เมื่อวันที่ 7 ส.ค. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้องค์กรภาคเอกชน มูลนิธิ และสมาคมต่างๆ ร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เป็นวันที่ 193 ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร โดยวันนี้มีผู้ร่วมเป็นเจ้าภาพจำนวน 44 คณะ แบ่งเป็น 4 รอบ ได้แก่ เวลา 10.00 น., 14.30 น., 17.00 น. และ 19.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นวันที่ 278 ที่มีพระราชทานพระราชานุญาตให้ประชาชน เข้ากราบสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาเข้าคิวรอกราบสักการะพระบรมศพตั้งแต่ช่วงเช้ามืด ซึ่งสำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนกลุ่มแรกเข้าทางประตูวิเศษไชยศรีในเวลา 05.00 น.

สำนักพระราชวังสรุปยอดรวมประชาชน ที่เดินทางมากราบสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 6 ส.ค. มีจำนวนทั้งสิ้น 39,540 คน รวม 277 วัน มี 9,093,521 คน และมีประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นเงิน 4,545,832.50 บาท รวม 277 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 689,928,797.01 บาท

ต่อมาเวลา 12.45 น. พลตรี(นอกราชการ) อูดี้ อดัม ปลัดกระทรวงกลาโหม รัฐอิสราเอล พร้อมคณะ เดินทางมาลงนามแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในสมุดหลวง ณ ห้องแดง ศาลาว่าการพระราชวัง ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 6-7 ส.ค.

วันเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่แผนกอาหารและขนม วิทยาลัยในวังหญิง ทำอาหารและขนมไทยโบราณมาร่วมแจกให้กับพสกนิกรที่เดินทางมากราบสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เต็นท์อาหารพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่บริเวณทางออกประตูวิมานเทเวศร์ ในพระบรมมหาราชวัง ประกอบด้วย ข้าวกับปลาร้าทรงเครื่อง ข้าวกับน้ำพริกอ่อง รวมมิตรน้ำกะทิ และขนมลืมกลืน จำนวนรวม 1,500 ชุด

สำหรับขนมลืมกลืน เป็นขนมไทยที่ทำจากแป้งถั่วเขียวหรือแป้งสลิ่ม ผสมน้ำลอยดอกไม้และน้ำตาล นำไปกวนจนใส หยอดหน้าด้วยกะทิ ส่วนประกอบของขนมมี 2 ส่วน คือ ส่วนของตัวขนมที่ทำจากแป้งถั่วเขียวและหน้าขนมที่ทำจากกะทิ รสชาติหวานหอม มันๆ เค็มๆ จากตัวกะทิ เนื้อของขนมมีลักษณะนุ่ม ทานอร่อยจนทำให้ลืมกลืนตามชื่อขนม ส่วนที่มาของชื่อ “ขนมลืมกลืน” บ้างก็ว่าเป็นขนมอร่อย หอม หวาน มัน จนผู้ที่กินอยากเคี้ยวอยู่ในปากให้นานๆ จนต้องลืมกลืน บ้างก็ว่าเป็นเพราะขนมนุ่ม ลื่น เคี้ยวและกลืนง่ายมาก จึงเรียกชื่อเช่นนั้น

นางยุพา ศรีเรือง อายุ 60 ปี ชาว ต.หนองยาว อ.เมือง จ.สระบุรี และนางรัญจวน ลัทธิประสิทธิ์ อายุ 58 ปี ชาว ต.หนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี เพื่อนร่วมงานที่เดินทางด้วยรถโดยสารจาก จ.สระบุรี เพื่อมากราบสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ร่วมกันกล่าวว่า พวกตนออกจากสระบุรีตั้งแต่ 6 โมงเช้า และมาถึงสนามหลวงประมาณ 8 โมงกว่า ก่อนได้เข้าสักการะพระบรมศพราว 11.30 น.

พวกตนเคยมาประมาณ 10 กว่าครั้งแล้ว เพราะระลึกถึงพระองค์ มาทุกครั้งก็รู้สึกซาบซึ้งและตื้นตันใจตลอด วันนี้โชคดีมากที่อากาศไม่ร้อน แต่ถึงจะร้อนหรือเหนื่อยแค่ไหน เมื่อได้ขึ้นไปอยู่เบื้องหน้าพระโกศบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ก็รู้สึกหายเป็นปลิดทิ้ง ถ้ามีโอกาสก็อยากมาอีกเรื่อยๆ จนกว่าจะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งวันนั้นคาดว่าคนจะมากันเยอะมาก พวกตนตั้งใจว่าจะมาร่วมส่งเสด็จพระองค์สู่สวรรคาลัยด้วย

นางรัญจวน กล่าวต่อว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดีมาก ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นพระองค์ทรงงานหนักมาตลอด พระองค์ทรงทำเพื่อประชาชนอย่างไม่ทรงนึกถึงพระองค์เองเลย พวกเราเดินทางมากราบสักการะพระบรมศพยังเหนื่อยไม่เท่าเศษเสี้ยวของพระองค์ ถึงจะเหนื่อย แต่ก็รู้สึกปลื้มใจมากกว่า ส่วนตัวได้น้อมนำเรื่องความพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต โดยใช้จ่ายอย่างประหยัด ใช้ของอย่างรู้คุณค่า ซึ่งที่บ้านก็ปลูกผักไว้กินเองด้วย

ด้านนางยุพา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนยังไม่เคยมีโอกาสไปร่วมถวายพระพรในพระราชพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวง รัชกาลที่ 9 แต่จะติดตามข่าวจากโทรทัศน์เป็นประจำทุกปี และจุดเทียนถวายพระพรอยู่ที่บ้าน

วันเดียวกัน ที่โรงเรียนศิลปะธนบุรี โรงสร้างฉากโขนพระราชทาน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แถลงข่าวการจัดแสดงโขนพระราชทาน ซึ่งร่วมแสดงในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 26 ต.ค. ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เปิดเผยว่า การแสดงโขนครั้งนี้ เนื่องมาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชประสงค์ให้โขนพระราชทาน ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาแสดงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงบนเวทีมหรสพ ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทุกคนทั้งคณะกรรมการ นักแสดง นักร้อง คณะทำงานทุกฝ่าย รวมทั้งนักเรียนศิลปาชีพ ต่างคือเป็นความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสร่วมในการแสดงถึงความจงรักภักดี ต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ของแต่ละคนที่มีอย่างสุดหัวใจ

นายประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้ออกแบบและจัดทำบท กล่าวว่า การแสดงครั้งนี้แตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มา โดยปกติจะจัดแสดงภายในอาคารสถานที่ แต่ครั้งนี้เป็นการแสดงกลางแจ้ง จึงจัดให้มีการแสดงรูปแบบใหม่ (โขนกึ่งฉาก) คือจะมีฉากประกอบการแสดงและมีฉากมัลติวิชั่นที่วิจิตรงดงามมาใช้ประกอบ โดยเฉพาะฉากใหญ่ๆ ที่ไม่สามารถยกเอามาใช้บนภาคสนามได้ จะใช้วิธีฉายภาพขึ้นจอ แต่จะฉากจะมีอุปกรณ์ประกอบเป็นแบบสามมิติที่วิจิตรงดงาม เช่น ฉากที่ประทับพระอิศวร หรือฉากตอนลักสีดา เชื่อว่าครั้งนี้จะไม่ทำให้ผู้ชมผิดหวังแน่นอน เพราะยังคงความงดงามทั้งรูปแบบ การร่ายรำ การเปลี่ยนฉากให้สมกับเป็นโขนพระราชทาน

นายประเมษฐ์ กล่าวด้วยว่า การแสดงแบ่งออกเป็น 3 ตอนด้วยกันในระยะเวลาการแสดง 2 ชั่วโมง ได้แก่ 1.ตอนรามาวตาร 2.ตอนสีดาหาย และพระรามได้พล 3.ตอนขับพิเภก โดยทั้ง 3 ตอนนี้ ต่างมีความหมายแฝงอยู่ทั้งสิ้น อย่างตอนแรก ตามความเชื่อว่ากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นสมมุติเทพ สืบเชื้อสายมาจากพระนารายณ์ ตอนที่สองแสดงให้เห็นถึงผู้รักษาความดีจะร่วมกันปราบอธรรมความชั่วร้ายให้เป็นผลสำเร็จ และตอนที่สาม แสดงถึงคุณธรรมและความซื่อสัตย์ผ่านตัวแสดงอย่างพิเภก แต่อย่างไรก็ตาม การแสดงโขนพระนารายณ์ เป็นการสอนถึงความดีย่อมชนะอธรรมอยู่แล้ว โดยแสดงครั้งนี้เราได้เพิ่มฉากระบำเป็นการสรรเสริญความซื่อสัตย์ของพิเภก ซึ่งอยู่ในตอนที่ 3

“การแสดงโขนครั้งนี้มีนักแสดงทั้งหมดในครั้งนี้ถึง 300 คน มากกว่าโขนพระราชทานที่จัดแสดงปกติ ใช้ผู้แสดงราว 200 คน ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการแต่งกาย เพลงดนตรี เพลงขับร้อง แต่ยังคงรักษาจารีประเพณีโบราณอย่างครบถ้วน พร้อมนำทั้งดนตรีและเพลงขับร้องโบราณมาใช้ ซึ่งบางเพลงยังไม่เคยมีการแสดงที่ไหนมาก่อน เช่น การแสดงหน้าพาทย์ ซึ่งเพลงที่ใช้ประกอบกริยาการแสดงมาตั้งแต่โบราณ มีหลายระดับ แต่ครั้งนี้เป็นการแสดงหน้าพาทย์ในระดับสูงสุดที่ใช้กับตัวละครสูงศักดิ์ โดยเราได้หลักฐานจากลายมือของพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) เจ้ากรมโขนหลวงในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้บันทึกไว้แต่ยังไม่มีการถ่ายทอด ซึ่งเราได้แกะลายมือแล้วนำมาใช้ในการแสดงครั้งนี้ นอกจากนี้ยังนำเพลง “วา” ของคุณหญิงไพทูรย์ กิตติวรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปี 2529 ที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน ก็นำมาจัดแสดงครั้งนี้ด้วย สำหรับเวลาของการแสดงนั้นยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอน แต่จะเป็นการแสดงช่วงต้นของการแสดงโขนทั้งหมดของราชการ” นายประเมษฐ์ กล่าว

ด้าน นายสุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและจัดทำฉากโขน กล่าวว่า ตนรับผิดชอบในการออกแบบและจัดทำฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากในการแสดงโขนพระราชทานมาตั้งแต่ปี 2550 โดยมีเด็กนักเรียน นักศึกษาจากวิทยาลัยเพาะช่าง และศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด ร่วมทำอย่างตั้งใจที่สุด ต่อมาจึงได้จัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบพร้อมที่จะนำมาใช้ในงานครั้งต่อๆ ไป

สำหรับการแสดงโขนในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เป็นการนำฉากที่เคยทำไว้อย่างดีที่สุดแล้วมาถ่ายรูปและฉายขึ้นวิดีทัศน์ ประกอบกับอุปกรณ์ประกอบฉาก เช่น ราชรถ และวิมาน เป็นต้น ซึ่งมีคุณค่าความงามไม่แพ้กับฉากจริง โขนพระราชทานเป็นการแสดงโขนที่ทุกคนตั้งใจทำอย่างดีที่สุดเพื่อถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ดังนั้นเราจะเห็นว่าความสมบูรณ์ ความพร้อมของฉาก ค่อนข้างเต็มร้อยสวยงาม ดังนั้น การแสดงโขนในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพไม่น่าผิดหวังแน่นอน

นายวีระธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้จัดทำเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับโขน กล่าวว่า สำหรับเครื่องแต่งกายโขน พัสตราภรณ์จะมีการดำเนินการใหม่ให้วิจิตรงดงามตามโบราณราชประเพณี ชุดสำคัญจะสร้างใหม่ทั้งหมด ได้แก่ ชุดของทศกัณฐ์ 5 ชุด และที่พิเศษมีการสร้างชุดมหาเทพ พระอิศวร พระนารายณ์ 2 ชุด ที่ไม่เคยสร้างขึ้นมาก่อน รวมถึงผ้าห่มนาง 24 ผืน 12 ชุด กษัตริย์ 2 ชุด นางกำนัล 10 ชุด เช่นเดียวกับชุดเสนายักษ์ เสนาลิง ที่ชำรุดเพราะผ่านการแสดงมานานก็สร้างใหม่เช่นกัน

นายวีระธรรม กล่าวว่า ในการทำงานแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกการทอผ้ายกทองเป็นผ้านุ่งที่วิจิตรงดงาม ใช้ช่างฝีมือของศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมังและศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค อีกทั้งได้กลุ่มศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง ร่วมทอผ้ายกทองงดงามเท่าผ้ายกของราชสำนัก

ส่วนงานปักเครื่องโขน ตั้งแต่แขนเสื้อ อินธนู กรองคอ สนับเพลา รัดเอว มีช่างฝีมือของศิลปาชีพจำนวน 76 คน จากทั่วประเทศเข้ามาดำเนินการ ได้แก่ ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง ศูนย์ศิลปาชีพสวนจิตรลดา ศูนย์ศิลปาชีพหนองลาด จ.สิงห์บุรี อีกทั้งยังมีกลุ่มดอนคำเสนา จ.สกลนคร กลุ่มกุดนาขาม จ.สกลนคร กลุ่มสานแว้ จ.สกลนคร กลุ่มอุทุมพรพิสัย จ.ศรีษะเกษ กลุ่มกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี กลุ่มเพชรบุรี ศูนย์ศิลปาชีพสวนผึ้ง

“เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับที่จัดสร้างขึ้นใหม่ ได้สืบทอดจากเครื่องภูษาพัสตราภรณ์ ถนิมพิมพาภรณ์อันเป็นเครื่องประดับลงยาที่เคยมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การจัดสร้างใหม่ใช้วัสดุอย่างดี มีค่า ขณะนี้เครื่องแต่งกายโขนทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ววิจิตรงดงามเป็นงานที่ประณีตยิ่งขึ้น เพราะสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพมีทักษะและความชำนาญมากขึ้น” นายวีระธรรม กล่าว

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน