ร้าวหนัก! “เทียรี่ คาราบาว” ประกาศลั่น ไม่ทำตามสั่ง “พี่แอ๊ด ยืนยง โอภากุล” จ่อแจงความจริง!

เป็นความอึดอัดใจ ที่ถึงขนาดต้องมากระแทกคีย์บอร์ดยามดึกสงัด สำหรับ “เทียรี่ เมฆวัฒนา” หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของวงดนตรีเพื่อชีวิต ระดับตำนานประเทศไทย อย่างวง “คาราบาว” โดยช่วงเช้ามืดวันนี้ (5 พ.ย.) พี่เทียรี่ ได้โพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กอย่างรัวๆ ถึง 5 สเตตัส โดยระบุว่า

ไม่ต้องไปสอนใคร แค่สอนตัว ก็พอแล้วคับ สำหรับผม MONEY IS NOTHING คับ, อะไรที่มันปลอม ก็ปลอมอยู่ดี อะไรที่มันจริง มันก็จริงอยู่ดีคับ, บ้านใหญ่ใช่ใจโตคับ, ตั้งแต่วันนี้ไป ผมไม่ทำตามคำสั่งของพี่แอ้ดอีกต่อไปนะคับ และ แล้วเมื่อถึงเวลา จะพูดความจริงนะคับ

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

โดยมีเหล่าชาวเน็ตเข้าไปให้กำลังใจกันเป็นจำนวนมาก บ้างก็ตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น บ้างก็แนะให้ใจเย็นๆค่อยๆ คุยกันก่อน ฯลฯ ซึ่งทั้งนี้ ส่วนจะเกิดจากสาเหตุ หรือความขัดแย้งใดๆ นั้น ที่ทำให้พี่เทียรี่ต้องออกมาโพสต์ถึงขนาดนี้ เชื่อว่าเจ้าตัวคงจะออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวภายในเร็วๆ นี้ให้กระจ่างอย่างแน่นอน

สำหรับ วงคาราบาว นั้น เป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตและยังเป็นตำนานเพลงเพื่อชีวิตที่มีชื่อเสียงโด่งดังและยังเป็นวงที่อมตะตลอดกาลของเมืองไทย โดยมี ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) เป็นหัวหน้าวง เกิดจากการก่อตั้งโดยนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีมาปัว กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ 3 คน

คือแอ๊ด – ยืนยง โอภากุล, เขียว – กิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร และ ไข่ – สานิตย์ ลิ่มศิลา ขึ้นที่นั่น ในปี พ.ศ.2523 โดยคำว่า คาราบาว เป็นภาษาตากาล็อก คือภาษาพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ แปลว่า ควาย หรือคนใช้แรงงาน ซึ่งทางฟิลิปปินส์ถือเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นเกษตร โดยหมายจะเป็นวงดนตรีที่มีเนื้อหาเพื่อชีวิต

แอ๊ด และ เขียว ได้ร่วมกันเล่นดนตรีในเวลากลางคืน โดยกลางวันทำงานทั้งคู่ออกอัลบั้มชุดแรกของวง ในชื่อ ขี้เมา เมื่อปี พ.ศ 2524 และแอ๊ดก็ได้ติดต่อวงโฮป ให้มาช่วยโปรดิวซ์และเล่นดนตรีในห้องอัดให้ในอัลบั้มชุดนี้ และทำให้คาราบาวพอเป็นที่รู้จักบ้างในอัลบั้มนี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

วงคาราบาว เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในอัลบั้มชุดที่ 3 ในปี พ.ศ.2526 จากอัลบั้มชุด วณิพก กับสังกัดอโซน่า ด้วยเพลงชื่อเดียวกับอัลบั้ม โดยมีทีมแบ๊กอัพชุดเดิม คือสมาชิกวงเพรสซิเดนท์ บางส่วน และได้หมู – พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เข้ามาร่วมเล่นเครื่องเคาะ, เพอร์คัสชั่นให้ด้วย (และร่วมออกทัวร์คอนเสิร์ตด้วยกัน) บทเพลงจากอัลบั้มนี้มีเนื้อหาที่แปลกแผกไปจากเพลงในยุคนั้นๆ และดนตรีที่เป็นท่วงทำนองแบบไทยๆ ผสมกับดนตรีตะวันตก มีจังหวะที่สนุกสนาน ชวนให้รู้สึกคึกคัก

จึงสามารถแทรกตัวเองเข้าไปอยู่ในดิสโก้เธคได้เป็นเพลงแรกของไทย และหลังจากอัลบั้มชุดนี้ประสบความสำเร็จ ทำให้แฟนเพลงหลายๆ คนต้องไปหาซื้ออัลบั้มชุดแรกและชุดที่สองมาฟัง ทำให้สองชุดแรกขาดตลาดและเป็นชุดที่หายากมากในเวลานั้น

ต่อมาในปลายปีเดียวกัน คาราบาวก็ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 4 คือ ท.ทหารอดทน ซึ่งได้ เป้า – อำนาจ ลูกจันทร์, เทียรี่ เมฆวัฒนา, อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และ รัช – ไพรัช เพิ่มฉลาด เข้ามาเป็นวงแบ๊กอัพ แต่แอ๊ดกลับมีปัญหากับสังกัดอโซน่าในการทำเพลง เนื่องจากอโซน่าไม่อนุญาตให้วงคาราบาวไปอัดเสียงที่ห้องบันทึกเสียงศรีสยาม

และให้ใช้ห้องอัดของอโซน่าทั้งที่แอ๊ดรู้ว่าเครื่องมือไม่ทันสมัย รวมทั้งเป็นอัลบั้มแรกของทางวงที่ถูก คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) สั่งห้ามนำไปเผยแพร่ออกอากาศตามสื่อต่างๆ คือเพลง ท.ทหารอดทน และ ทินเนอร์ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายอย่างมาก

คาราบาวประสบความสำเร็จมากที่สุดในปลายปี พ.ศ.2527 เมื่อได้ออกอัลบั้มชุดที่ 5 เมด อิน ไทยแลนด์ เป็นอัลบั้มชุดที่ 5 ซึ่งทำยอดขายได้ถึง 5,000,000 ตลับ

สมาชิกในวงคาราบาวในยุคนั้นเรียกว่า ยุคคลาสสิค มีสมาชิกในวงทั้งหมด 7 คน ประกอบไปด้วย

  • ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) : หัวหน้าวง, ร้องนำ, กีตาร์, แต่งคำร้องและทำนอง
  • ปรีชา ชนะภัย (เล็ก) : กีตาร์, แบนโจ, ร้องนำ, แต่งคำร้องและทำนองบางเพลง
  • เทียรี่ เมฆวัฒนา (รี่) : กีตาร์, ร้องนำ, แต่งทำนองบางเพลง
  • กิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว) : กีตาร์, เบส, ร้องนำบางส่วน, ประสานเสียง, คีย์บอร์ด, ควบคุมการผลิต, เพอร์คัสชั่น
  • อนุพงษ์ ประถมปัทมะ (อ๊อด) : เบส, ร้องนำบางส่วน
  • อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (เล็ก, ธนิสร์) : คีย์บอร์ด, ขลุ่ย, ฟลุต, แซ็กโซโฟน, ประสานเสียง, ร้องนำบางส่วน
  • อำนาจ ลูกจันทร์ (เป้า) : กลอง, เพอร์คัสชั่น

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน