‘ในหลวง-พระราชินี’ เสด็จฯ พร้อม ‘เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา’
ทรงเปิดประชุมโครงการอนุรักษ์ช้างป่า

เมื่อเวลา 19.10 น. วันที่ 25 ต.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงเปิดการประชุมคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ในภาคตะวันออก “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 ณ อาคาร บก.หน่วยราชการในพระองค์ 904 (อาคาร 2)​​เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงอาคาร บก.หน่วยราชการในพระองค์ 904 (อาคาร 2) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ในภาคตะวันออก จากนั้นเสด็จเข้าห้องประชุม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประธานกรรมการโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ในภาคตะวันออก กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับโครงการ ฯ เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัสเปิดการประชุม ทอดพระเนตรวีดิทัศน์การดำเนินงานโครงการ ฯ และพระราชทานพระบรมราโชบายในการดำเนินงานโครงการ ฯ สมควรแก่เวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินกลับ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประชุมคณะกรรมการโครงการ ฯ ต่อ​​พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ในภาคตะวันออก ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงรับเป็นประธานที่ปรึกษาโครงการ ฯ และพระราชทานชื่อโครงการ ฯ ว่า “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ซึ่งแปลว่า “น้ำทิพย์รักษาช้างให้แข็งแกร่งยืนยงดุจเพชร” ตามพระบรม
ราโชบายที่จะให้อนุรักษ์ป่าและช้าง และการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้างอย่างมีสุข

และทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี 2542 เกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งของคนกับช้างป่า ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ช้างไทย และการปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติ คณะกรรมการโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ในภาคตะวันออก จึงได้มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ตามหลักวิชาการตามสภาพของสังคมปัจจุบันและภูมิสังคม โดยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุการบุกรุกของช้างป่าอันเนื่องมาจากการขาดแหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัยไม่พอเพียง ตลอดจนการขาดความรู้และความเข้าใจของราษฎร ขาดเรื่องระบบการเตือนภัย การไปขับไล่ช้างอย่างผิดวิธี จนทำให้เกิดอันตรายในที่สุด

ด้วยปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ คณะกรรมการโครงการ ฯ จึงได้ประชุมหารือแนวทางแก้ไข ตลอดจนวางแผนพัฒนาชุมชน ให้สามารถทำมาหากินอยู่ร่วมกับช้างได้อย่างมีความสุข โดยไม่ทำลายระบบนิเวศหรือบุกรุกทำลายป่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน