอดถอนได้ ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกสนช.ทั้งหมด (สนช. 250 คน) หรือไม่น้อยกว่า 150 เสียงขึ้นไป คาดว่าการลงคะแนนให้ถอดถอนจะสูงกว่า 200 คะแนน เนื่องจากเหตุการณ์วุ่นวายที่นายสุรพงษ์ ขอให้ตรวจสอบองค์ประชุม สนช.ในวันนี้ สร้างความไม่พอใจแก่สมาชิก สนช.เพิ่มมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ยังไม่ได้ตัดสินใจ จึงเชื่อคะแนนถอดถอนจะเป็นไปอย่างท่วมท้นกว่าทุกคดีถอดถอนที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

เลื่อนอีก-สอบป๋าสปท.อนุสร

ที่รัฐสภา น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรม การจริยธรรม สปท. ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมพิจารณากรณีนายอนุสร จิรพงศ์ สมาชิกสปท. ในฐานะกรรมาธิการพลังงาน ถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายพนักงานเสิร์ฟร้านอาหารย่านอารีย์ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ว่า ที่ประชุมเพื่อพิจารณาเอกสารชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรที่นายอนุสร ยื่นต่อคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 27 มี.ค.เท่านั้น และเนื่องจากคณะกรรมการฯ มาร่วมประชุมไม่เต็มคณะ จึงขอเลื่อนการพิจารณาเพื่อลงมติกรณีดังกล่าวไปเป็นวันที่ 3 เม.ย. ยืนยันว่าจะทราบมติที่ชัดเจนของคณะกรรมการฯ แน่นอน

ที่ท่าอากาศยาน 2 กองบิน 6 พล.อ. สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.สส. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบหลักสูตรดูงานต่างประเทศในแถบยุโรปและสแกนดิเนเวีย 13 วัน ของวิทยาลัยเสนาธิการทหาร หรือวสท. รุ่น 57 ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ คาดจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

บิ๊กตู่แอโรบิกในตึกสันติไมตรี

เมื่อเวลา 15.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทำเนียบฯ ออกกำลังกายประจำสัปดาห์ทุกวันพุธ ภายในตึกสันติไมตรี โดยมีพล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ พล.อ.สกล ชื่นตระกูล ที่ปรึกษานายกฯ นางเรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกฯ คณะทำงานร่วมด้วย เพื่อกระตุ้นร่างกายในการทำงานช่วงเวลาที่เหลือของสัปดาห์

ทั้งนี้ นายกฯ ร่วมเต้นแอโรบิก เพื่ออบอุ่นร่างกาย มีเจ้าหน้าที่จากการกีฬาแห่งประเทศ ไทย (กกท.) นำออกกำลัง เป็นเวลา 27 นาที ก่อนกลับขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมโบกมือ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ อย่างไรก็ตาม ช่วงเช้ามีรายงานข่าวแจ้งว่า เจ้าหน้าที่กกท.จะนำศาสตร์การรำไทเก๊กมาเพื่อยืดเส้นยืดสายด้วย แต่สุดท้ายก็ปรับเปลี่ยนให้เหลือเต้นแอโรบิกอย่างเดียว

แกนนำเข้าเยี่ยม”กี้ร์-12นปช.”

เมื่อเวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง นางธิดา โตจิราการ และนายก่อแก้ว พิกุลทอง พร้อมด้วยนางระพิพรรณ พงศ์เรืองรอง ภรรยาและลูกของนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง เดินทางมาที่เรือนจำพิเศษพัทยา ต.หนองปลาไหล อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ขอเข้าเยี่ยมนายอริสมันต์ ซึ่งถูกศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุกพร้อมกับพวกอีก 12 คน เป็นเวลา 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และไม่อนุญาตให้ประกันตัว กรณีพามวลชนบุก ล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนซัมมิท ที่จัดขึ้นที่โรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เมื่อปี 2552 โดยใช้เวลาเยี่ยม 30 นาที ท่ามกลางกลุ่มคนเสื้อแดงมาให้กำลังใจจำนวนมาก

จากนั้น นายจตุพร เปิดเผยว่าทุกคนเป็นห่วงกันและกันเพราะร่วมต่อสู้ด้วยกันมานาน จากนี้จะทำควบคู่กันทั้งการยื่นประกันตัวและยื่นฎีกา ซึ่งจะเขียนฎีกาด้วยมือ และให้ ทีมทนายความดำเนินการแทรกหนังสือยื่นประกันคาดว่าอาจใช้เวลา 1 สัปดาห์ โดยจะได้ดำเนินการพร้อมกันทั้งหมดทุกคน ไม่แยกเป็นรายคน เพราะถือว่าทั้งหมดคือผู้ร่วมชะตากรรมด้วยกัน โดยจะเร่งดำเนินการโดยเร่งด่วนและรวดเร็วที่สุด หวังว่าจะได้รับความเมตตาจากศาลฎีกา

ทำเนียบซ้อมรับมือม็อบคปพ.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า หลังจากมีข่าวว่าในเวลา 08.00 น.วันที่ 30 มี.ค. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย น.ส.รสนา นัดรวมตัว กันหน้าอาคารรัฐสภาเพื่อต่อต้านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลประจำทำเนียบได้เตรียมแผนรับมือการชุมนุมต่างๆ ไว้แล้ว โดยในเวลา 09.00 น. วันที่ 30 มี.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลประจำทำเนียบจะฝึกกำลังพล ทบทวนยุทธวิธีภาคทฤษฎีและซ้อมภาคปฏิบัติ บริเวณลานจอดรถข้างอาคารกองรักษาการณ์ตำรวจประจำทำเนียบ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์กรณีมีกลุ่มผู้ชุมนุมบุกรุกเข้ามาภายในทำเนียบ มีกำลังพลเข้าร่วมฝึก 120 นาย

รายงานข่าวจากทำเนียบเผยว่า สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมนั้น ฝ่ายความมั่นคงได้เตรียมความพร้อมร่วมกันทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจสันติบาล บช.น. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากสภาผ่านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม แล้วทางกลุ่มคปพ. จะเคลื่อนย้ายมายังทำเนียบ ทางเจ้าหน้าที่จะไม่ยินยอมให้เคลื่อนไหวการชุมนุมอย่างเด็ดขาด แต่จะอนุญาตให้เฉพาะตัวแทนมายื่นหนังสือที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ได้ แต่หากดื้อดึงหรือยังใช้กำลังของประชาชน เจ้าหน้าที่จะใช้กฎหมายเข้ามาดำเนินการทันที ไม่ปล่อยให้มีการชุมนุมเหมือนเมื่อครั้งกลุ่มต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จ.กระบี่อย่างแน่นอน

ศาลจำคุก66ปีอดีตผู้ว่าททท.

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ห้องพิจารณา 708 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อท.46/2559 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อายุ 70 ปี อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. และ น.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ อายุ 43 ปี บุตรสาว ร่วมกันเป็นจำเลยฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม.6,11 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา ต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ม.12

โดยศาลเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า การจัดจ้างโครงการเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ มีการกำหนดเงื่อนไขโดยวิธีตกลงราคาหรือวิธีพิเศษ ไม่เหมาะสมหลายประการ ที่นางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าไม่เคยใช้ตำแหน่งหน้าที่ฐานะผู้ว่าฯ ททท.และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดจ้างโครงการภาพยนตร์นานาชาติ และบริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจการ์ด จำกัด และข้อต่อสู้ของ น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าเงินในบัญชีธนาคารจำนวน 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นรายได้จากการประกอบธุรกิจส่วนตัวกับนายเจอรัลด์กรีนและบริษัทคอน ซัลเทเซีย จำกัด โดยไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้นฟังไม่ขึ้น

ทั้งนี้พิพากษาว่า นางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 มีโทษหนักสุด จำคุก กระทงละ 6 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 66 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงคงจำคุกไม่เกิน 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 44 ปี และริบเงินจำนวน 1,822,494 เหรียญสหรัฐ และดอกผลที่เกิดขึ้น ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งศาลให้กำหนดมูลค่าสิ่งที่สั่งริบดังกล่าว ตามมาตรการสำหรับคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เพิ่มขึ้นอีกมาตรการหนึ่ง เป็นเงิน 62,724,776 บาท

ต่อมาเวลา 17.55 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวนางจุฑามาศและน.ส.จิตติโสภา ไปคุมขังยังทัณฑสถานหญิงกลาง ภายหลังยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวพร้อมหลักทรัพย์คนละ 1 ล้านบาท โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง ได้ส่งคำร้องไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วแต่ยังไม่มีคำสั่งลงมา ขณะที่ระหว่างถูกควบคุมตัว นางจุฑามาศใส่หน้ากากอนามัยปกปิดใบหน้า ส่วน น.ส.จิตติโสภา ได้สวมเสื้อคลุมศีรษะอำพราง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอุทธรณ์น่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน เพื่อทำความเห็น เป็นไปได้ว่าประมาณต้นเดือนเม.ย. จึงจะมีคำสั่งออกมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน