พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข หอบหลักฐานคดีน้องชมพู่ แจง กมธ. การกฎหมาย ทุกข้อสงสัย ยันทำตามกรอบกฎหมาย ไม่ทำตามกระแสโซเชียล

เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญ พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะที่เป็นหัวหน้าชุดดูแลคดี เพื่อชี้แจงข้อร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องในการสืบสวนสอบสวนคดีน้องชมพู่ ในจังหวัดมุกดาหาร

พล.ต.อ.สุวัฒน์ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้ข่าวในคดีดังกล่าว เพราะคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล โดยเด็กหายวันที่ 11 พ.ค. และพบศพวันที่ 14 พ.ค. แม่ได้ไปร้องทุกข์ว่ามีการพรากผู้เยาว์ จึงทำให้มีการสืบสวนสอบสวน เนื่องจากเราพบวัตถุพยานหลายอย่างจากร่างกาย ลักษณะเป็นเส้นผม หรือ เส้นขนต่าง ๆ จึงเชื่อว่าจะสามารถสกัดออกมาได้ จึงมีการตรวจพบดีเอ็นเอ เพื่อตรวจสอบว่ามีใครเข้าไปในพื้นที่ได้

โดยในหมู่บ้านมีคนจำนวน 278 คน แต่มีการเรียกคนจำนวน 900 กว่าคน เพราะต้องการไปซักถาม แต่ไม่ได้เป็นพยานทั้งหมด หากใครให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ก็จะมีการสอบปากคำเข้าพยาน ซึ่งมีเพียง 63 ราย จาก 900 กว่าราย ที่ถูกบันทึกปากคำอยู่ในสำนวน และไม่มีการบังคับใด ๆ และวันเวลาที่ไปพบก็เอาตามความสะดวกของผู้ในปากคำ สำหรับการตรวจเก็บดีเอ็นเอก็ทำตามวิอาญาทุกอย่างเก็บโดยผ่านเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมทั้งหมด และมีบันทึกความยินยอมทั้งหมด

คดีน้องชมพู่

พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ประเด็นบนโซเชียลนั้นควบคุมไม่ได้ แต่ตำรวจทำงานตามพยานหลักฐานชัดเจน ไม่ใช่ตามกระแสข่าว สำหรับการตรวจศพเกิดขึ้น 3 ครั้ง คือ ที่โรงพยาบาลดงหลวง และ โรงพยาบาลอุบลราชธานี และ อีกโรงพยาบาลคือโรงพยาบาลตำรวจ สาเหตุที่ต้องตรวจทั้งหมด 3 ครั้ง เพราะว่า จากการผลการตรวจครั้งแรกนั้น ยังไม่สามารถระบุสาเหตุการตายได้

ผู้ปกครองติดใจจึงได้ร้องขอให้มีการประสงค์ตรวจอีกครั้ง การที่แพทย์บอกว่าไม่สามารถระบุสาเหตุการตายได้นั้น ก็ต้องชี้แจ้งให้ได้ว่าเพราะอะไร ต้องเอาข้อสันนิษฐานและข้อเท็จจริงแยกจากกัน ไม่ใช่ตั้งข้อสันนิษฐานว่า เด็กขาดน้ำ เพราะเห็นว่าอากาศร้อน กับขาดน้ำเพราะพยาธิสภาพของศพบอก มันต่างกัน บางคนสันนิษฐานว่า เด็กเดินขึ้นไปเองได้หรือไม่ ต้องย้อนกลับว่าวิสัยเด็กนั้นเคยเดินขึ้นไปหรือไม่ แต่ถ้าคิดไปเฉยๆ ไม่มีคำอธิบายประกอบ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“นิติวิทยาศาสตร์ไม่ได้แปลว่ามีแค่นี้แล้วจะลงโทษใครได้ เราทำงาน ไม่ได้ทำเพื่อจะจับใคร เราทำเพื่อหวังผลในการดำเนินคดีในชั้นศาล การสืบสวนไม่ได้มองว่า แพ้หรือชนะในคดี เราจะระมัดระวังเรื่องพวกนี้มาก เพราะหากตำรวจแพ้มักถูกบอกว่าจับแพะ จึงต้องดูทุกอย่างประกอบกัน ต้องดูทั้งเหตุและผล ถ้าเป็นข้อสันนิษฐาน อธิบายได้ก็เพียงพอ

ขอยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรนอกอำนาจหน้าที่ เราทำตามกฎหมาย หวังพิสูจน์ความจริง วันนี้ถ้าไม่สามารถหาข้อเท็จจริงได้ เมื่อถึงจุดหนึ่ง มีการบอกว่า จับคนร้ายไม่ได้ไม่กลับ ยืนยันว่า ผมพูดเพื่อให้ลูกน้องเดินหน้าหาหลักฐานให้เต็มที่ เป็นคำมั่นสัญญาให้กับลูกน้องในการทำงาน แต่ถึงวันหนึ่ง ไม่ได้ก็ต้องไม่ได้ การสืบสวนสอบสวนไม่จำเป็นต้องจำผู้ร้ายได้ทุกเรื่อง ตำรวจไม่ได้มีความกดดันซึ่งการที่จับผู้ร้ายไม่ได้เป็นเรื่องปกติ สามารถพักสอบได้ แต่ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ กมธ.ได้ตั้งข้อซักถามในประเด็น ตรวจดีเอ็นเอ ของคนในหมู่บ้านจำนวนมาก และการชันสูตรศพ ที่มีข้อมูลไม่ตรงกัน โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ อธิบายว่า คดีดังกล่าวได้เก็บดีเอ็นเอ จำนวน 115 ราย โดยได้ทำตามขั้นตอนและกฎหมาย เพื่อเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ตำรวจไม่เคยใช้คำว่าผู้ต้องสงสัย แต่ตรวจเพื่อให้คลายข้อสงสัย แต่ทุกวันนี้เมื่อเจ้าหน้าที่ไปคุยกับใคร สื่อบางแห่งก็ตามไปจ่อไมค์ถาม กลายเป็นผู้ต้องสงสัยในสังคมไป ยืนยันว่าเราเดินตามกรอบของกฎหมาย

“เรื่องผลการชันสูตรศพ สาเหตุที่ต้องชันสูตรสองครั้ง พนักงานสอบสวนได้พบญาติที่ติดใจสงสัย ว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นระบุสาเหตุการตายได้หรือไม่ ซึ่งไม่เสียหายที่เราจะฟังความเห็นมากกว่าหนึ่ง แต่คำของผู้เชี่ยวชาญต้องมีคำอธิบายประกอบด้วย โดยไม่มีใครสรุปว่า มีการล่วงละเมิด ยังไม่มีใครสรุปแบบนั้น แต่จำเป็นต้องยืนยันคำสรุปครั้งแรก โดยการชันสูตรครั้งสองอาจมีการปนเปื้อ หรือ ฉีกขาด ได้จึงจำเป็นต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติม ต้องฟังด้วยวิจารญาณ อย่าด่วนสรุป ทุกวันนี้สรุปเอาเองทั้งนั้น” พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน