กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รับมอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่น จาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด หลังจากประสบผลสำเร็จในการจัดวางเป็นปะการังเทียมบริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เดินหน้าภารกิจเพื่อการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย โดยมุ่งหวังประโยชน์ด้านการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ด้านการท่องเที่ยวและการประมง รวมถึงด้านการศึกษาทางวิชาการเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้ประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การรับมอบขาแท่นในครั้งนี้ อยู่ภายใต้ โครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามที่คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ มีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดทำโครงการฯ เมื่อปี 2561 และทั้งสามฝ่ายได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม โดยเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เริ่มตั้งแต่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่ให้ความเห็นชอบในการรื้อถอนและโอนย้ายขาแท่นมาจัดวางเป็นปะการังเทียม และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง ซึ่งอนุมัติอนุญาตให้ดำเนินการจัดวางปะการังเทียม ตลอดจนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งได้ให้ความสนใจและติดตามการทำงานของโครงการอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังได้ผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ และผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล โดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงมีผลการศึกษายืนยันถึงความเหมาะสมของวัสดุ จากการทดลองนำโครงสร้างเหล็กจำลองชนิดเดียวกับขาแท่นไปวางบริเวณอ่าวโฉลกหลำของเกาะพะงัน ซึ่งประสบผลสำเร็จในการจัดวางเป็นปะการังเทียม ทั้งด้านการเข้าอาศัยของสัตว์ทะเล รวมถึงการใช้ประโยชน์ด้านการประมง และการท่องเที่ยวดำน้ำ ตลอดจนได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่แล้ว

โดย ทช. ได้ติดตามการดำเนินงานของเชฟรอนในการจัดวางขาแท่นแรกเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 และได้วางขาแท่นสุดท้ายคือขาแท่นที่ 7 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้รับการตรวจสอบและรับรองจากผู้เชี่ยวชาญการสำรวจทางทะเลเป็นที่เรียบร้อย และเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ได้จัดพิธีส่งมอบให้ ทช. เป็นผู้ดูแลพื้นที่โครงการ

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่า “การนำขาแท่นมาจัดวางเป็นปะการังเทียมนับเป็นการใช้วัสดุที่เลิกใช้งานแล้วให้เกิดคุณค่าสูงสุด โดยหลังจากนี้ ทช. จะกำหนดพื้นที่แหล่งกองปะการังเทียมของโครงการฯ เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine protected area) โดยอย่างน้อยในระยะ 1 ปีแรก คงจะห้ามไม่ให้มีการทำกิจกรรมใดๆ ในพื้นที่ที่มีการจัดวาง เพื่อให้สิ่งเกาะติดบนพื้นผิวของขาแท่นมีเวลาในการฟื้นตัว จากนั้น ทช. จะกำหนดมาตรการการบริหารจัดการพื้นที่จัดวางขาแท่นดังกล่าว รวมทั้งแนวทางการติดตามและศึกษาผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบจากการใช้ขาแท่นปิโตรเลียมเป็นปะการังเทียมในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศทางทะเล เพื่อการตัดสินใจในระดับนโยบาย การต่อยอดโครงการในอนาคต และการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ สุดท้าย ตนอยากขอบคุณบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะหนึ่งในบริษัทชั้นนำในด้านการผลิตและสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญและความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ดีมาโดยตลอด และตนเชื่อว่าความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน จะยังเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นในการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศให้คงความสมบูรณ์ ยั่งยืน เช่นนี้ต่อไป”

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เผยว่า “เชฟรอนประเทศไทยได้สนับสนุนโครงการนี้ ด้วยการส่งมอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วให้กับ ทช. ไปจัดวางเป็นปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย รวมถึงจัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงการฯ ทั้งด้านการจัดวางและด้านการศึกษา ตลอดจนจัดหาผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลีย มาถ่ายทอดความรู้และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้สนับสนุนงานศึกษาวิจัย ซึ่งเชื่อมั่นว่าโครงการศึกษานำร่องนี้จะสร้างองค์ความรู้ที่มีค่าด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นแนวทางที่มีการดำเนินงานมาแล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยตลอดระยะการดำเนินงาน เชฟรอนได้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนดกฎหมายและเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในระดับสากล”

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า “ในนามตัวแทนของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัทผู้ร่วมทุน ประกอบด้วย บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ผมต้องขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่สนับสนุนให้โครงการฯ เกิดขึ้นได้ เริ่มจากหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในการอนุมัติอนุญาต ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า และกรมประมง รวมถึงศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่ติดตามการดำเนินงาน และความร่วมมือจากภาควิชาการ มีสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการทางทะเล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนภาคสังคมซึ่งคือประชาชนในพื้นที่ โครงการนี้จึงถือได้ว่าเป็นการบูรณาการความร่วมมือเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับท้องทะเลไทยอย่างแท้จริง”

ด้านความร่วมมือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยอีกว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะทำการศึกษาติดตามและประเมินผลโครงการเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งเรื่องระบบนิเวศทางทะเล โครงสร้างและการเคลื่อนตัว รวมถึงประโยชน์กับกลุ่มผู้ใช้ต่าง ๆ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจากประเทศออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตลอดจนกำกับงานร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผลการศึกษามีความโปร่งใสและเป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการในระดับสากล ก่อนนำเสนอผลงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการพิจารณาถึงประโยชน์ที่ได้จากแหล่งปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียมนี้ ในมิติเศรษฐกิจ สังคม ระบบนิเวศทางทะเล เปรียบเทียบกับการรื้อถอนเพื่อไปบริหารจัดการบนฝั่ง ก่อนนำไปกำหนดเป็นนโยบายต่อไป”


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน