จากเหตุสลด นายสุริยา แสงพงค์ ผอ.องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ถูก นายภูวดล สุวรรณะ สัตวแพทย์หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ วิจัยและสุขภาพสัตว์ ประจำสวนสัตว์สงขลา ยิงเสียชีวิต ต่อมานายนายภูวดล ยิงตัวตายตาม ในเบื้องต้นตำรวจคาดว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากขบวนการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

เปิดไทม์ไลน์คดีเลือด

วันที่ 1 ต.ค. 63 นายเฉลิมวุฒิ เกษตรสมบูรณ์ ผอ.สวนสัตว์สงขลา เปิดเผยว่า
เก้งเผือกชื่อ “ภูมิ” หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในเดือน กุมภาพันธ์ 63 และ ต่อมาเก้งเผือก “ภาค” ได้หายตัวไปจากส่วนจัดแสดง ในเดือนกันยายน 63 โดยเบื้องต้นเชื่อว่า ลูกเก้งเผือกถูกงูเหลือมกิน (ไม่ระบุแน่ชัดว่าพูดถึงเก้งเผือกทั้งสองตัวหรือไม่) โดยมีหลักฐานเป็นรูปถ่ายและการชี้แจงจากสัตวแพทย์

วันที่ 2 ต.ค. 63 ในการดำเนินการตรวจสอบเรื่องเก้งเผือกสูญหาย นายสุริยา แสงพงค์ ผอ.องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ได้ลงนามให้มีคำสั่งสับเปลี่ยนตำแหน่ง และให้ ผอ.สวนสัตว์สงขลา พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีก 3 คน เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่ส่วนกลาง

โดย นายภูวดล สุวรรณะ สัตวแพทย์หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ วิจัยและสุขภาพสัตว์ ประจำสวนสัตว์สงขลา เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกสอบสวนและสั่งย้าย ทั้งนี้ นายสุริยา และ นายภูวดล ก็รู้จักกันมาก่อน เนื่องจากเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่โรงเรียนมหาวชิราวุธสงขลา

วันที่ 3 ต.ค.63 นายสุริยา ได้เดินทางไปยังสวนสัตว์สงขลา เพื่อติดตามความคืบหน้าการสอบสวนด้วยตนเอง ในขณะที่นายสุริยาพูดคุยกับนายเฉลิมวุฒิอยู่ในห้องนั้น นายภูวดลก็เดินเข้ามาในห้อง และขอให้นายเฉลิมวุฒิออกไปจากห้อง เพราะต้องการคุยกับนายสุริยาเป็นการส่วนตัว จากนั้นนายภูวดลใช้ปืนยิงนายสุริยา 17 นัดจนเสียชีวิต ก่อนหลบหนีไป

ต่อมานายภูวดลยิงตัวเองตายในบ้านพัก ห่างจากจุดเกิดเหตุ 200 เมตร ทิ้งจดหมายสั่งเสียถึงญาติพี่น้อง

การสอบสวนเบื้องต้น ญาติพี่น้องคาดว่านายภูวดลเครียดที่ถูกสั่งย้าย ขณะที่ตำรวจตั้งประเด็นการสังหารนายสุริยาว่าอาจเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของลูกเก้งเผือก และอาจเชื่อมโยงกับขบวนการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

ที่มาของเก้งเผือกพระราชทาน

โดยทั่วไปแล้ว เก้งเผือก ถือเป็นพันธุ์ทาง ซึ่งอาจเกิดจากพ่อแม่เก้งสีปกติก็ได้ ทำให้มีลักษณะพิเศษ คือมีลำตัวเป็นสีขาวปลอด ตาสีแดง จมูกสีชมพู ลำตัวเท่าเก้งปกติ

ปี 2545 ชาวบ้านจับเก้งเผือกตัวผู้ตัวหนึ่งได้จากป่าใน อ.แม่สอด จ.ตาก ต่อมาได้นำไปถวายให้กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเก้งเผือกตัวดังกล่าวได้รับการตั้งชื่อว่า “เพชร” และทรงพระราชทานเพชรให้กับสวนสัตว์ดุสิต กรุงเทพฯ เพื่อนำไปเลี้ยงและแพร่พันธุ์ต่อ

ต่อมา “เพชร” ขยายพันธุ์ โดยผสมกับเก้งปกติสีน้ำตาล มีลูกออกมาเป็นทั้งสีน้ำตาลปกติและเก้งเผือก ซึ่งหากเป็นเก้งเผือก ก็ถูกพระราชทานให้สวนสัตว์ต่าง ๆ ในประเทศไทย

1 ในลูกของเพชร เป็นเก้งเผือกตัวผู้ที่มีชื่อว่า “เทียน” ซึ่งปัจจุบันเทียนตายไปแล้ว ถูกพระราชทานให้สวนสัตว์สงขลา เทียนได้ขยายพันธุ์ และมีลูกเป็นเก้งเผือกเพศผู้ ชื่อ “มูมู่” ซึ่งได้รับการขยายพันธุ์ต่อ จนมีลูกเก้งเผือก ชื่อ “ภูมิ” กับ “ภาค” (สูญหายทั้ง 2 ตัว) ทำให้ปัจจุบันเหลือเพียง “มูมู่” ในสวนสัตว์สงขลา

คาดอาจโยงค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

หลังเกิดคดีสังหารโหด ปรากฏว่ามีการเรียกร้องให้รื้อคดีการสูญหายของเก้งเผือกชื่อ”ภูมิ”กับ”ภาค” เพราะเป็นสัตว์หายากเสี่ยงสูญพันธุ์ และเป็นลูกของเก้งเผือกพระราชทาน และกาจเป็นการฆ่าตัดตอนไม่ให้สาวถึงขบวนการค้าสัตว์ป่า

ขณะที่นายอรรถพล ศรีเหรัญ ผอ.สวนสัตวเปิดเขาเขียว กล่าวว่า แม้ว่าเก้งเผือกจะมีลักษณะที่พิเศษ แต่ตลอดชีวิตการทำงาน ไม่เคยได้ยินว่าเก้งเผือกเป็นที่ต้องการของขบวนการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย เพราะเก้งเผือกไม่เป็นที่นิยม

หลังเกิดเหตุสลด นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามเหตุการณ์ พร้อมเปิดเผยว่า นายสุริยา ผู้ตายเพิ่งไปกินกาแฟที่บ้านในเช้าในวันเกิดเหตุ และเล่าเรื่องคดีเก้งพระราชทานสูญหายให้ทราบ โดยนายสุริยาบอกว่าจะแก้ปัญหาสวนสัตว์สงขลาเรื่องการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย และนายสุริยาตั้งใจจะพัฒนาสวนสัตว์สงขลาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัด เพราะสงขลาเป็นบ้านเกิดของเขา

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน