ชัดๆจากรมว.พลังงาน แจงรับคืน “ค่าประกันการใช้ไฟฟ้า” ส่วนกฟภ.ระบุเงื่อนไข ซ่อมมิเตอร์

จากกรณีรัฐบาลเห็นชอบให้คืนเงิน “ค่าประกันการใช้ไฟฟ้า” ตามมาตรการช่วยเหลือผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาล ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าจะสามารถขอรับเงินค่าประกันคืน จำนวนกว่า 23 ล้านรายทั่วประเทศ วงเงินกว่า 33,000 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าตั้งแต่ 300-12,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้าและจำนวนเฟสที่ใช้งานตามบ้านพักอาศัย ได้ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.63 และรับเงินตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.63 เป็นต้นไป

โดยพบว่าวันนี้ (25 มี.ค.) เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเป็นวันแรก ซึ่งพบว่า มีประชาชนจำนวนมาก เข้าไปลงทะเบียนผ่านหน้าเว็บไซต์ของทั้ง 2 เว็บ จนหน้าเว็บของทั้งกฟภ.และกฟน.มีปัญหา ซึ่ง การไฟฟ้าแจ้งขอความร่วมมือประชาชนอย่าเพิ่งแย่งกันใช้บริการ เพราะระบบการคืนเงินจะดำเนินการคืนเงินให้ทุกสิทธิ ไม่มีวันสิ้นสุด ตามนโยบายรัฐบาล

ทั้งนี้ พบว่า มีสมาชิกทวิตเตอร์ได้เข้าไปสอบถาม ถึงการคืนเงินประกันดังกล่าว ว่า ภายหลังการคืนเงินแล้ว หากมิเตอร์ได้รับความเสียหาย จะต้องจ่ายเงินเองเนื่องจากไม่มีเงินประกันแล้วใช่หรือไม่

โดย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตอบคำถามว่า “กรณีเงินประกันเมื่อขอคืนมาแล้ว สิทธิประกันมิเตอร์จะถูกยกเลิกไป หากมิเตอร์เสียหาย ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ กรณีหากท่านไม่สะดวกที่จะยื่นเรื่องขอรับคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าก็สามารถทำได้ หากไม่ขอเงินคืนประกันดังกล่าวจะยังอยู่เหมือนเดิม”

อ่านเพิ่มเติม สนธิรัตน์ แจงแล้ว! ปม มิเตอร์ไฟฟ้า พังใครรับผิดชอบ! ชี้ไม่เกี่ยวขอคืนเงินประกัน

ขณะที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ชี้แจงว่า ตามหลักการแล้วเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า ไม่ใช่การคืนเงินประกันมิเตอร์ โดยตัวมิเตอร์ถือเป็นสินทรัพย์ของ 2 การไฟฟ้า(กฟน.-กฟภ.) หากมีการชำรุดสียหายโดยระบบตัวเครื่อง หรือจากภัยธรรมชาติ ทั้ง 2 การไฟฟ้าจะดำเนินการสับเปลี่ยนให้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า ยกเว้นมิเตอร์ชำรุดที่เกิดจากการกระทำ เช่น ชน เฉี่ยว แตก หรือการโหลดไฟฟ้าเกินขนาดมิเตอร์ กรณีนี้ผู้ใช้ต้องเป็นผู้ชำระค่ามิเตอร์ ซึ่งเป็นหลักการเดิม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าอย่างใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน