จี้โรงเรียน เลิกติดป้ายประกาศชื่นชมนักเรียน อย่าใช้เด็กมาสร้างชื่อเสียง

วันที่ 8 พ.ค. นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม กพฐ. ว่า ที่ประชุมหารือเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนาขึ้นใหม่ โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เห็นชอบหลักสูตรฐานสมรรถนะใหม่นี้แล้ว

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ซึ่งที่ประชุมเสนอว่าควรจะประชาสัมพันธ์ และจัดทำคู่มือให้ครูทราบล่วงหน้าว่า หลักสูตรที่กำลังจะเปลี่ยนไปนั้นต่างจากหลักสูตรเดิมอย่างไร เพื่อให้ครูเข้าใจ เตรียมความพร้อมและทำใจที่จะปรับเปลี่ยนตนเอง เพราะหลักสูตรฐานสมรรถนะ อาจจะกระทบการจัดการเรียนการสอนของครู ดังนั้น ควรจัดทำคู่มือและประชาสัมพันธ์เพื่อให้ครูสามารถปฏิบัติงานได้ง่ายขึ้น

“การเรียนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะจะต้องปรับปรุงการเรียนการสอนด้วย ผมพบปัญหาพฤติกรรมของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่ยังติดกับรูปแบบเดิม คือไปเคี่ยวให้ผู้อำนวยการ และครูทุกโรงเรียน ต้องทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี ถ้าไปเคี่ยวโดยไม่สนใจพัฒนาการของนักเรียน อาจจะเกิดผลเสียง ควรจะเปลี่ยนเป็นว่าโรงเรียนต้องรายงานพัฒนาการของนักเรียน โดยที่นักเรียนจะต้องมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นทุกปี หากกำหนดเช่นนี้ เชื่อว่าการศึกษาจะพัฒนาได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ผมคิดว่าโรงเรียนแข่งขันสูง ไม่ว่าจะเป็นในต่างจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร ควรเลิกใช้เด็กมาสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน โดยติดป้ายประกาศหน้าโรงเรียนชื่นชมนักเรียนว่าสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยไหนได้บ้าง คณะใดบ้าง ผมอึดอัดกับวิธีนี้มาก เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งทาง สพฐ.รับเรื่องไปพิจารณาแล้ว” นายเอกชัยกล่าว

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สพฐ.แจ้งให้ที่ประชุมทราบและแสดงความเห็น ร่างกฎ ระกทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการจัดตั้ง รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. … ซึ่งเดิมนี้น มีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการจัดตั้ง ควบรวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2550 อยู่แล้ว แต่ฝ่ายกฎหมายท้วงว่าการออกระเบียบเพื่อควบรวมหรือจัดตั้งสถานศึกษา ต้องทำเป็นประกาศกระทรวงเท่านั้น

ดังนั้น สพฐ.จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อจะมีการปรับระเบียบนี้แล้ว อะไรที่เป็นอุปสรรคไม่ทันสมัย ก็ควรจะแก้ใหม่ทั้งหมด เช่น การตั้งสถานศึกษาต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ ปริมาณผู้เรียนในอนาคตว่าจะมีผู้เรียนจำนวนเท่าใด ดังนั้นการขอจัดตั้งสถานศึกษาอาจจะไม่ง่ายอีกต่อไป เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน