นายวรา จันทร์มณี นักวิชาการอิสระ เลขาธิการชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม โพสต์เรื่องราวลงเฟซบุ๊กตั้งคำถามกับรายการช่องส่องผี โดยระบุว่า รายการช่องส่องผี มีการนำเสนอข้อมูลแบบเลื่อนลอย บิดเบือนประวัติศาสตร์ เข้าไปดำเนินการในวัดหรือโบราณสถาน อันเกี่ยวข้องกับศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ส่งผลถึงศรัทธาความเชื่อ และผลประโยชน์ของประชาชน โดยผมมีข้อสังเกต 3 ประการ เกี่ยวกับรายการนี้ คือ

ประการที่ 1 มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์
การบอกว่าโปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม เป็นการพูดเพื่อหลบเลี่ยง วิจารณญาณนั้นต้องมีพื้นฐานคือปัญญา ความรู้ การอ้างว่าเป็นประวัติศาสตร์นอกตำรา ค่อนข้างไม่ผิดชอบไปหน่อย ประวัติศาสตร์ต้องมีหลักฐาน เอกสาร ข้อมูล รองรับ

ประการที่ 2 มีการกระทำย้อนแย้งกับหลักพุทธศาสนา
อ้างว่าชวนคนเข้าวัดทำบุญ สอนให้เกรงกลัวต่อบาป แต่กลับโกหก บิดเบือนประวัติศาสตร์, การสร้างเหรียญกอร์กอนอสุรกายในตำนานกรีก มีการปลุกเสกวัตถุมงคลในวัด แถมยังอ้างว่ามีบรรดาบูรพกษัตริย์ เช่น พระนเรศวร พระเจ้าตาก ท่านบุญมา วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 9 มาร่วมพิธี

เห็นเทพเจ้าต่างๆ การอัญเชิญพระเกจิอาจารย์ หลวงพ่อทวด หลวงพ่อวัดไร่ขิง หลวงพ่อเปิ่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่ฤาษีลิงดำ พระสังฆราชแพ รวมถึงหลวงปู่ฤาษีร้อยแปด

จนชวนตั้งคำถามว่าเป็นการจัดฉากแสดงละครเพื่อหลอกลวงมอมเมาประชาชนหรือไม่ ชวนเข้าวัดเพื่อให้หลุดพ้นหรือหลงงมงายเข้าไปอีก

ประการที่ 3 มีการเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ทางการเงิน ในช่องทางต่างๆ คือ
การทำเหรียญกอร์กอน ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตระบุว่ามีราคาตั้งแต่ 299 บาท ถึง 12,999 บาท
มีการดูดวง

จริงหรือไม่ว่าการดูดวงเคยเริ่มต้นที่ราคา 500 บาท จนปัจจุบันราคา 3,000 บาท และมีประชาชนจำนวนมากไม่ได้ดู และไม่ได้รับเงินคืน

จริงหรือไม่ว่ามีการสะเดาะห์เคราะห์ โดยคิดค่าครู 5,000 บาท ถ้าถอนของเกี่ยวกับวิญญาณเด็กด้วย ค่าครู 5,999 บาท มีการเรี่ยไรเงิน

สรุปจากทั้ง 3 ประการข้างต้น รายการช่องส่องผี มีการดำเนินรายการที่บิดเบือนประวัติศาสตร์ พูดถึงสิ่งเร้นลับที่พิสูจน์ไม่ได้ โน้มน้าวให้ประชาชนศรัทธาหลงเชื่อคล้อยตาม จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติหน้าที่ กล่าวคือ

1. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
หากมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ อันนำไปสู่การหลอกลวงมอมเมาประชาชน กสทช. ควรพิจารณาถอดออกจากรายการโทรทัศน์ทางช่อง 8

2. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
หากมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ อันนำไปสู่การหลอกลวงมอมเมาประชาชน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน

3. กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
หากมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ อันนำไปสู่การหลอกลวงมอมเมาประชาชน กรมการศาสนาควรพิจารณากำหนดมาตรการห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวัด

4. กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
หากมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ อันนำไปสู่การหลอกลวงมอมเมาประชาชน กรมศิลปากรควรพิจารณาห้ามเข้าไปทำรายการในเขตโบราณสถาน

ขอยกตัวอย่างที่รายการช่องส่องผีบิดเบือนประวัติศาสตร์ 8 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 พระเจ้าตากทรงช้างไม่เป็น
ในตอนหนึ่งของรายการบอกว่า “…พระเจ้าตากท่านไม่ได้ทรงช้าง ท่านทรงช้างไม่เป็น ท่านทรงม้าอย่างเดียว…”

ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล บันทึกไว้ว่าชัดเจนว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตาก) ทรงประทับช้างหลายครั้ง เริ่มจากการเดินทัพไปทางภาคตะวันออก ถึงบ้านนาเกลือพบกับกองกำลังของนายกลม ซึ่งคอยสกัดอยู่ จึงขึ้นทรงช้างเข้าไปหานายกลม นายกลมและพวกเกรงกลัว ยอมอ่อนน้อมโดยดี

ต่อมา ในการรบกับเมืองจันทบุรี พระองค์ทรงประทับบนหลังช้างพังคีรีบัญชรขับเข้าชนทำลายประตูเมืองจันทบุรี ในคราวยึดเมืองนครศรีธรรมราช ทัพหน้าของพระองค์สามารถขับไล่เจ้าเมืองนครออกจากเมืองได้แล้ว พระองค์จึงทรงช้างพลายเพชรเข้าเมือง

อีกคราว หลังจากขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่แล้ว ทรงช้างพลายคเชนทรเยียรยงเข้าไปตรวจความเรียบร้อยในเมือง

กรณีที่ 2 วัดกุฎีดาว
อ้างว่าวัดกุฎีดาว (ต.ไผ่ลิง จ.พระนครศรีอยุธยา) สร้างในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์

ไม่จริง เพราะวัดกุฎีดาวสร้างก่อนนานมาก โดยมีปรากฏในหนังสือพงศาวดารเหนือว่า พระยาธรรมิกราช ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงสร้างเมื่อจุลศักราช 671 หรือ พ.ศ.1852 ก่อนก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา (1893)

หรืออย่างน้อยก็มีการบันทึกว่าวัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์โดยสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ใน พ.ศ. 2254 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ก่อนเจ้าฟ้าเอกทัศ (พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ประสูติด้วยซ้ำ (ประสูติ พ.ศ. 2275)

การกล่าวว่าเจดีย์วัดกุฎีดาวพังเพราะถูกพม่ายิงปืนใหญ่ใส่ ไม่จริง เพราะเจดีย์เพิ่งพังถล่มลงมาราว 100 ปีนี่เอง

กรณีที่ 3 ขุนแผนกับขุนวรวงศาธิราช
การพูดที่วิหารวัดป่าเลไลยก์ เชื่อมโยงว่าขุนแผนจากวรรณกรรมเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เป็นญาติกับคุณวรวงศาธิราช (ชื่อเดิมบุญศรี) บอกว่าเป็นคนสุพรรณเหมือนกัน ขุนแผนเป็นคนพาบุญศรีเข้าวัง จึงได้เจอกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์

ทั้งๆ ที่ขุนแผนเป็นแค่ตัวละครในวรรณคดี ส่วนขุนวรวงศาธิราช บางทฤษฎีเชื่อว่าเป็นบุตรหรือมีเชื้อสายสืบทอดมาจากเจ้าเมืองศรีเทพ หรือสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์อู่ทอง

กรณีที่ 4 พระปีย์
มีการทักผู้ร่วมรายการว่าในอดีตชาติเป็นพระปีย์ โอรสบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์ และพระปีย์เสียใจมากที่พระนารายณ์สิ้นพระชนม์ ทั้งที่ความจริงพระปีย์เสียชีวิตก่อนพระนารายณ์ โดยในขณะที่พระปีย์กำลังล้างหน้าอยู่ที่ริมหน้าต่างตอนเช้าก็ถูกขุนพิพิธรักษา

คนของหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) ผลักตกหน้าต่าง ก่อนที่จะถูกพระเพทราชาจับไปสำเร็จโทษ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2231 แล้วทิ้งศพไว้ที่วัดซาก ส่วนพระนารายณ์ ซึ่งประชวรอยู่ เมื่อฟื้นคืนพระองค์ก็ได้ตรัสบริภาษสาปแช่งพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ นับแต่วันนั้นก็ทรงเศร้าซึม และเสด็จสวรรคตในวันที่ 11 กรกฎาคม 2231

กรณีที่ 5 สุนทรภู่
บอกว่าสุนทรภู่ตายที่เมืองแกลง จ.ระยอง ไม่จริง เพราะมีหลักฐานบันทึกว่าสุนทรภู่ตายที่กรุงเทพฯ ไม่ที่วัดสมอแครงหรือวัดเทวราชกุญชร ปากคลองผดุงกรุงเกษม, ก็ที่บ้านในสวนริมวัดเรไร เยื้องวัดป่าเชิงเลน (คนละฝั่งคลองชักพระ) เขตตลิ่งชัน หรือที่พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)

กรณีที่ 6 นายจันทร์หนวดเขี้ยว
มีการทักผู้ร่วมรายการว่ามีอดีตชาติเป็นลูกชายนายจันทร์หนวดเขี้ยว มีกล้องจับเห็นนายจันทร์หนวดเขี้ยวมายืนลูบหัวอยู่ด้วย และยังอ้างว่านายจันทร์หนวดเขี้ยวสั่งให้ลูกชายไปหาพระเจ้าตากที่จันทบุรี ซึ่งเวลาไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือบางระจันแตกเมื่อกลางปี 2309 แต่พระเจ้าตากไปจันทบุรีในเดือนมิถุนายน 2310 เวลาห่างกันเป็นปี (หรือนายจันทร์หนวดเขี้ยวจะมีโดเรม่อนมาบอกเหตุการณ์ล่วงหน้า?)

กรณีที่ 7 พระยาวิเศษฤาชัย (ช้าง) เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา
การบอกว่าพระยาวิเศษฤาชัย (ช้าง) ถูกอั้งยี่แทงตาย ไม่จริง เพราะท่านแก่ตาย, บอกว่าเมียพระยาช้างชื่อนางหุ่น ทั้งที่จริงชื่อนางมี หนำซ้ำยังบอกว่าลูกหลานตายหมดไม่มีใครทำบุญให้ ทั้งที่ความจริงลูกหลานของพระยาช้างมีนับร้อยหลายสายกระจายอยู่ทั่ว จ.ฉะเชิงเทรา อาทิ ที่บางคล้า สนามชัยเขต พนมสารคาม และวัดเกาะจันทร์ ฯ

กรณีที่ 8 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร)
การไปพบดวงวิญญาณของพระองค์เจ้าไกรสร (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 กับเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว ต้นราชสกุลพึ่งบุญ และอนิรุทธเทวา) ที่ศาลารูปปั้นวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งพระองค์ทรงสร้าง และบอกว่าหม่อมไกรสรเคยมาปราบอั้งยี่ด้วย ซึ่งไม่จริง พระองค์สิ้นพระชนม์ก่อนที่อั้งยี่จะมายึดเมือง โดยถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา เมื่อวันพุธ ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2391 ส่วนรูปปั้นท่านเพิ่งมีคนเอามาตั้งราว พ.ศ.2530-2532

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Cr.ภาพ : Buay Watcharakhun

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน