จากกระแสการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของกลุ่มราษฏรในประเทศไทย ถือว่าเป็นที่จับตามองของนานาประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งเพื่อนบ้านอย่าง “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว”

เมื่อคืนวันที่ 19 ต.ค. ได้มีการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวลาว นั้นเคลื่อนไหวผ่านแฮชแท็ก #ຖ້າການເມືອງລາວດີ (ถ้าการเมืองลาวดี) #ຖ້າເປັນປະຊາທິປະໄຕ (ถ้าเป็นประชาธิปไตย) #ໃຫ້ມັນຈົບທີ່ຍຸກເຮົາ (ให้มันจบที่ยุคเรา) #StandWithLaos เป็นจำนวนมาก

โดยชาวลาวได้ทวิตข้อความเป็นภาษาลาว ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อสื่อสารกับเพื่อนบ้านอย่างไทย และประเทศอื่นๆ ให้รับรู้ถึงปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่เช่นเดียวกัน

เนื้อหาของทวิตต่างๆ ส่วนใหญ่จะบอกเล่าถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นภายในประเทศไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา ระบบสาธารณูปโภค ป่าไม้ การทุจริต เขื่อนที่ไม่ชอบธรรม

และเรื่องราวที่ทางรัฐบาลลาวเปิดประเทศให้จีนเข้ามาลงทุนทำธุรกิจ และกิจการต่างๆ ภายในทั้งยังมีการพูดถึงจีนที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ทำให้คนลาวต้องไปขอเช่าพื้นที่จากนายทุนจีนอีกทอดหนึ่ง

แต่เรื่องราวที่ได้รับความนิยม คนสนใจเป็นพิเศษ และถูกพูดถึงอย่างเป็นวงกว้าง คือเรื่องที่ชาวลาวนั้นไม่สามารถเรียกร้องสิทธิของรัฐบาลตนได้เลย หากมีการพูดถึง ก็จะโดนจับดำเนินคดี ที่หนักสุดคือการโดนอุ้มหาย

ชาวลาวส่วนใหญ่เริ่มมีความมั่นใจที่จะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมั่นขึ้น สืบเนื่องมาจากการเห็นความเคลื่อนไหวของคนไทยต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริง

“เรากำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริงในลาว เรากำลังต่อสู้เพื่ออนาคตของคนรุ่นใหม่ และฉันหวังเป็นอย่างมากว่ารัฐบาลจะรับฟังเสียงของเรา #ถ้าการเมืองลาวดี #ถ้าเป็นประชาธิปไตย #ขอให้มันจบลงในยุคของเรา”

มีชาวไทยบางส่วนเข้าไปสนับสนุน พร้อมให้กำลังใจชาวลาว ทำให้ชาวลาวต่างเข้ามาขอบคุณ และพร้อมที่จะสนับสนุนคนไทยเช่นเดียวกัน “พวกคุณช่างกล้าหาญที่ออกมาจากพื้นที่ปลอดภัย และตามหาประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ขอให้ปลอดภัย เป็นห่วงนะ”

รวมถึงนักคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนชาวลาวด้วยเช่นกัน อย่าง เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ก็ได้ทวิตข้อความเป็นภาษาไทย เรื่องที่เขาได้ออกมารณรงค์ให้รัฐบาลลาวปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวชาวลาว และทวิตข้อความเป็นภาษาอังกฤษใช้เชิงสนับสนุนคนลาว

“ผมรู้สึกดีใจจริง ๆ ที่ได้เห็นว่าตอนนี้คนลาวใช้ทวิตเตอร์ และใช้แฮชแท็ก #ຖ້າການເມືອງລາວດີ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคม และระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในประเทศของเขา หลังจากเหตุการประท้วงของชาวไทย”

และก็มีผู้คนมากมายเข้ามาคอมเมนท์ว่าอยากเห็น อาเซียนสปริง (ASEAN Spring) หรือ คลื่นการปฏิวัติในอาเซียน ที่เล่นคำมาจาก อาหรับสปริง คลื่นปฏิวัติการเดินขบวน การประท้วงและสงครามซึ่งเกิดขึ้นในโลกอาหรับ

ข้อมูลจาก freedomhouse ได้ให้คะแนนความมีเสรีภาพในลาวอยู่ที่ 14 จาก 100 คะแนน (ไม่มีเสรีภาพ) ได้ระบุข้อมูลว่า ประเทศลาวนั้นมีระบบเป็นรัฐพรรคเดียว โดยมีประมุขคือ นายบุนยัง วอละจิด ดำรงตำแหน่งประธานประเทศ, นายพันคำ วิพาวัน เป็นรองประธานประเทศ, นางปานี ยาท่อตู้ เป็นประธานสภาแห่งชาติ และนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี

ซึ่งพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ปกครองในทุกด้านของการเมือง และจำกัดการเข้าถึงเสรีภาพของพลเมืองลาวอย่างรุนแรง ไม่มีการต่อต้าน ไม่มีประชาสังคม หรือองค์กรอิสระอย่างแท้จริงทั้งนี้ปัจจุบันลาวมีประชากรประมาณ 7 ล้านคน

ทั้งการรายงานข่าวภายในประเทศก็ถูกจำกัด ด้วยความห่างไกลของบางพื้นที่ รวมทั้งกดขี่สื่อภายในประเทศ ด้วยความไม่โปร่งใสของระบอบการปกครอง และการพัฒนาเศรษฐกิจได้สร้างความขัดแย้งในประเด็นเรื่องที่ดิน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตก็ส่งผลดีบ้างนิดหน่อย

ที่ผ่านมาทางการลาวยังคงมีความพยายามขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริต โดยมีรายงานว่าทางการได้สั่งลงโทษเจ้าหน้าที่ และพนักงานของรัฐ แต่ก็มีเพียงไม่กี่คนที่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาล


ทั้งในเดือนพฤศจิกายน 2018 ทางการได้จับกุมนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 8 คนที่วางแผนการประท้วงในเวียงจันทน์ และมีนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและผู้ประท้วงหายตัวไปในระหว่างปี ในเดือนสิงหาคม 2018 นักเคลื่อนไหวชาวลาวหายตัวไป ในกรุงเทพฯ ขณะที่ประท้วงหน้าสถานทูตลาว

ประเด็นดังกล่าวเรื่องการเมืองในหลายประเทศนั้นน่าจับตามองเป็นอย่างมากเพราะหลายประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว และไทย ต่างออกมาเรียกร้องสิทธิทางการเมืองเช่นกัน

และจากกระแส #ຖ້າການເມືອງລາວດີ ทำให้เห็นว่าสื่อไทยมีอิทธิพลกับสังคมลาวพอสมควร โดยเฉพาะกับเยาวชน ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ทำให้เยาวชนในประเทศลาวตื่นตัวมากขึ้นกล้าที่จะตั้งคำถามกับสิ่งรอบข้าง และระบอบการปกครองที่ไม่เป็นธรรม

#ຖ້າການເມືອງລາວດີ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน