หมอธีระวัฒน์ ห่วงยอดเสียชีวิตเพิ่ม เผยอาการผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 อาการหนัก

รายการโหนกระแส วันที่ 2 มี.ค. “หนุ่ม” กรรชัย กำเนิดพลอย ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ได้สัมภาษณ์เปิดใจ “ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรณีมีชายไทยเสียชีวิตเป็นคนแรกจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังมีชายอีก 1 คนเป็นคนขับรถทัวร์ ซึ่งมีกระแสว่ายังป่วยอาการโคม่า จะเป็นรายที่สองหรือไม่

โดยศ.นพ. ธีระวัฒน์ กล่าวถึงผู้เสียชีวิตรายแรกของไทยว่า ต้องเลิกสื่อให้ประชาชนทราบว่าโรคนี้จะรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดเฉพาะคนแก่ หรือมีโรคประจำตัวถึงจะรุนแรง เพราะถ้าเราย้ำอยู่เรื่อยๆ ว่าต้องแก่ ต้องมีโรคประจำตัว คนก็จะคิดว่าหนุ่มสาวที่ไม่มีโรคประจำตัวไม่เป็นไร วิธีระแวดระวังเวลาเจอผู้ป่วย ต้องให้ความสำคัญพอๆ กัน ประชาชนต้องยอมรับว่าในกรณีอย่างนี้เราต้องระวังตัว ถ้าเราเจอเชื้อซ้ำซากอยู่เรื่อยๆ ก็อาจเสียชีวิต เกิดภาวะวิกฤตได้

“ทุกครั้งที่มีการสื่อว่ามีคนติดเชื้อ มักพูดว่าไปพบกับนักท่องเที่ยว พบคนต่างประเทศ ตรงนี้ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ว่าติดเชื้อตรงนี้ติดเชื้อในผืนแผ่นดินไทย ถ้าติดเชื้อจากคนพาเชื้อมาให้เรา ก็คือมีสิทธิ์แพร่เชื้อให้คนอื่นได้พอๆ กัน ฉะนั้นการย้ำว่าคนที่ติดเชื้อคือคนต่างประเทศ ทำให้ลืมว่าจริงๆ แล้ว ณ ขณะนี้โรคนี้ คนไทยสู่คนไทยด้วยกันเอง”

– กระทรวงแถลงว่าเป็นไข้เลือดออก ลักษณะการแถลงทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นสองโรคร่วมกัน เป็นทั้งไข้เลือดออกและโควิด-19 ด้วย เหมือนไม่ได้แข็งแรง มีโรคแทรกซ้อน เรื่องนี้ข้อเท็จจริง อาจารย์ออกมาสวนในมุมนึงว่า มันไม่ใช่ ขึ้นเพจเลยว่าคนนี้ตายเพราะโควิด-19 ไม่ใช่ไข้เลือดออก ตกลงยังไงกันแน่?
“ประการแรก ถ้าเสียชีวิตด้วยโควิด-19 ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีคนเป็นพันๆ คนเสียชีวิต ถ้าเราสื่อว่าเป็นโรคนั้นแล้วติดเชื้อโควิดทำให้เสียชีวิต ก็จะทำให้เกิดความสับสน เหมือนความสับสนที่เกิดในขณะนี้ ความเป็นจริงแล้วผู้ป่วยรายนี้ที่เสียชีวิตเคยเป็นไข้เลือดออก แต่ ณ เวลาที่ปรากฏตัว ที่มาหา มาพบแพทย์ที่คลินิก 2 ครั้งด้วยกัน โรคพัฒนาจนกระทั่งไปเข้าโรงพยาบาล ลักษณะโรคพบมีปอดอักเสบ ขณะเดียวกันก็ตรวจเลือด พบว่ามีหลักฐานว่าเคยเป็นไข้เลือดออก”

– แสดงว่า ณ ตอนที่ตรวจเขาไม่ได้เป็น?
“ณ ตอนที่ตรวจไม่มีหลักฐานอะไรที่บอกว่าเขาเป็นไข้เลือดออก หลังจากนั้น 4-5 วันก็เจาะเลือดซ้ำ หลักฐานที่บอกว่าเป็นไข้เลือดออก ตรงนั้นยิ่งยืนยันว่าเป็นมาไกลแล้ว ณ ขณะที่ไปโรงพยาบาลไม่ได้มีเรื่องไข้เลือดออก อธิบายจากไข้เลือดออกไม่ได้เลย”

– ชายคนนี้เคยเป็นไข้เลือดออก แต่วันเจาะเลือดมีไข้ต่างๆ นานา ไม่ได้เรื่องเชื้อไข้เลือดออกตอนนั้นแล้ว?
“สรุปว่าเคยเป็น แต่ ณ ขณะที่เป็น ไม่มีไข้เลือดออก โควิดล้วนๆ ข้อสำคัญตรงนี้คือลักษณะของหลักฐานเหมือนเคยเป็น จริงๆ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งแรกนั้น เกิดความตายใจ รู้สึกว่าลักษณะตรงนี้น่าจะเป็นไข้เลือดออก ประกอบกับตัวโควิดกับไข้เลือดออกมีลักษณะทำให้เกล็ดเลือดต่ำนิดหน่อย ตรงนี้ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของไวรัสอะไรเลย ไวรัสโควิด-19 ก็เป็นได้”

– เห็นบอกว่าอาจมีรายที่ 2?
“จริงๆ แล้วข้อมูลตรงนี้กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงเป็นลำดับ ก็เป็นคนไข้ซึ่งอยู่มานานพอสมควร เหมือนคนที่ไข้ที่เสียชีวิตอยู่ที่ รพ.บำราศนราดูร ป่วยมานานพอๆ กัน สิ่งที่เรากังวลก็คล้ายๆ กัน คือผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยที่ได้รับยาตรงนี้เหมือนกัน หลังจากนั้นไวรัสหายหมดเช่นเดียวกัน แต่ก็มีความไม่เสถียร มีเรื่องปอดพัง จริงๆ เป็นปฏิกิริยาที่สำคัญ

เมื่อเริ่มมีการอักเสบเกิดขึ้นก็ทำให้หลั่งไหลของน้ำที่อยู่ในเส้นเลือดออกมา ปอดไม่มีที่ที่จะรับออกซิเจน ปล่อยออกซิเจนให้เลือด ขณะเดียวกันตามรายทางการอักเสบตรงนี้ก็ไปกระตุ้นเซลล์อีกหลายตัว มีกลไกอีกอย่างคือมีเนื้อเยื่อพังผืดเกิดขึ้น ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์หลายๆ ประเทศรวมทั้งจีนก็คิดสองประเด็น เรื่องการลดการอักเสบ ซึ่งเรื่องการลดการอักเสบตรงนี้

ขณะนี้เราก็ประจักษ์ชัดแล้วว่าเราไม่ใช้สเตียรอยด์ เพราะถ้าใช้สเตียรอยด์จะกดภูมิคุ้มกันด้วย แม้จะลดการอักเสบ เป็นที่ชัดเจนว่าไม่ควรใช้ สองเราใช้ยาต้านมาลาเรีย ที่รู้จักมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว มันก็มีความดีสองประการคือ ลดปริมาณไวรัสลงได้ สอง คือลดการอักเสบลงได้ ประการที่ 3 มีความพยายามที่จะลดเจ้าตัวกระบวนการที่ทำให้เกิดเยื่อพังผืด”

– หมายถึงในคนที่สอง?
“คนนี้อาจจะไม่ทัน ตรงนี้อาจเป็นปอดพังไปแล้ว เขาอายุพอๆ กับผม 60 กว่าๆ เรายังหวังว่า ณ ขณะนี้ที่เรียกว่าปอดแข็ง อาจมีบางส่วนกลับมา ไม่ได้เสียหายถาวร ถ้าเราดูทั้งหมด คนไข้แต่ละคนที่อาการหนักนั้น อยู่โรงพยาบาลเดือนนึง หรือเดือนกว่า ค่ารักษาพยาบาลในผู้ป่วยอาการหนักเป็นล้านๆ ต่อหนึ่งราย คิดดูว่าห้องแยก มีเครื่องช่วยชีวิตเต็มไปหมดเลย มียาแต่ละตัวที่ให้ เพราะฉะนั้น ณ ขณะนี้ ผู้ป่วย 1 รายที่มีอาการหนักต้องอยู่โรงพยาบาล 1 เดือน และยังต้องอยู่ต่อ ทำไมเราไม่ป้องกันเข้มงวดกวดขัน เช่น นักท่องเที่ยวที่เดินทางมา ทำไมเราไม่ป้องกันโดยให้ทุกคนมีจิตสำนึก ชัดเจนว่าเราต้องป้องกันตัวเอง และไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย หนึ่งเดือนยังเอาไม่อยู่ ตอนนี้เราอย่าไปพูดเรื่องยาพอ”

ตกลงตอนนี้ยามีมั้ย ยารักษาตัวนี้?
“ยาที่ใช้รักษาเราก็เสนอมาตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. ตอนนั้นต้องขอบพระคุณท่านอาจารย์ธนารักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งหลังคณะทำงานเราได้เรียนท่านก็ขวนขวายหายาเข้ามา แต่ประเด็นสำคัญคือ ณ ตอนนี้ใครๆ ก็อยากเก็บยาไว้ใช้ในประเทศผู้ผลิต ตอนนี้ถ้าเราได้มาก็ดี แต่ตอนนี้ที่สำคัญเมื่อไหร่ก็ตามที่ใช้ยาตัวนี้ เราจะเก็บไว้ใช้ในผู้ป่วยอาการหนัก”

– ถ้ารักษาต้องตั้งแต่ต้นๆ?
“ครับ ตอนนี้การป้องกัน การตอบโต้เรื่องการแพร่เชื้อเป็นเรื่องสำคัญ ที่สำคัญบุคลากรทางการแพทย์ต้องช่วยชีวิต อย่างวิกฤตขนาดนี้ บุคลากรต้องมหาศาล เราจะเสียโอกาสสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่นๆ ที่ต้องใช้เครื่องมือวิกฤตเหล่านี้ด้วย”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน