สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ชวนดูดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ เคียงดวงจันทร์ ที่ปรากฏบนท้องฟ้าทางทิศใต้หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า

คืนนี้ 25 กันยายน 2563 ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ เคียงดวงจันทร์ข้างขึ้น 9 ค่ำ ปรากฏบนท้องฟ้าทางทิศใต้หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลา 18:30 น. เป็นต้นไป หากฟ้าใสไร้ฝน สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ถ้าลองสังเกตท้องฟ้าในช่วงนี้ จะเห็นดาวพฤหัสบดี กับ ดาวเสาร์ ค่อยๆ ขยับเข้าใกล้กันเรื่อยๆ ไปจนถึงวันที่ 20-23 ธันวาคม 2563 ดาวเคราะห์ทั้งสองปรากฏใกล้กันมากที่สุด หากดูด้วยตาเปล่าจะมองเห็นเป็นแสงสว่างจุดเดียว เสมือนเป็นดาวดวงเดียวกัน สามารถสังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณระหว่างกลุ่มดาวคนยิงธนูและกลุ่มดาวแพะทะเล

และหากเมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 200 เท่า จะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองปรากฏอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน ระยะห่างเพียง 0.1 องศาเท่านั้นซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่คนในยุคนี้จะมีโอกาสได้เห็นดาวเคราะห์ใกล้กันมากขนาดนี้ เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยากมาก และถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์แบบพิเศษส่งท้ายปีนี้

ปรากฏการณ์ที่ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์เข้าใกล้กันมาก จนมองเห็นราวกับว่าเป็นดาวดวงเดียวกัน เรียกว่า “The Great Conjunction” ซึ่งใกล้กันที่สุดในรอบ 397 ปี หากย้อนไปปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2166 สมัยแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม สมัยอยุธยา และจะเกิดขึ้นอีกใน 80 ปีข้างหน้า แต่ดาวสองดวงจะไม่ทับกันสนิทจนเป็นดวงเดียวกัน

คำว่า Conjunction จะหมายถึงการที่ดาว 2 ดวงขึ้นไปทำมุม 0 องศาต่อกัน หรือก็คืออยู่ในตำแหน่งเดียวกัน และหากเป็นดาวเคราะห์ดวงใหญ่ ที่โคจรช้า มาใกล้กันจึงเรียกว่า Great Conjunction ซึ่งดาวพฤหัสบดีนั้นเป็นดาวเคราะห์ดวงใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ทั้งยังใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ถึง 11.86 ปีบนโลก ส่วนดาวเสาร์นั้นมีขนาดใหญ่รองลงมาจากดาวพฤหัสบดี และใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ 29.46 ปีของโลก

ที่มา : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน