ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ เผยข้อมูลใหม่ คนกินยาเพร็พป้องกัน “เอชไอวี” ตรวจเลือดทุก 3 เดือนไม่ติดเชื้อบริจาคเลือดได้ ห่วงกระแสข่าวทำให้เกิดการตีตราคนกินเพร็พ

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงการบริจาคเลือดของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง ว่า ธนาคารเลือดทุกแห่งต้องเอาเลือดที่รับบริจาคไปตรวจหาเชื้อเอชไอวีอย่างดีที่สุด เนื่องจากไม่ทราบว่า คนไหนติดหรือไม่ติดเชื้อ เพื่อให้มั่นใจว่าเลือดทุกขวดมีความปลอดภัยถึงให้คนไข้ ส่วนคนที่ติดเชื้อเอชไอวีแล้วกินยาต้านไวรัสจะได้รับการตรวจเชื้อทุกปี ซึ่งคนที่กินยามานานกว่า 6 เดือนขึ้นไป หากเจาะเลือดตรวจจะพบว่า ปริมาณไวรัสน้อยจนหาไม่เจอ แต่หากมาบริจาคเลือดก็จะตรวจเจออยู่ดีว่าติดเชื้อไวรัส เนื่องจากวิธีการตรวจต่างกัน

“การตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัส เป็นการตรวจ HIV RNA ว่าเชื้อมีมากน้อยเพียงใด แต่คนที่กินยาต้านไวรัสเมื่อตรวจแล้วก็จะน้อยจนไม่เจอ และไม่ทำให้คนอื่นติดเชื้อจากเขา แต่การบริจาคเลือดจะเป็นการแอนติบอดี หาโปรตีน หรือรอยประทับ รอยสัญญาณที่เคยมีเชื้อเข้าไป ก็จะมีแอนติบอดีเกิดขึ้น แม้เชื้อในเลือดจะน้อยมากก็ตาม ทำให้ทราบว่าติดเชื้อเอชไอวี” ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์กล่าว

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า ส่วนคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงและกินยาเพร็พ (PrEP) เพื่อป้องกันก่อนการติดเชื้อนั้น จะมีการไปตรวจเลือดเป็นประจำทุก 3 เดือนว่าติดหรือไม่ติดเชื้ออย่างไร ซึ่งองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US FDA) เพิ่งเปลี่ยนกฎใหม่เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับแนวทางการบริจาคเลือด (Blood Donation Guideline) เนื่องจากเลือดไม่ค่อยเพียงพอในโลกนี้ ดังนั้น ใครก็ตามไม่ว่าชายหรือหญิง หากกินยาเพร็พอยู่และไปตรวจเลือดเป็นประจำทุก 3 เดือนว่า ไม่ติดเชื้อ ก็ให้คนที่กินยาเพร็พสามารถบริจาคเลือดได้ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความรู้ใหม่ ส่วนในประเทศไทยก็ขึ้นอยู่กับว่า อย.ไทยจะเดินตามหรือไม่

“การที่มีข่าวคนที่กินยาเพร็พอยู่ไปบริจาคเลือด ผมไม่ทราบว่าคนที่เผยแพร่ข้อมูลอย่างนั้นต้องการจะพูดอะไร อาจจะมี 2 ประเด็น คือ เจตนาดี เนื่องจากมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าตามแนวทางของ อย.สหรัฐฯ ให้สามารถบริจาคได้หากกินยาเพร็พแล้วตรวจทุก 3 เดือนว่าไม่ติดเชื้อ หรืออาจมีเจตนาร้าย เป็นฝ่ายต่อต้านการกินยาเพร็พ จงใจเผยแพร่ให้คนรังเกียจ หรือเกิดการตีตราหรือไม่

เพราะจริงๆ คนที่รับประทานยาเพร็พอยู่ ผลการตรวจทุก 3 เดือนไม่ได้ติดเชื้อ แล้วมาบริจาคเลือด ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาพูดหรือประชาสัมพันธ์ก็ได้ เนื่องจากอาจถูกสังคมดูถูกและเกิดการตีตราได้ หากเป็นเช่นนี้ก็อาจกระทบกับโครงการยาเพร็พฟรีที่มีในปัจจุบันก็ได้” ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์กล่าว

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์กล่าวว่า ส่วนยาเป็ป (PEP) เป็นยาที่กินทันทีเมื่อไปมีความเสี่ยงมา ก็จะกินเดือนเดียวแล้วไปตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่ หากไม่ติดเชื้อและทราบว่าตนเองจะยังมีพฤติกรรมเสี่ยง ก็สามารถมากินยาเพร็พต่อได้เพื่อป้องกันต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน