สธ.เตรียมเผยแพร่แผนที่ ตำแหน่งผู้ป่วย โควิด-19 เสนอ 3 วิธีลดปริมาณคนป่วย

วันที่ 15 มี.ค. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค (คร.) จัดทำแผนที่สถานที่ต่างๆ ที่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และต่างจังหวัด เพื่อให้ติดตามสถานการณ์และดูกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเมื่อวันที่ 14 มี.ค. มีนโยบายชัดเจนที่จะใช้มาตรการที่ยกระดับขึ้น

โดยใช้มาตรการทางกฎหมายในรูปแบบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติและระดับจังหวัดในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการปิดผับ หรือสนามมวย ที่เป็นแหล่งการแพร่เชื้อในเวลาที่กำหนดไว้ ตอนนี้มีความร่วมมือ เช่น สนามม้าทุกแห่งปิดทั้งหมดแล้ว ทั้งที่นครราชสีมาและ กทม. เพื่อให้ความมั่นใจดูแลคนไทย โดยย้ำว่าขอให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมคนหมู่มาก โดยเฉพาะถ้าเกิน 100 คน

นพ.สุขุม กล่าวว่า ทั้งนี้ ยืนยันว่า การตรวจยืนยันโรคโควิด-19 หากมีประวัติมาจากประเทศที่มีการระบาด เคยสัมผัสคนต่างชาติ หรือทำงานเกี่ยวข้องคนต่างชาติ สัมผัสคนเป็นโรคนี้ บุคลากรทางการแพทย์ มีอาการปอดบวมไม่ทราบสาเหตุ พบการป่วยทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ

อย่างไรก็ตาม จากการยกระดับโรคนี้เป็นโรคฉุกเฉิน ก็จะมีปัญหาว่า เข้า รพ.เอกชนแล้ว 72 ชั่วโมงต้องย้าย ต้องหาเตียง ขณะนี้มีบัญชาจากนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. จะทำเป็นหลักเกณฑ์ว่า ถ้าป่วยโรคโควิด-19 แล้วเข้า รพ.เอกชน ก็ให้อยู่รักษาจนหายโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลยหรือไม่ต้องย้ายไปไหนต่อ

นอกจากนี้ วันที่ 16 มี.ค. สธ.จะเสนอมาตรการต่อศูนย์บริหารจัดการของรัฐบาล มี 3 ประเด็น คือ 1.การลดคนเดินทางเข้าประเทศ 2.ปิดสถานบริการที่มีความแออัด มีความเสี่ยงสูง มีการพบผู้ป่วย และ 3.งดกิจกรรมรวมคนหมู่มาก เพื่อให้พิจารณา รายละเอียดขอให้ติดตามวันที่ 16 มี.ค.

เมื่อถามถึงมาตรการทำ แผนที่เส้นทางผู้ป่วย เป็นเพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากแล้วหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทำไมถึงเริ่มคิดทำแผนที่ ต้องชี้แจงว่า ความเสี่ยงที่เราจะติดเชื้อ พิจารณาจาก 2 ส่วน คือ 1.ชีวิตประจำวันของเรา สัมผัสใกล้ชิดกับคนอื่นมากน้อยแค่ไหน ถ้าทุกวันทำงานกับคนจำนวนมากเป็นร้อยคน ก็จะเสี่ยงมากว่าคนที่ทำงานอยู่บ้าน หรือคนไม่ออกจากบ้านเลย ความเสี่ยงแทบเป็นศูนย์ 2.คนที่เราไปเจอ มีโอกาสเป็นผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน การที่เราบอกว่า แต่ละพื้นที่พบผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหนแล้ว จะช่วยให้เราสามารถประเมินตัวเองได้ว่า ในพื้นที่ในเขตแถวบ้านเรามีผู้ป่วยประมาณเท่าไร จะได้มาประเมินตัวเองได้ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และพิจารณาว่าจะลดความเสี่ยงของตัวเราเองหรือไม่

“การทำแผนที่ว่าสถานที่ไหนมีผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน ไม่ได้ทำเพื่อให้แพนิค แต่เพื่อให้เราจัดการกับความเสี่ยงของเรา ถ้าสมมติวันนี้แถวบ้านเราเพิ่งเจอผู้ป่วยคนเดียว แล้วแต่ละวันเราเจอคนแค่ 1-2 คนเท่านั้น ความเสี่ยงเราต่ำมาก ถ้าอาชีพเราเจอคนเป็นร้อยเป็นพัน และเขตบ้านเรามีผู้ป่วยแล้วหลักพัน หลักหมื่นคน แสดงว่าโอกาสเจอผู้ป่วยจะสูงขึ้นตาม ก็ต้องพิจารณาว่าจะลดเสี่ยงได้อย่างไร

เช่น ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปพบปะผู้คนให้มากนัก ถ้าต้องเจอจริงๆ จะป้องกันตัวเองได้อย่างไร ก็บอกทุกครั้งคือสวมหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ อย่าเอามาโดนใบหน้า กินร้อน ช้อนกลางหรือช้อนตัวเองก็ทำได้ คือรู้ความเสี่ยงและจัดการความเสี่ยงตามหลักการ” นพ.ธนรักษ์ กล่าวและว่า ส่วนการทำแผนที่นั้น ขณะนี้ข้อมูลเรามีทั้งหมดอยู่แล้ว ก็อยู่ระหว่างดำเนินการ

เมื่อถามว่า การที่ทำแผนที่เพราะขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวนมาก กระจายหลายกลุ่มก้อนแล้วหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในแผนตั้งแต่แรก อยู่ที่ว่าจะสวิตช์ตอนไหน ในการปฏิบัติหรือวิธีการจัดการกับปัญหา ตอนเราอยู่ระยะการแพร่โรคในวงจำกัดกับตอนที่เรามีจำนวนผู้ป่วยกว้างขวางมากขึ้น วิธีปฏิบัติแทบทุกเรื่องอาจมีการปรับให้เหมาะสมสถานการณ์

เมื่อถามว่าขณะนี้คนเริ่มกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะกังวลเรื่องโรคโควิด-19 มีคำแนะนำหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า มาตรการการเพิ่มระยะห่างทางสังคม หลักคิดง่ายๆ คือ อย่างที่บอกว่าความเสี่ยงของเราขึ้นกับ เราไปพบปะผู้คนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งลดได้ด้วยการวางแผนชีวิตให้ดี แทนที่จะเข้าซูเปอร์มาร์เกตทุกวันต่อสัดาห์ ถ้าสามารถเข้าได้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะลดความเสี่ยงตัวเอง เพราะฉะนั้น ตนไม่พูดเรื่องการกักตุน

แต่เป็นเรื่องของการวางแผนชีวิตตัวเองจะดำเนินชีวิตอย่างไรในทุกวันที่นี้ที่อาจมีความเสี่ยงหรือมีผู้ป่วยในสังคมเพิ่มขึ้น ถ้ามีผู้ป่วยในสังคมเพิ่มขึ้นจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ปลอดภัย ซึ่งคงไม่ใช่กักตุน แต่เป็นการวางแผนชีวิตให้ดี แทนที่จะต้องไปซูเปอร์มาร์เกตทุกวัน ก็ซื้อเผื่อวันอื่นๆ จะได้เข้าห้างร้านไม่ถี่เหมือนเดิม หรือร้านสะดวกซื้อทุกวัน 3 เวลา ก็อาจเข้าแค่ครั้งเดียวพอ และซื้อครั้งเดียวไปเลย เป็นวิธีการลดความเสี่ยงตัวเองได้

ถามต่อว่าการเจอผู้ป่วยจำนวนมากเช่นนี้มีแนวโน้มเข้าสู่ระยะ 3 แล้วหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า จากการเจอผู้ป่วยกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ มีผู้ป่วยในพื้นที่ กทม.มากขึ้น ทำให้กระบวนการควบคุมโรคต้องเพิ่มความเร็วในการทำงานมากขึ้น จังหวะนี้ถือว่าสำคัญ เพราะถ้ามีคนไข้หลุดมือไปจำนวนหนึ่ง แล้วไปแพร่อย่างที่เห็น คือ มีคนไข้หลุดมือไปเข้าสนามมวย ไปตามผับต่างๆ ก็ก่อให้เกิดแพร่โรคเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ และถ้ากลุ่มขนาดใหญ่มีใครหลุดไปอีก ก็สามารถแพร่โรคระยะต่อไปได้อีก

ส่วนนี้เรากำลังพยายามอย่างเต็มที่ในการตามตะครุบผู้ป่วยให้ได้โดยเร็ว แต่สุดท้ายแล้วภาครัฐจะมีศักยภาพระดับหนึ่ง ส่วนประชาชนมีศักยภาพอีกระดับหนึ่ง ถ้าผู้ป่วยทุกคนหรือผู้สัมผัส ซึ่งเราบอกแล้วว่ามีเหตุเกิดที่ไหนบ้าง เช่น สนามมวย ผู้ที่เคยเข้าไปในช่วงเลาเดียวกับผู้ป่วยเข้า หากมีไข้ไอเจ็บคอ ก็ให้นึกไว้ก่อนว่าใช่ และรีบไปตรวจที่ รพ.โดยเร็ว และระหว่างนี้ก็หลีกเลี่ยงการแพร่โรคกับคนอื่น ทั้งในบ้าน ที่ทำงาน หรือตรงไหน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน