​ศิริราช ห่วงถ้าไม่ทำอะไรเลย เม.ย.โควิดพุ่งกว่า 3 แสน ตายแน่ 7 พันคน

เมื่อวันที่ 23 มี.ค.​ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มเพิ่มจำนวนสูงขึ้นจาก 2 กลุ่มใหญ่ คือ กรณีผับ และสนามมวย สำหรับโรคโควิด-19 นั้น สถานการณ์ของโลกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่คุมอยู่ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง กลุ่มนี้อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยจาก 100 ราย เป็น 200 ราย อยู่ที่ประมาณ 5 วัน

และ 2.กลุ่มที่คุมไม่อยู่ คือแถบยุโรป โดยจำนวนผู้ป่วยจาก 100 คน มาเป็น 200 คนอยู่ที่ประมาณ 3 วัน โดยประเทศไทยตอนผู้ป่วยถึง 100 คนและเพิ่มมาเป็น 200 คนอยู่ที่ประมณ 3.5 วัน ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ คาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะวิ่งไปในแนวทางกลุ่มประเทศที่คุมไม่อยู่ ซึ่งโดยเฉลี่ยแต่ละวันจะมีรายใหม่บวกเพิ่มประมาณ 33%

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จากการดูอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยรายใหม่ในไทยของแต่ละวัน จะพบว่าเพิ่มวันละ 30 คน เป็น 50 คน 89 คน 188 คน ตอนนี้ตัวเลขวิ่งไปเร็ว และอัตราการเพิ่มอยู่ในตัวเลข 30 กว่าเปอร์เซ็นต์จริง ซึ่งหากเราไม่ทำอะไรปล่อยให้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่แต่ละวันเพิ่ม 33%

จากการคำนวณทางสถิติพบว่า จากวันที่ไทยพบผู้ป่วยเกิน 100 คนครั้งแรกคือวันที่ 15 มี.ค. หากไม่ทำอะไรใน 30 วัน คือวันที่ 15 เม.ย. 2563 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 351,984 ราย และเมื่อคำนวนจากอัตราความรุนแรงของโรคต่างๆ จะพบว่าจะมีผู้ป่วยต้องนอน รพ. 52,792 ราย อยู่ ไอ.ซี.ยู. 17,597 ราย และเสียชีวิต 7,039 ราย

แต่หากเราเริ่มดำเนินการเพื่อดึงจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลงมาที่ 20% คำนวณว่า วันที่ 15 เม.ย. เราจะลดจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 มาอยู่ที่ 24,269 ราย นอนรพ. 3,640 ราย อยู่ไอ.ซี.ยู. 1,213 เสียชีวิต 485 ราย

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า หากพิจารณาจากทรัพยากรที่เรามีจะพบว่า เรามีห้องแยกผู้ป่วยเดียวใน ก ทม. 237 ห้อง ต่างจังหวัด 2,444 ห้อง ห้องแยกผู้ป่วยรวมสำหรับอาการไม่เยอะหรือ cohort ward ในกทม.มี 143 เตียง ต่างจังหวัด 3,061 เตียง ห้องความดันลบในกทม. 136 เตียง ต่างจังหวัด 1,042 เตียง

ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนพบว่า มีแพทย์ 37,160 คน พยาบาล 151.571 คน ซึ่งหากเราไม่ทำอะไรปล่อยให้ผู้ป่วยทะลักเข้ามาจำนวนเท่านี้ ระบบสาธารณสุขจะรองรับไม่ได้ เกินศักยภาพประเทศไทยทั้งประเทศ แต่หากคุมอัตราเพิ่มผู้ป่วยรายใหม่ลงมาที่ 20% จะเห็นว่าจำนวนผู้ป่วยจะพอกับทรัพบากรที่เรามี

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะนี้รัฐบาลระงับการเดินทางของคนนอกพื้ที่เข้ามาในประเทศ คือ การป้องกันคนติดเชื้อข้างนอกไม่ให้เข้าสู่พื้นที่เรา โดยคนเข้าประเทศไทยต้องมีหนังสือรับรองว่าปราศจากเชื้อนี้ เข้ามาก็ถูกจำกัด 14 วัน เชื่อว่าทำให้คนส่วนหนึ่งไม่เข้ามา มาตรการตรวจจับคนติดเชื้อให้ได้ โดยนำไปแยกกัก ทั้งผู้ป่วย คนมีประวัติสัมผัสคนติดเชื้อ และมีการปิดสถานที่เสี่ยงจำนวนคนเยอะๆ

เช่น สถานศึกษา สถานบันเทิง ส่วนการป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ขยายวง คือสิ่งที่เราขอให้ทำอยู่ตอนนี้คืออยู่กับบ้าน ลดโอกาสแพร่เชื้อ เพราะออกไปอาจไม่ป่วยแต่ออกไปแล้วอาจรับเชื้อมาได้ และการรักษาระยะห่างทางสังคม ไม่ใกล้ชิดกว่า 1-2 เมตร หากทำได้ก็จะช่วยลดการแพร่เชื้อลง เพราะโรคติดต่อจะไม่ติดต่อ ถ้าคนไม่ติดต่อกัน ซึ่งหากทำเช่นนี้ได้นาน 3 สัปดาห์ เชื่อว่าช่วงสัปดาห์ที่ 4 เป็นต้นไป จะเห็นการเพิ่มของโรคค่อยๆ ลดลง ชะลอการระบาดของโรค

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน