ไขข้อสงสัย! โดราเอมอน เอาไปทำสินค้าได้หรือไม่ ลิขสิทธิ์ที่หมดอายุไปแล้ว?

แชร์กันกระหึ่มโซเชียล! เมื่อเพจ บริษัท สำนักกฎหมาย นิพัธ ปิ่นแสง แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด ได้โพสต์เกี่ยวกับข้อกฎหมายลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูน โดราเอมอน ระบุว่า คำพิพากษาฎีกาที่ 5756/2551 นี้ ได้วินิจฉัยเรื่อง ลิขสิทธิ์ของการ์ตูนโดราเอมอน ไว้อย่างดีมาก โดยศาลฏีกาได้วินิจฉัยไว้ว่าตัวการ์ตูนโดราเอมอน ได้มีการ โฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 ที่ประเทศญี่ปุ่น

แต่ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทยได้บัญญัติไว้ว่า ลิขสิทธิ์ในงานศิลปะประยุกต์ให้มีอายุ 25 ปีนับแต่ที่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก เมื่องานตามฟ้องมีการโฆษณางานครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 งานดังกล่าวซึ่งมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ 25 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก จึงมีอายุการคุ้มครองอยู่ถึงเพียงวันที่ 1 ธันวาคม 2537 เท่านั้น

ขณะเกิดเหตุตามฟ้องในคดีนี้คือวันที่ 3 สิงหาคม 2549 งานที่นำภาพตัวการ์ตูนโดราเอมอน มาตัดแปลงเป็นงานศิลปะ ใช้ประยุกต์กับวัสดุสิ่งของเครื่องใช้เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและนำมาใช้ประโยชน์ทางการค้าตามฟ้อง จึงไม่มีลิขสิทธิ์อีกต่อไป การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจเป็นความผิดตามฟ้อง ยกฟ้อง จากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าวนี้

ถือว่า ตัวการ์ตูนโดราเอมอนหมดความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทย ไปตั้งแต่ วันที่ 1 ธันวาคม 2537 แล้ว ดังนั้นใครที่ถูก ลักไก่จับว่าผิด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ในตัวการ์ตูนโดราเอมอนขอให้รู้ว่าโดนต้ม โดนหลอกจับกุมแล้ว

ดังนั้นใครที่โดนจับดังกล่าว ก็ขอให้เอาคำพิพากษาศาลฎีกานี้ขึ้นต่อสู้โดยให้ตำรวจดูคำพิพากษาศาลฎีกาเลยว่าตัวการ์ตูนโดราเอมอนไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ของไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2537 แล้ว

จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งที่ซื้อหนังสือมอบอำนาจมาลักไก่จับกุม พ่อค้า และประชาชน ที่ไม่รู้กฎหมายอีกต่อไป โดยขอให้อ่านดูในหน้าที่ 6 ตามที่ได้ขีดเส้นใต้สีแดงไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกานั้นจะเห็นได้อย่างชัดเจน ว่าศาลวางหลักไว้อย่างไร

ด้าน ทนายคู่ใจ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เรื่องความคุ้มครองตามศิลปะประยุกต์เฉพาะตัวการ์ตูนโดราเอมอนเท่านั้น สรุปสามารถเอาไปใช้ได้ แต่ต้องแยกประเด็น ถ้าเป็นโดราเอมอนแบบสื่อการ์ตูนถ้าเอาไปทำซ้ำหรือดัดแปลงจะใช้คนละมาตราในการพิจารณา เพราะจะเข้าข่ายเป็นการนิยามตามกฎหมายว่า ศิลปะ ที่ลิขสิทธิ์จะมีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และมีอยู่ต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย

กรณีที่มีผู้สร้างสรรค์ หรือ มีนักเขียนนักวาดมากกว่า 1 คน ลิขสิทธิ์นั้นให้นับตามอายุของผู้สร้างสรรค์ร่วมและมีอยู่ต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย

ที่มา บริษัท สำนักกฎหมาย นิพัธ ปิ่นแสง แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด ทนายคู่ใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน